xs
xsm
sm
md
lg

สุชัชวีร์ปิ๊งไอเดีย ใช้เตตระพอดป้องกันกัดเซาะ เจอเสียงค้านชี้ไม่ได้เอาไปวางที่หาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หมายเหตุ : หินเตตระพอตที่วางในภาพเป็นภาพจำลอง สื่อให้เห็นถึงแนวคิดของนายสุชัชวีร์
ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปิ๊งไอเดียใช้เตตระพอด หินเทียมสี่ขาวางไว้ที่ชายฝั่งบางขุนเทียน เจอเสียงค้านระบุเขาเอาไว้วางที่ชายฝั่งไม่ใช่หาด หวั่นสัตว์น้ำตัวพ่อตัวแม่เข้า-ออกไม่ได้ เจ้าตัวน้อมรับแต่ระบุวางตรงไหนกำหนดได้

วันนี้ (30 ธ.ค.) เฟซบุ๊ก "เอ้ สุชัชวีร์" ของนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โพสต์ข้อความถึงแนวทางการป้องกันน้ำทะเลหนุนและกัดเซาะชายฝั่งกรุงเทพมหานคร โดยใช้หินเทียมสี่ขาที่เรียกว่าเตตระพอด ว่า "เตตระพอด (Tetrapod) นักสู้คลื่นทะเล สี่ขาผู้น่ารัก

วันนี้ผมมาเล่าเรื่อง การป้องกันน้ำทะเลหนุน และกัดเซาะชายฝั่ง เป็นของขวัญ เป็นความรู้ให้ท่านที่ติดตามการเดินทางของผมทุกวันๆ ครับ

เรื่องมีอยู่ว่า ผมลงพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนเพื่อหาทางแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน กัดเซาะชายฝั่ง จนพื้นดิน กทม. หายไปหลายตารางกิโลเมตร ชาวบ้านเดือดร้อน ลูกหลานเตรียมจมน้ำ หากเราไม่เปลี่ยน ไม่สู้

ผมพบว่า กทม.ใช้บ้องไม้ไผ่มาปักต่อๆ กันเพื่อกันคลื่นทะเล เห็นแล้วตกใจ เพราะใช้ไม่ได้ สักพักก็ผุพัง ลอยมาเป็นขยะเข้าที่ชาวบ้าน ลำบากมาเก็บ และเสียงบประมาณทำแล้วทำอีก ไม่จบสิ้น

คำถาม แล้วเมืองอื่น ในต่างประเทศ เขาป้องกันคลื่นทะเลกันอย่างไร?

ตอบ เขาใช้หลักความรู้ด้านวิศวกรรมชายฝั่ง หรือ Coastal Engineering ที่ต้องมีการคำนวณกำลังและความสูงคลื่น รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาแก้ปัญหา

คำถาม แล้วเขาใช้อะไรกันคลื่น?

ตอบ ใช้หลายแบบ หลายวิธี (แต่ไม่ได้ใช้บ้องไม้ไผ่แน่ๆ)

ผมจะพาไปเรียนรู้วิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง ทั้งยุโรป อเมริกา อินเดีย และที่ญี่ปุ่น ประเทศที่คนคิดละเอียดมากเลือกใช้กัน

เขานิยมทำ เขื่อนกันคลื่น ที่เรียกว่า Break-Water (หยุด-คลื่น) ในอดีตจะใช้หินก้อนใหญ่ถมทำเป็นกำแพงยาว เพราะมีน้ำหนักมาก ต้านคลื่นได้ ความสูงแล้วแต่กำหนด

แต่หินแต่ละก้อน กว่าจะมาถึงชายฝั่งต้องเสียงบขนส่งมหาศาล แพงกว่าราคาหินหลายสิบเท่า ทั้งยังต้องไประเบิดภูเขา สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกแบบ

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1950 วิศวกรชาวฝรั่งเศสจึงคิดค้นประดิษฐ์หินเทียม ทำด้วยการหล่อคอนกรีตเป็นรูปทรง 4 ขา เรียกว่า เตตระพอด Tetrapod มาจากภาษากรีก แปลว่า สี่เท้า เพื่อใช้แทนหินถมป้อนกันคลื่น

จากนั้นกลายเป็นที่นิยมมาก เพราะรูปทรงที่สามารถทับถมต่อกันได้ง่าย เหมือนเลโก้เด็กเล่น ข้อดีที่สำคัญคือ มาทำโรงหล่อใกล้ชายฝั่งได้เลย ไม่ต้องขนย้ายไกล ทำง่าย ไม่ซับซ้อน ใส่เหล็กหูหิ้ว ใช้เครื่องยกไปวาง ทำเขื่อนได้ดังใจ

และยังเป็นเขื่อนเปิด ที่มีรู มีช่องว่าง สัตว์น้ำเข้าไปหลังเขื่อน วางไข่ แพร่พันธุ์ได้

หรือมีช่องเปิดทางให้เรือเข้าออก หรือสัตว์น้ำขนาดใหญ่เข้าออก ก็สามารถจัดวางได้หลายรูปแบบ มีแถวเดียว หรือสองแถวก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ปัจจุบันใช้กันทั่วโลก ทั้งเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นจะชอบมากเป็นพิเศษ หากท่านนั่งรถผ่านชายฝั่งทะเลญี่ปุ่นจะพบเห็นได้ง่ายมาก

เจ้าตัว "เตตระพอด" กั้นคลื่น จนคนญี่ปุ่นรักมาก ถึงขนาดเอามาทำเป็นหมอนนอนกอด เป็นน้ำแข็งค็อกเทล เป็นเสื้อยืดแฟชั่น น่ารักดี

เราสมควรนำ เตตระพอด มาใช้ในการสู้น้ำทะเลหนุน และกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน นอกจากจะช่วยหยุดการถอยร่นของพื้นที่กรุงเทพฯ ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์

ต้นโกงกางที่ปลูกไป ตายไปเพราะคลื่นซัด คราวนี้ไม่ต้องปลูกก็ขึ้นเองได้ เพราะคลื่นสงบ ดินตกตะกอนได้ตามธรรมชาติ คืนป่าชายเลนให้ลูกหลานไทย

หากผมมีโอกาสรับใช้คนกรุงเทพฯ เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะสร้างเจ้าเตตระพอด สี่ขาผู้น่ารัก ให้ป้องกันชายทะเลบางขุนเทียน เพราะทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าดี ที่สำคัญยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเรียนรู้ด้านวิศวกรรมของลูกหลานเรา

ผมจึงมั่นใจ หยุดน้ำทะเลหนุน น้ำกัดเซาะ เปลี่ยนกรุงเทพฯ #เราทำไดั"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ปรากฏว่าหลังจากโพสต์ข้อความนี้ออกไป ได้มีคนวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดนี้จำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเฟซบุ๊กเพจที่ชื่อว่า "วิทย์นอกห้อง" โพสต์ข้อความ ระบุว่า "เนื่องจากถูกทีมงานพี่เอ้บล็อกทั้งในเพจส่วนตัวและเพจลาดกระบัง เลยขอพูดตรงนี้นะ

พี่เอ้ครับ อันดับแรก พี่เอ้ต้องแยก "หาด" กับ "ฝั่ง" ให้ออกก่อน

พี่เอ้ครับ บางขุนเทียนส่วนใหญ่เป็น "หาดเลน" และที่เอาไม้ไผ่ไปปัก จุดประสงค์หลักไม่ใช่กันคลื่น แต่เป็นการลดแรงคลื่นทำให้ตะกอนตกเพื่อคืนสภาพหาด

พี่เอ้ครับ เตตระพอดส่วนใหญ่เขาเอามาวางตรงที่ถมทะเลกับริมชายฝั่งที่ไม่มีหาด

พี่เอ้ครับ น้ำทะเลหนุนเป็นกลไกธรรมชาติที่มีประโยชน์ มันช่วยพัดพาสารอาหารไป-กลับบริเวณปากแม่น้ำกับทะเล หลายประเทศที่ทำโครงสร้างแข็งแบบนี้ พบว่าความอุดมสมบูรณ์ลดลง กระทบการทำประมง

พี่เอ้ครับ สัตว์ที่เข้า-ออกระหว่างช่องว่างของเตตระพอด พบว่ามีแต่พวกตัวเล็กๆ พวกตัวพ่อตัวแม่ที่ตัวใหญ่มันเข้า-ออกยากหรือเข้า-ออกไม่ได้เลยครับ

พี่เอ้ครับ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ริมทะเล และรองลงมาคือตะกอนถูกดักไว้บนแผ่นดิน

ก่อนจะแก้ปัญหาอะไร เราต้องทำความเข้าใจว่ามันมีปัญหาจริงมั้ย สาเหตุคืออะไร แล้วเลือกทางแก้ที่เหมาะสม ไม่ใช่ไปเจออะไรของต่างประเทศแล้วก็เอามาโปะที่บ้านเราครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

ภายหลัง เฟซบุ๊ก "เอ้ สุชัชวีร์" โพสต์ข้อความอีกครั้ง ระบุว่า "ขอบคุณที่มีข้อท้วงติงเรื่องเขื่อนกันคลื่นที่บางขุนเทียนครับ

การใช้ไม้ไผ่มาปักกันคลื่นนั้น แม้เป็นความคุ้นเคย แต่จุดอ่อนที่เป็นปัญหาคือการผุพังเมื่อใช้ไปนานๆ และหักเมื่อโดนคลื่นลม ตามที่เห็นในรูป ซึ่งด้วยระบบที่เป็นอยู่บางครั้งการซ่อมแซม หรือจะต้องทำใหม่ ดำเนินการได้ช้า ตะกอนที่เคยทับถมที่ผ่านมาก็จะถูกกัดเซาะอีกในระหว่างที่ไม่ได้ซ่อม ปัญหาก็วนไปวนมาไม่จบสิ้น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ได้เล่าความเดือดร้อนให้ฟัง

วิธีการแก้คือการนำหินมาใช้เป็นกำแพงกันคลื่น โดยวางไว้นอกแนวกำแพงไม้ไผ่ เพื่อช่วยต้านแรงคลื่น และที่สำคัญจะช่วยให้แนวกันคลื่นนี้มีความแข็งแรงมากขึ้น แต่แนวหินทิ้งเหล่านี้มันค่อนข้างแน่น ทำให้สัตว์น้ำ ปู ปลา ไม่สามารถเข้าไปในป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ได้

การใช้เตตระพอดวางแทนนั้นนอกจากเป็นแนวป้องกันนอกชายฝั่งที่แข็งแรงแล้ว ช่องว่างระหว่างเตตะพอดแต่ละชิ้นสามารถให้สัตว์น้ำผ่านได้ ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ครับว่าจะให้แน่นหรือหลวมมากเพียงใด และทำเป็นแถวสลับ มีช่องว่างได้ เพื่อให้สัตว์น้ำสามารถผ่านไปได้ เพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติได้ดีกว่า และในอนาคตหากเราไม่ต้องใช้แล้ว หรือจะย้ายไปใช้ที่อื่นก็สามารถขนออกไปได้

รูปที่ลงไปในโพสต์ก่อนหน้านี้ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าจะใช้วางติดแนวริมฝั่ง ที่จริงอยากแสดงรูปภาพของเตตระพอดให้เห็นเป็นความรู้แก่ทุกท่านเท่านั้นครับ

การลงพื้นที่ของผมแต่ละครั้ง เราเริ่มจากรับฟังปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่ ได้เห็น ได้รู้ จากของจริง และได้ร่วมกับชาวบ้านและทีมงาน เพื่อพยายามนำเสนอทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด

หากท่านติดตามอ่าน และ Live การลงพื้นที่ จะพอเข้าใจถึงการนำเสนอที่มีเจตนาเพื่อการแก้ปัญหาซ้ำซากให้ชาวบ้าน และกทม.ครับ

จึงขอกำลังใจและการสนับสนุนจากทุกท่านให้ผมได้ใช้ความรู้ทำงานให้ท่านด้วยนะครับ"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่






กำลังโหลดความคิดเห็น