xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าภูหลวงแจ้งความดำเนินคดีชาวบ้านวางกับดักช้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จนท.หน่วยพิทักษ์ป่าภูหอ จ.เลย เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรภูหลวงเพื่อดำเนินคดีชาวบ้านผู้ที่ทำกับดักช้าง มาวางไว้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง พบการวางกับดักช้างลักษณะนี้มีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกรณีในโลกโซเชียลฯ มีการแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กเพจ "ReReef" ซึ่งโพสต์ภาพกับดักช้างที่ทำจากท่อนไม้ตอกด้วยตะปูให้ปลายด้ามโผล่ขึ้นมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อ.ภูหลวง จ.เลย พร้อมข้อความระบุว่า "โหดร้ายมากๆ กับดักช้างนับร้อยอันรอบบ่อน้ำทั่วด่านช้างติดแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่เจ้าหน้าที่เก็บกู้ได้ ไม่น่าเชื่อว่าคนไทยจะทำแบบนี้กับช้างได้ลงคอ เข้าใจว่าคงไม่พอใจที่ช้างเดินเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมของตัวเองและอาจสร้างความเสียหาย แต่วิธีนี้ไม่ช่วยอะไรเลย นอกจากทำให้ช้างบาดเจ็บ และอาจติดเชื้อ อักเสบถึงเสียชีวิตได้ ตะปูหลายอันก็ขึ้นสนิมเขรอะ เป็นบาดทะยักได้ง่ายๆ ลองนึกถึงช้างที่ต้องเดินป่าไปพร้อมกับแผลตะปูยักษ์ตำตีน เจ้าหน้าที่รายงานว่าบางอันช้างเหยียบไปแล้วด้วย เอาใจช่วยให้ช้างปลอดภัย จะอย่างไรก็ต้องหาทางให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ปลอดภัยทั้งคนและช้าง #HumanElephantConflict #ภูหลวง"

อ่านข่าวประกอบ - กับดักสัตว์ป่ามีเพียบ แร้วยันกับดักช้าง กรมอุทยานฯ วอนหยุดทำลายชีวิต

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 ม.ค. มีรายงานว่า "นายวันชัย สิมมาเศียร" หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มอบอำนาจให้ "นายเนียต บุตะทา" พนักงานพิทักษ์ป่า ส.3 หน่วยพิทักษ์ป่าภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย เข้าแจ้งความที่ สภ.ภูหลวง จ.เลย แจ้งความกล่าวโทษผู้กระทำความผิดในการลักลอบวางกับดักช้างภายในพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบหาตัวผู้กระทำผิด

โดยข้อกล่าวหาที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการแจ้งความในวันนี้ประกอบด้วย ความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ มาตรา 89 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 12 ถ้ากระทำต่อสัตว์ป่าคุ้มครองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559) มาตรา 26/4 ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลายหรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น