xs
xsm
sm
md
lg

เหลือเชื่อ..ทหารญี่ปุ่นหลบอยู่ในป่าเกือบ ๓๐ ปีจึงยอมเชื่อว่าสงครามสงบ! ฆ่าชาวบ้านไป ๓๐ คน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เรื่องราวในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังมีให้เล่ากันอีกมาก นอกจากเรื่องความรักของทหารญี่ปุ่นกับสาวพื้นเมืองอย่างโกโบริกับอังศุมาลิน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของหนุ่มสาวแล้ว เรื่องทหารญี่ปุ่นที่หลบซ่อนอยู่ในป่าอีกหลายปีโดยไม่รู้ว่าสงครามสงบแล้ว นับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเหลือเชื่อ แต่ในความจริงมีอยู่จำนวนไม่น้อย หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นถอนกำลังกลับประเทศ ยังมีทหารอีกหลายพันหลบซ่อนอยู่ในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตอนใต้ไม่ยอมมอบตัว เพราะไม่รู้ว่าสงครามยุติแล้ว บ้างก็ไม่ยอมเชื่อข่าว แม้จะมีเครื่องบินโปรยใบปลิวแจ้งข่าวสงครามสงบในเขตป่าทั่วไปที่คาดว่าจะมีทหารตกค้างอยู่

สำหรับรายที่จะเล่าถึงนี้หลบอยู่ในถ้ำถึง ๓๐ ปี และยังรบกับชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่าโดยนึกว่าเป็นศัตรูคู่สงคราม และเมื่อกลับไปบ้านก็รับไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองหลังสงคราม ไม่ยอมอยู่ในประเทศของตน


ทหารญี่ปุ่นรายนี้ก็คือ ร้อยโทฮิโร โอโนดะ ซึ่งผ่านหลักสูตรด้านข่าวกรอง ศิลปะการป้องกันตัว และรูปแบบกองโจร ถูกส่งไปประจำการที่เกาะลูบังในฟิลิปปินส์ที่ญี่ปุ่นยึดครอง ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๘๗ เขาได้รับคำสั่งจากพันโทโยชิมา ตานาคูชิให้นำทหาร ๓ นายไปปฏิบัติภารกิจกองโจรในป่า ร้อยโทฮิโรได้เลือกเอาสิบโทโชอิจิ ชิมาดะ พลทหารคินชิซิ โคซูกะ และพลทหารยูอิจิ อากัตซึ ร่วมไปด้วย

ขณะที่ทั้ง ๔ ไปปฏิบัติภารกิจในป่านั้น ญี่ปุ่นก็ถูกอเมริกาถล่มปรมาณูใส่ถึง ๒ ลูกจนต้องประกาศยอมแพ้ ถอนกำลังออกจากเขตยึดครองทั้งหมด รวมทั้งหน่วยของพันโทโยชิมาบนเกาะลูบังด้วย แต่ไม่ได้แจ้งให้ทหารทั้ง ๔ คนที่ไปปฏิบัติภาระกิจในป่าได้ทราบ

เมื่อร้อยโทฮิโรกลับมาที่ตั้งของหน่วยไม่พบใครเลย ก็เข้าใจว่าถูกข้าศึกโจมตีจนต้องถอยออกจากเกาะไปแล้ว จึงพาพรรคพวกกลับเข้าป่าปฏิบัติการสู้รบต่อไป


ทหารทั้ง ๔ ได้ซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ หาของป่าประทังชีวิต บางครั้งออกลาดตระเวนเข้าไปขโมยข้าวปลาและวัวของชาวบ้านจนเกิดการประทะกัน โดยต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันไปคนละอย่าง ชาวบ้านคิดว่าคนที่แต่งตัวขะมุกขะมอมถืออาวุธมานั้นเป็นผู้ร้าย ส่วนกลุ่มทหารญี่ปุ่นก็คิดว่าชาวบ้านเป็นฝ่ายข้าศึก

ร้อยโทฮิโรและพวกก็ได้เห็นใบปลิวที่โปรยลงมาและติดไว้ตามป่า แต่เข้าใจว่าเป็นแผนหลอกให้ออกไปติดกับ จึงซ่อนอยู่ในป่าต่อไป ส่วนทางการก็คิดว่าทหารหน่วยนี้คงเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ยังมีการโปรยใบปลิวเป็นระยะ

แม้จะต้องเผชิญชีวิตในป่าอย่างยากเข็ญ แต่ทหารทั้ง ๔ นี้ไม่มีใครเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บกันเลย ในปี ๒๔๙๒ หลังสงครามยุติแล้ว ๔ ปี พลทหารยูอิจิ อากัตซึ ได้ตัดสินใจแยกกลุ่มเข้ามอบตัวกับกองทัพฟิลิปปินส์ ในปี ๒๔๙๗ สิบโทโชอิจิ ชิมาดะ ถูกยิงตาย ในปี ๒๕๑๕ เมื่อสงครามสงบไปแล้วถึง ๒๗ ปี พลทหารคินชิซิ โคซูกะ ก็ถูกยิงตายไปอีกคนจากการประทะกับตำรวจ ทำให้ร้อยโทฮิโรต้องอยู่ในป่าเพียงคนเดียว แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้

ในปี ๒๕๑๗ ร้อยโทฮิโรได้พบกับนักสำรวจญี่ปุ่นคนหนึ่งโดยบังเอิญ ได้รับคำยืนยันว่าสงครามเลิกไปหลายปีแล้ว แม้จะคุยกันถูกคอแต่ร้อยโทฮิโรก็ยังแคลงใจ บอกถ้าผู้บังคับบัญชาที่สั่งเขาให้ปฏิบัติการมาบอกเองจึงจะยอมมอบตัว


ทางการญี่ปุ่นได้พยามติดตามหาพันโทโยชิมา ตานาคูชิ ซึ่งออกจากราชการไปแล้วจนพบ และส่งไปเกาะลูบังสั่งให้ร้อยโทฮิโรวางอาวุธ นายทหารลูกพระอาทิตย์จึงยอมเชื่อ ออกจากป่าในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๗ หลังจากที่สงครามสงบไปแล้วถึง ๒๘ ปี ๖ เดือน ๒๔ วัน ในสภาพเสื้อผ้าที่เก่าคร่ำคร่าพร้อมปืนเล็กยาวและดาบซามูไร และได้เข้าพิธีมอบตัวในชุดทหารสมเด็จพระจักรพรรดิที่สวมมา ๓๐ ปี โดยมอบซามูไรประจำตัวต่อประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ท่ามกลางความโกรธแค้นของชาวเกาะลูบังที่กลุ่มของร้อยโทฮิโรได้ฆ่าพี่น้องญาติมิตรของพวกเขาราว ๓๐ คน แต่ประธานาธิบดีอภัยโทษให้เขา

ร้อยโทฮิโร โอโนดะ กลับมาถึงญี่ปุ่นอย่างวีรบุรุษ คนที่ดีใจที่สุดคือแม่วัย ๘๘ ปีของเขา ซึ่งเชื่อว่าลูกชายตายไปแล้ว และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทุกปี กล่าวด้วยความพาพภูมิใจว่า “การอบรมเขาตามแบบคนญี่ปุ่น ทำให้เขาเป็นทหารที่มีวินัย มีความจงรักภักดีต่อชาติสูงสุด และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด แม้เวลาผ่านไปเกือบ ๓๐ ปีเขาก็ยังถือคำสั่งอย่างแน่วแน่”


ร้อยโทฮิโร โอโนดะได้เขียนอัตชีวประวัติในชื่อ “ไม่เคยยอมแพ้ สงครามสามสิบปีของข้าพเจ้า” นอกจากเรื่องราวปฏิบัติหน้าที่กองโจรอยู่ในเกาะลูบังแล้ว ยังระบายความรู้สึกว่า เขาไม่ชอบที่ตนเองเป็นจุดสนใจ และไม่สบายใจที่วัฒนธรรมสมัยใหม่ได้ลดค่าความเป็นญี่ปุ่นลงไปมาก ผิดกับความเชื่อของเขา

ในเดือนเมษายน ๒๕๑๘ เมื่อฮิโร โอโนดะซึ่งได้รับเงินจากกองทัพตามระเบียบแล้ว ยังได้รับค่าลิขสิทธิ์หนังสือที่เขียนอีก ๑๖๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ได้ย้ายออกจากญี่ปุ่นไปเป็นชาวไร่อยู่ที่บราซิล และแต่งงานกับสาวญี่ปุ่นที่นั่น

ในปี ๒๕๒๓ เขากลับมาญี่ปุ่นอีก และจัดตั้งค่ายการศึกษาสำหรับเยาวชน ในชื่อ “โรงเรียนธรรมชาติของโอโนดะ” เกี่ยวกับการใช้ชีวิตและเอาตัวรอดในธรรมชาติ

ในปี ๒๕๔๐ ฮิโรได้ไปเยือนเกาะลูบังอีกครั้ง และบริจาคเงิน ๑ หมื่นดอลลาร์สหรัฐให้แก่โรงเรียนที่นั่น

ในปี ๒๕๕๐ มาจิเอะ โอโนดะ ภรรยาของเขาได้เป็นนายกสมาคมสตรีญี่ปุ่น

ฮิโร โอโนดะ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๗ ที่กรุงโตเกียว ด้วยโรคปอดบวม


กำลังโหลดความคิดเห็น