เรื่องราวของความรักที่เหมือนเทพนิยาย ระหว่างสาวชาวออสเตรียกับนักศึกษาวิศวกรเหมืองแร่ชาวไทยใหญ่ ซึ่งไปพบรักกันในอเมริกาและแต่งงานกันที่นั่น โดยฝ่ายสาวก็คิดว่าสามีเป็นวิศกรธรรมดา จนเมื่อกลับมาถึงท่าเรือเมืองร่างกุ้ง รู้สึกแปลกใจที่มีผู้คนมาต้อนรับกันล้นหลามและโปรยข้าวตอกดอกไม้ สามีจึงบอกความจริงที่ยังบอกเธอไม่หมดให้ทราบ
อิงเง่ เซอร์เจน อดีตมหาเทวีแห่งเมืองสีป้อในรัฐฉาน ได้บันทึกเรื่องราวของเธอเป็นหนังสือชื่อ “Twilight Over Burma – My Life as a Shan Princess” จัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยฮาวายเมื่อปี ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นเรื่องดังทั่วโลก ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ และแปลเป็นภาษาไทยโดย มนันยา ในชื่อ “สิ้นแสงฉาน” ได้กล่าวถึงตอนที่อิงเง่ เซอร์เจนมาถึงท่าเรือเมืองร่างกุ้ง เห็นผ้าขาวขนาดยาวเขียนคำว่า “ยินดีต้อนรับกลับบ้าน” และมีหญิงสาวหลายคนโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงบนพื้นน้ำ จึงถามสามีอย่างพิศวงว่า
“แปลกจริง เขามีอะไรกันหรือคะ มีคนสำคัญมาในเรือเราด้วยเหรอนี่”
“ผมมีอะไรจะบอกคุณอย่างหนึ่งนะที่รัก” สามีตอบ “ผมยังไม่ได้บอกคุณเกี่ยวกับตัวผมอย่างหมดจดครบถ้วน”
อิงเง่เริ่มใจไม่ดี คิดว่าเขาคงมีภรรยาอยู่ที่พม่า และยิ่งงงหนักขึ้นเมื่อสามีบอกว่า
“พวกที่เห็นนั่นเขามาต้อนรับเราน่ะ”
“ตลกนี่ เขายกขบวนมาต้อนรับวิศกรเหมืองแร่ทำไมกันคะ”
“ผมไม่ได้เป็นแค่วิศวกรเหมืองแร่ธรรมดาๆ แต่เป็นสูงกกว่านั้นมาก” เขานิ่งไปนิดหนึ่ง “ผมคือเจ้าฟ้าหลวง หมายความว่าเป็นเจ้าซึ่งปกครองนครรัฐแห่งหนึ่งในรัฐฉาน”
สามีของเธอคือ เจ้าจ่าแสง เจ้าชายแห่งเมืองสีป้อ ซึ่งไปศึกษาวิชาวิศวกรเหมืองแร่ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา และได้พบรักกับอิงเง่ ซึ่งตอนนั้นยังมีนามเดิมว่า อิงเง่ เอเบอร์ฮาร์ด ได้รับทุนฟูลไบรท์มาจากประเทศออสเตรีย และแต่งงานกันในปี ๒๔๙๖ หลังจากนั้นจึงเดินทางมารัฐฉาน ทั้งสองได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองอย่างอบอุ่น และอิงเง่ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าสุจันทรีมหาเทวี
ทั้งสองพระองค์เป็นเจ้าฟ้านักพัฒนา อิงเง่เรียนภาษาไทยใหญ่ และทำงานพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุข มีบุตรสาวด้วยกัน ๒ คน
จนในปี ๒๕๐๕ นายพลเนวินได้ยึดอำนาจประเทศพม่า และจับกุมคุมขังเจ้าฟ้าเมืองต่างๆ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบเจ้าฟ้าให้หมดไป เจ้าจ่าส่ง พี่ชายของเจ้าจ่าแสง ถูกจับไปก่อนจากหอหลวงที่เมืองตองยี เจ้าจ่าแสงจึงตัดสินใจเดินทางไปที่สนามบินเมืองตองยี แต่ถูกจับระหว่างทาง อิงเง่กับลูกถูกกักตัวอยู่ในบ้าน และได้รับจดหมายลับข้อความสั้นๆจากเจ้าจ่าแสงว่าถูกคุมตัวไว้ในกระท่อมหลังหนึ่ง จากนั้นก็ไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย สร้างความเจ็บปวดให้แก่มหาเทวีและลูก รวมทั้งชาวไทยใหญ่ซึ่งรักเคารพเจ้าฟ้าของเขามาก จนเป็นปัญหาเรื่องเชื้อชาติของพม่ามาจนถึงปัจจุบัน
ในปี ๒๕๐๗ อิงเง่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากบ้านได้ เธอจึงไปเมืองร่างกุ้ง และขอความช่วยเหลือจากสถานทูตออสเตรียให้ส่งเธอพร้อมลูกกลับบ้าน เพื่อความปลอดภัยของลูกสาวทั้งสอง คือ ‘เจ้าเกนรี’ และ ‘เจ้ามายารี
อดีตมหาเทีวีสีป้ออยู่ในออสเตรียได้ ๒ ปี ก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองโคโลราโดที่เธอพบรักกับเจ้าชาย และทุกปีมหาเทวีและธิดาทั้ง ๒ ได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลพม่า ทั้งรัฐบาลนายพลเนวินและรัฐบาลนายพลเต็งเส่ง ถามถึงชะตากรรมของเจ้าจ่าแสง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบใดๆ
อิงเง่ออกจากพม่าโดยไม่มีสมบัติใดๆติดตัว เธอจึงเข้าเป็นครูสอนภาษาเยอรมันในไฮสกูลแห่งหนึ่ง และได้แต่งงานใหม่กับ แทด เซอร์เจนต์ ในปี ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เธอใช้นามสกุลเซอร์เจนท์ เธอและสามีที่ได้ร่วมเขียนชีวประวัติของเธอ ยังได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กร Burma Lifeline เพื่อช่วยเหลือชาวพม่าผู้อพยพตามชายแดน
ปัจจุบัน อดีตมหาเทวีสุจันทรี ผู้เกิดในปี ๒๔๗๕ ยังมีชีวิตอยู่ที่อเมริกา และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้มีบริษัทภาพยนตร์ที่ร่วมทุนระหว่างออสเตรียและเยอรมันได้นำเรื่องราวในบันทึกของเธอสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยมี ทวีฤทธิ์ จุลละทรัพย์ นักแสดงไทยรับบทเป็นเจ้าจ่าแสง และมาเรีย อีริช นางเอกเยอรมัน รับบทเป็นสุจันทรีมหาเทวี ผู้กำกับการแสดงเป็นชาวออสเตรีย นำออกฉายในปี ๒๕๕๘ แต่ถูกแบนในพม่า และยังไม่มีการนำเข้าฉายในเมืองไทย
“สิ้นแสงฉาน” นอกจากจะเป็นเรื่องราวของความรักที่เหมือนเทพนิยายแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นความแตกต่างของนโยบายการเมืองในการรวมรัฐฉานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพพม่า กับการรวมอาณาจักรล้านนาเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการรวมด้วยใจ ที่เสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๗