xs
xsm
sm
md
lg

กรณ์ไม่เห็นด้วย สรรพากรรีดภาษีคริปโตฯ ไม่ยุติธรรม กำไรจ้องจะเอาแต่ขาดทุนไม่นับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวหน้าพรรคกล้าไม่เห็นด้วยกรมสรรพากรจะรีดภาษีคริปโตเคอร์เรนซีแบบไม่เป็นธรรม จ้องจะเอากำไร แต่ขาดทุนหักลบไม่ได้ ชี้คิด VAT เหมือนคริปโตฯ เป็นสินค้า ทำให้จ่ายซ้ำจ่ายซ้อน ทั้งที่หลายประเทศไม่เสียภาษี ส่วนภาษีกำไรจากเงินลงทุนก็หักลบกลบหนี้กับการลงทุนเท่านั้น ไม่รวมกับรายได้อื่น แนะให้ผู้รู้จริงหาทางออกร่วมกัน

วันนี้ (12 ม.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก "กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij" แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย กับกรณีที่กรมสรรพากรจะคิดภาษีจากกำไรการขายหรือการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cyptocurrency) โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรม (Transactions) ไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้

โดยเห็นว่ากรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เสมือนคริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินค้า ทำให้เกิดการจ่ายภาษีซ้ำซ้อน รวมทั้งผู้ลงทุนหากขายสินทรัพย์ดิจิทัลเกิน 1.8 ล้านบาทจะต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (จด VAT) และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่สามารถเขียนใบเสร็จได้ เพราะขายผ่านผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ทำให้หลายประเทศได้แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกคริปโตฯ ออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

นายกรณ์ยังได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์และออสเตรเลีย หรือบางประเทศในสหภาพยุโรป กำหนดให้การขายคริปโตเคอร์เรนซี การซื้อสินค้าและบริการและชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซีโดยไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ประเทศไทยเรื่องนี้ยังต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เพราะอาจจะสร้างผลกระทบให้ผู้ประกอบการที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซีซื้อขายสินค้า

ส่วนภาษีกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gain Tax หรือ CGT) พบว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิดภาษีในส่วนนี้ ส่วนออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา มีการคิดภาษีกำไรจากเงินลงทุน แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้ บางประเทศอนุญาตให้นำผลขาดทุนมาหักจากเงินได้ที่มาจากการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้ประเภทอื่น ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ได้เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ส่วนการได้รับยกเว้นภาษี (Tax-exempt) นั้น พบว่าประเทศเกาหลีใต้ แม้จะเก็บภาษีคริปโตฯ ในอัตรา 20% แต่จะยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนแรกที่ไม่เกิน 2.5 ล้านวอน แต่กฎเกณฑ์นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงปี 2566 หากกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้จริง อาจจะมีการพิจารณายกเว้นภาษีในส่วนแรก เช่น กำหนดให้กำไร 1 แสนบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษีก็สามารถทำได้

นายกรณ์ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่เห็นด้วยที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีส่วนนี้ จนกว่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน รวมทั้งวิธีการจัดเก็บภาษีจะสามารถบริหารจัดการให้ยุติธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ และในทางปฏิบัติมีระบบและเครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน เพราะในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุน (CGT) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำข้อตกลงกับทางผู้ให้บริการหรือแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ส่งข้อมูลการซื้อขายกลับมายังรัฐบาล แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นมีมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน จึงต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

สำหรับข้อความที่นายกรณ์โพสต์ฉบับเต็ม ระบุว่า "ไม่เห็นด้วย กับการเก็บ 'ภาษีคริปโต' จนกว่าสรรพากรจะตอบคำถามในกระบวนการอย่างชัดเจน ยุติธรรม และเป็นระบบ

เรื่องภาษีโดยเฉพาะภาษีจากโลกดิจิทัลละเอียดอ่อน ต้องลึกซึ้ง และรู้จริง

[ ว่าด้วยเรื่อง “ภาษีคริปโต" เรื่องใหญ่ที่คนไทยต้องรู้ ]

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางกรมสรรพากรประกาศวิธีการคำนวณภาษีคริปโตฯ โดยคิดกำไรที่เกิดขึ้นจากการขายรายธุรกรรม (transactions) โดยไม่สามารถนำรายการที่ขาดทุนมาหักลบได้
โดยคำนวณจากเงินได้ (กำไร) แล้วหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่จบเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องนำเงินได้ (กำไร) มารวมกับเงินได้อื่นๆ พร้อมยื่นภาษีประจำปี ซึ่งแน่นอนว่ามีเสียงสะท้อนออกมาในด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ประกอบการ exchange หรือบรรดานักเทรดคริปโตฯ

ก่อนที่จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องภาษีกำไร อีกเรื่องที่นักลงทุนคริปโตฯ ควรจะต้องมีคำถามกับทางสรรพากร (แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง) คือประเด็นเกี่ยวกับการเก็บภาษี VAT เพราะสรรพากรเก็บ VAT เสมือนคริปโตฯ เป็นสินค้า

เพราะฉะนั้น 'จะเกิดการจ่าย VAT สองเด้ง' หากเรารับชำระการขายสินค้าเป็นคริปโตฯ เพราะนอกจากเสีย VAT ตอนขายสินค้าแล้ว เรายังต้องเสีย VAT จากการขายคริปโตฯ เป็นบาทอีกด้วย

แม้แต่ผู้ลงทุน หากขายคริปโตฯ เกิน 1.8 ล้านบาท ก็ต้องจด VAT และเสีย VAT โดยไม่สามารถเขียนใบเสร็จได้ เพราะเราขายคริปโตฯ ใน exchange เราไม่รู้ผู้ซื้อ

นี่คือสาเหตุที่หลายประเทศได้แก้กฎหมายเพื่อปลดล็อกคริปโตฯ ออกจากระบบ VAT

ดังนั้นกรมสรรพากรควรจะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอและศึกษาแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศต่อไป โดยอาจจะดูตัวอย่างในต่างประเทศที่มีการออกข้อกำหนดลักษณะนี้มาแล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง capital gains tax, VAT/GST สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น

1. VAT/GST - สิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือบางประเทศใน EU กำหนดให้การขาย crypto currency, การใช้ crypto currency ในการซื้อสินค้าและบริการ, การจ่ายเงินเป็น crypto currency จะไม่ต้องเสีย VAT
ในต่างประเทศมีการยอมรับให้ใช้ crypto currency โดยไม่เสีย VAT แต่ประเทศไทยเรื่องนี้ยังต้องพูดคุยเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น มิเช่นนั้นอาจจะสร้างผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อขายสินค้าโดยใช้ crypto currency ก็เป็นได้

2. Capital Gains Tax (CGT) - หลายประเทศในเอเชีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ไม่มีการคิด CGT แต่อีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา มีการคิด CGT แต่สามารถนำค่าใช้จ่าย รวมถึงกำไร-ขาดทุนมาคำนวณเงินได้สุทธิก่อนยื่นภาษีได้ บางประเทศอนุญาตให้นำขาดทุนจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมาหักจากเงินได้ที่มาจากการลงทุนในตัวสินทรัพย์ดิจิทัลเท่านั้น ไม่สามารถนำมาหักจากรายได้ประเภทอื่น ส่วนประเทศไทยเองก็สามารถคำนวณ CGT โดยใช้หลักเกณฑ์ลักษณะนี้ได้เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

3. Tax-exempt - เกาหลีใต้ จะเก็บภาษีคริปโตฯ ในอัตรา 20% แต่จะยกเว้นภาษีจากกำไรส่วนแรกที่ไม่เกิน 2.5 ล้านวอน (แต่กฎเกณฑ์นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อยถึงปี 2023)

ส่วนในประเทศไทย “ถ้า” หากกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้จริง อาจจะมีการพิจารณายกเว้นภาษีในส่วนแรก เช่นกำหนดให้กำไร 1 แสนบาทแรกไม่ต้องเสียภาษีก็สามารถทำได้

ผม "ไม่เห็นด้วย" ที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีส่วนนี้ จนกว่าจะมีคำตอบและความชัดเจนในทุกประเด็นที่กล่าวมา รวมไปถึงความชัดเจนในวิธีการว่าจะสามารถบริหารจัดการให้การเก็บมีความยุติธรรมต่อทุกคนที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ มีระบบและเครื่องมือที่สามารถตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหนในทางปฏิบัติ? ในต่างประเทศที่มีการจัดเก็บ CGT ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำข้อตกลงกับทาง exchanges หรือ platforms ต่างๆ เพื่อให้ส่งข้อมูลการซื้อขายกลับมายังรัฐบาล แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่เห็นมีมาตรการเหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน

อย่างที่ได้กล่าวไปครับ รายละเอียดเยอะ ความซับซ้อนที่ต้องทำความเข้าใจมีเยอะ เรื่องแบบนี้ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องที่รู้จริงมาถกหาทางออกร่วมกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น