xs
xsm
sm
md
lg

“หญิงปลอบขวัญ” แห่ง “กองพันนางบำเรอ” ทาสกามในสงครามโลก! มีทั้งสาวฝรั่งและเอเซีย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง มีศัพท์เทคนิคที่อื้อฉาวคำหนึ่ง คือ “COMFORT WOMAN” ซึ่งเป็นคำเรียกผู้หญิงกลุ่มหนึ่งในดินแดนที่กองทัพญี่ปุ่นยึดครอง ทั้งยังมี “COMFORT STATION” สถานบริการปลอบขวัญทหาร จนถึง “COMFORT BATTATION” กองพันนางบำเรอ ซึ่งเป็นหน่วยงานมีความสำคัญที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ในการปลอบขวัญทหารที่เคร่งเครียดกับความโหดร้ายของสงคราม

ญี่ปุ่นได้เริ่มใช้วิธีให้ผู้หญิงปลอบขวัญทหารมาตั้งแต่ทำสงครามกับจีนใน พ.ศ.๒๔๗๕ โดยตั้งสถานบริการทางเพศให้แก่ทหารขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นเข้ายึดครองประเทศใดก็เกณฑ์ผู้หญิงจากที่ต่างๆมาเพื่อจัดตั้งสถานีบริการทางเพศให้ทหาร เหมือนเป็นกองพันนางบำเรอที่ต้องมีอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพ ในสงครามมหาเอเชียบูรพากระทรวงสงครามของญี่ปุ่นได้วางแผนเรื่องนี้ล่วงหน้ามาหลายเดือนก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ด้วยซ้ำ

ในสงครามครั้งนี้ญี่ปุ่นได้ถล่มกำลังพลมหาศาลรุกรานไปทั่วเอเซียแปซิฟิก ฉะนั้นจำนวนผู้หญิงปลอบขวัญจึงต้องมีจำนวนมหาศาลเช่นกัน จากรายงานการประชุมของกระทรวงสงครามเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๘๕ ได้ระบุรายละเอียดในการจัดตั้งสถานีบริการปลอบขวัญทหารไว้ถึง ๔๐๐ แห่งคือ ในตอนเหนือของจีน ๑๐๐ แห่ง ตอนกลาง ๑๔๐ แห่ง และตอนใต้อีก ๔๐ แห่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๑๐๐ แห่ง แปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ๑๐ แห่ง และซัคคาลินตอนใต้อีก ๑๐ แห่ง นับว่าจีนเป็นประเทศที่กองทัพญี่ปุ่นจัดตั้งสถานบริการประเภทนี้มากที่สุด จากนั้นยังมีการจัดตั้งขึ้นอีกในไต้หวัน ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ พม่า และไทย ตามที่กองทัพบุกไปถึง คาดว่ามีผู้หญิงประเภทนี้ถึง ๔๐๐,๐๐๐ คน

วิธีการที่ญี่ปุ่นหาผู้หญิงมาบริการ วิธีแรกก็มาจากผู้หญิงที่มีอาชีพโสเภณีอยู่แล้วในท้องถิ่นนั้นๆ โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าของสำนักบริการ แต่เมื่อจำนวนไม่พอก็ใช้เจ้าหน้าที่หรือผู้นำท้องถิ่นบังคับผู้หญิงที่ไม่ได้มีอาชีพนี้มาก่อนมาขายบริการทางเพศให้ทหารญี่ปุ่น จนถึงใช้วิธีหลอกลวง อย่างกรณีของผู้หญิงอินโดนีเซียอายุ ๑๕-๑๙ ปี จำนวน ๒๐๐ คน ถูกทหารญี่ปุ่นประกาศรับสมัครไปศึกษาภาษาญี่ปุ่น การพยาบาล และผดุงครรภ์ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ถูกส่งลงเรือมาเป็นผู้หญิงปลอบขวัญที่สิงคโปร์และกรุงเทพฯ

ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้มีผู้หญิงเกาหลี ไต้หวัน จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย รวมทั้งผู้หญิงที่มีอาชีพนี้จากญี่ปุ่นเองมาเป็นผู้หญิงปลอบขวัญ ทั้งยังมีผู้หญิงชาวเนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียที่ตกเป็นเชลยในเขตที่ญี่ปุ่นยึดครอง ซึ่งระบุว่ามีผู้หญิงชาวดัชต์ถึง ๒๐๐-๔๐๐ คน

สำหรับกรณีประเทศไทยซึ่งเป็นมหามิตรของญี่ปุ่น แม้กองทัพญี่ปุ่นไม่ได้ใช้วิธีการเกณฑ์ผู้หญิงไทยไปเป็นผู้หญิงปลอบขวัญด้วยวิธีการบังคับแบบที่เกาหลี ไต้หวัน และจีนก็ตาม ในเอกสารลับของกองบัญชาการทหารสูงสุด จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย ได้กล่าวถึงการให้ความร่วมมือของอนุกรรมการผสมไทย-ญี่ปุ่นประจำจังหวัดลําปาง ในการจัดหา “หญิงหย่อนใจ” เพื่อให้บริการทางเพศแก่ทหารญี่ปุ่นซึ่งมักก่อเรื่องอยู่เสมอๆ เช่นดับไฟร้านขายของแล้วกอดแม่ค้า กอดเมียเขา ญี่ปุ่นคิดว่าเมื่อมีสถานที่หย่อนใจตั้งขึ้นแล้วทหารญี่ปุ่นจะไม่เกเรแบบนี้

ในบันทึกการประชุมของอนุกรรมการผสม เรื่อง “เปิดสถานที่หย่อนใจ” เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๕ สรุปได้ว่า จะเช่าโฮเตลยุงฮิง ของชาวจีนเปิดเป็นสถานหย่อนใจ โดยเสียค่าเช่า ๓๕๐ บาท ส่วนหญิงหย่อนใจนั้นจะมีบริการอาทิตย์ละ ๑๕-๒๐ คน ทางฝ่ายไทยจะจัดหา ๘ คน ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นจัดหา ๗ คน ๓-๔ วัน จะอนุญาตให้กลับบ้านครั้งหนึ่ง

ส่วนค่าบริการนั้น พลทหาร ๑.๐๐ บาท นายสิบ ๑.๕๐ บาท นายทหาร ๒.๕๐ ต่อชั่วโมง

นายสิบและนายทหารมีสิทธิ์ค้างคืนได้ ตั้งแต่ ๒๒.๐๐-๐๗.๐๐ น. ในอัตราค่าบริการ นายสิบ ๔.๕๐ บาท นายทหาร ๗.๕๐ บาทต่อคืน

เงินที่ได้จากค่าบริการ แบ่งเป็นของผู้จัดการสถานที่ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ของผู้หญิงบริการ ๗๐ เปอร์เซ็นต์

แต่เมื่อเปิดให้บริการแล้วพบว่าทหารญี่ปุ่นมักกระทำทางเพศอย่างรุนแรงโดยท่าพลิกแพลงต่างๆ เป็นเหตุให้อวัยวะเพศหญิงหย่อนใจ “ต้องเสียและพิการไป” ผู้หญิงเหล่านี้จึงพากันหลบหนี ฝ่ายญี่ปุ่นก็ตามไปข่มขู่ ฝ่ายไทยต้องขอร้องให้การรับหญิงต้องเป็นด้วยความสมัครใจเท่านั้น

ส่วนที่ชุมพร แหล่งชุมนุมของทหารญี่ปุ่นเพื่อบุกเข้าพม่าอีกแห่งหนึ่ง แม้ไม่พบหลักฐานเรื่องการตั้ง COMFORT STATION อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีซ่องบริการของเอกชนให้บริการทหารญี่ปุ่นด้วยความสมัครใจเพราะได้ค่าตอบแทนสูง และขยายตัวมากขึ้นอีกลายแห่งบริเวณตลาด แต่กระนั้นก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทางการญี่ปุ่นจึงเช่าบ้านไว้หลายแห่งให้ให้ผู้หญิงที่สมัครใจเข้าอยู่ และรับเฉพาะนายทหารเท่านั้น

ส่วนที่ราชบุรีและกาญจนบุรีที่ชุมนุมใหญ่ของทหารญี่ปุ่น ต้นทางของการสร้างทางรถไฟสายมรณะเข้าพม่า ได้มีการส่งผู้หญิงชาวเกาหลีและไต้หวันเข้ามาเป็นจำนวนมากตั้งเริ่มการสร้างทางรถไฟในเดือนกันยายน ๒๔๘๕ และเมื่อการก่อสร้างสำเร็จในเดือนตุลาคม ๒๔๘๖ ทางกองทัพญี่ปุ่นได้ฉลองความสำเร็จโดยส่งผู้หญิงปลอบขวัญชาวเกาหลี ๖-๗ คนมาโดยขบวนรถไฟ และหยุดให้บริการตามสถานีต่างๆในเส้นทางสายมรณะสถานีละ ๑ คืน มีทหารมารอใช้บริการสถานีละประมาณ ๖๐ คน
แม้ญี่ปุ่นจะเปิดช่องระบายอารมณ์ให้ทหารที่เคร่งเครียดกับการทำสงครามถึงเพียงนี้ ก็ยังมีเรื่องที่ผู้หญิงไทยถูกข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้น แต่ข่าวเหล่านี้ก็ถูกปกปิดไม่ให้ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ จึงทำให้ดูเหมือนว่าทหารญี่ปุ่นปฏิบัติต่อหญิงไทยดีกว่าประเทศอื่นๆที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครอง แต่ความจริงแล้วก็ไม่ต่างกันเท่าไร ยังมีการเกณฑ์และบังคับผู้หญิงที่มีอาชีพขายบริการทางเพศและผู้หญิงที่ไม่เคยมีอาชีพนี้มาก่อนให้มาเป็น “ผู้หญิงปลอบขวัญ” เพราะความจำเป็นของสงครามย่อมอยู่เหนือสิ่งใดทั้งหมด จะดีกว่าก็ตรงที่ญี่ปุ่นยังมีความเกรงใจไทยอยู่บ้างที่มีสัญญาเป็นมหามิตร และไม่มีการส่งผู้หญิงไทยไปปลอบขวัญทหารญี่ปุ่นในต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ทางทหารของญี่ปุ่นนั้นจะมีแปลกกว่าตำรายุทธการทางการทหารทั่วไป ให้ความสำคัญกับทางรถไฟเป็นอย่างมาก มีการสร้าง “กองพันทหารรถไฟ” เพื่อการขนส่งทหารและยุทธปัจจัยมาตั้งแต่ปี ๒๔๓๙ ครั้งทำสงครามกับเกาหลีและแมนจูเรีย ต่อมาในปี ๒๔๕๐ หลังทำสงครามกับรัสเซียแล้วจึงขยายเป็น “กองพลทหารรถไฟ” ในเดือนตุลาคม ๒๔๘๔ ที่ญี่ปุ่นขนทหารมาอินโดจีนของฝรั่งเศสเพื่อเตรียมเปิดยุทธการมหาเอเซียบูรพา ก็ได้เอากองพลทหารรถไฟมาพร้อมกับราง ๗,๐๐๐ ตัน หัวรถจักร ตู้สินค้า และอุปกรณ์การก่อสร้างทางรถไฟครบครัน เตรียมการจะสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ส่วน “กองพันนางบำเรอ” นี้ก็ไม่มีประเทศใดเคยใช้ มาเป็นเรื่องอื้อฉาวในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรก็สนใจเรื่องนี้ และส่งเจ้าหน้าที่ทหารออกสอบถามผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อ

สงครามครั้งต่อไปของญี่ปุ่น กองพันนี้อาจจะยกฐานะขึ้นเป็นกองพล เช่นเดียวกับทหารรถไฟก็เป็นได้

(ขอขอบคุณข้อมูลจาก “ทางรถไฟสายใต้ในเงาอาทิตย์อุทัย” โดย ดร.พวงทิพย์ เกียรติสหกุล มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม)






กำลังโหลดความคิดเห็น