คอสะพานพระราม 6 ทรุด รถไฟสายใต้ป่วน วิ่งช่วงชุมทางบางซื่อ-บางบำหรุไม่ได้ เร่งขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์เข้าหัวลำโพง ขบวนล่าช้า 1-3 ชม. ปรับใช้ต้นทางที่บางบำหรุแทน
รายงานข่าวแจ้งว่า เวลา 10.30 น. วันนี้ (24 ม.ค. 2565) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยนายสถานีบางซื่อ ได้รับแจ้งว่าพบโครงสร้างกลางสะพานพระราม 6 ทรุดตัว ขบวนรถไฟไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ต้องปิดทางทั้งขาขึ้น และขาล่อง ระหว่างสถานีชุมทางบางซื่อ-บางบำหรุ ตั้งแต่เวลา 10.30 น.เป็นต้นไป
รฟท.ต้องทำการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์แทน ซึ่งมีผลกระทบต่อขบวนรถด่วนที่ 84 (ตรัง-กรุงเทพฯ) กำหนดถึงสถานีบางบำหรุ เวลา 10.40 น. ล่าช้า 76 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์
ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 32 (ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพฯ) ถึงบางบำหรุเวลา 12.00 น. ล่าช้า 72 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์
ขบวนรถเร็วที่ 172 (สุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ) บางบำหรุ ถึงเวลา 13.22 น. ล่าช้า 169 นาที ขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์
สำหรับขบวนรถไฟขาออกนั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้ต้นทางที่สถานีบางบำหรุแทน โดยทำการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)-สามเสน-ชุมทางบางซื่อ โดยมี 3 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถเร็วที่ 171 (กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก), ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ที่ 31 (กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่) และขบวนรถด่วนที่ 83 (กรุงเทพฯ-ตรัง) มีผู้โดยสารรวมกันประมาณ 300 คน โดย รฟท.ได้ประสานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารจำนวน 6 คัน เพื่อส่งผู้โดยสารจากสถานีกรุงเทพไปสถานีบางบำหรุ
ปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายใต้ที่มีการเปิดให้บริการขบวนรถเชิงพาณิชย์ (ระยะไกล) ต้นทางที่สถานีกรุงเทพ มีจำนวน 8 ขบวน (ไป/กลับ รวม 16 ขบวน) ได้แก่ สุราษฎร์ธานี, สุไหงโก-ลก, ชุมทางหาดใหญ่, ตรัง, น้ำตก, สวนสนประดิพันธ์, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี