ในปี พ.ศ.๒๓๙๙ สมัยรัชกาลที่ ๔ ประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียซ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้มอบอำนาจให้ ทาวเซนด์ แฮรีส เป็นทูตผู้มีอำนาจเต็มมาเจรจาทำสัญญาทางการค้ากับไทยและญี่ปุ่น หลังจากที่ได้ส่งกองเรือรบไปบังคับญี่ปุ่นซึ่งปิดประเทศอย่างสนิทมา ๒ ศตวรรษ ให้เปิดรับการติดต่อกับโลกตะวันตกเพื่อการค้าและวัฒนธรรม ในการเดินทางไปเจรจากับญี่ปุ่นและเพื่อรับตำแหน่งทูตอเมริกันประจำญี่ปุ่นคนแรกนี้ แฮริสได้มาถึงเมืองไทยในวันที่ ๑๓ เมษายน และได้บันทึกรายวันเกี่ยวกับเมืองไทยในสมัยนั้นไว้ด้วยความดื่มด่ำประทับใจไม่แพ้รัสเซล โครว์ ซึ่งกรมศิลปากรได้ให้ นางนันทนา วรเนติวงศ์ ศ.บ. (โบราณคดี) แปลและพิมพ์เผยแพร่
ทาวเซนด์ แฮริส เป็นพ่อค้าผู้ประสบความสำเร็จของนครนิวยอร์ค และเป็นนักการเมืองเล็กๆคนหนึ่ง แต่ได้รับเลือกให้ไปทำงานสำคัญที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ จนได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นผู้เปิดประเทศญี่ปุ่นด้วย “สนธิสัญญาแฮริส”
แม้จะเคยเดินทางไปหลายประเทศแถบทะเลใต้และเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ลังกา อินเดีย และทำธุรกิจในจีน แต่เทาเซนด์ แฮริสก็ดื่มด่ำกับธรรมชาติและวิถีชีวิตไทยมาก ในวันแรกที่มาทอดสมอที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา เขาก็เริ่มบันทึกว่า
“เรือหลายลำสามารถจอดอยู่ในน่านน้ำได้เสมอ เพราะไม่เคยมีพายุร้ายแรงเกิดขึ้น ในประเทศสยามไม่เคยรู้จักพายุเฮอริเคนและไต้ฝุ่นเลย”
สำหรับบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งแม่น้ำที่ผ่านเข้ามา แฮริสบันทึกไว้ว่า
“๒-๓ไมล์เหนือปากน้ำขึ้นมา จะเริ่มเห็นบ้านชนบทของไทย โดยทั่วไปแล้ว บ้านเหล่านี้ดูเรียบร้อยและสะอาดตามาก ดีกว่าบ้านของชาวชนบทในในอินเดีย จีน และโดยเฉพาะบ้านของชาวมลายูมาก บ้านมีเสาต้นสูงเหนือพื้นดิน ๖ ฟุต ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยทำให้อุณหภูมิของอากาศแห้งมากขึ้นเท่านั้น ยังช่วยทำให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านปลอดภัยจากสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ร้าย และแมลง...”
เกี่ยวกับเรือนแพที่เรียงรายอยู่ชายฝั่ง ก็ทำให้แฮริสชื่นชมไม่น้อย
“ถึงตอนนี้เราเริ่มพบเรือนแพซึ่งสร้างอยู่บนแพไม้ไผ่ลอยสูงเหนือน้ำขึ้นมาราว ๒ ฟุต เรือนแพเหล่านี้มองดูประณีตสะอาดตา และถ้าจัดให้มีระเบียบก็คงจะเป็นที่น่าชื่นชมมากกว่าบ้านเรือนของชนชั้นกรรมกรในยุโรปและอเมริกามากทีเดียว”
เมื่อใกล้กรุงเทพฯเข้ามา แฮริสก็ยิ่งดื่มด่ำมากขึ้น
“ภาพภูมิประเทศตอนในตอนนี้สวยงามสุดที่จะพรรณนา น้ำกำลังขึ้นและเกือบจะท่วมฝั่งดิน มีต้นไม้ยื่นลงมาเหนือสายน้ำหลายแห่ง ทอดกิ่งก้านสัมผัสกับพื้นน้ำ ที่นี่เราเห็นต้นฝ้าย ต้นไผ่เหลือง หมาก และมะพร้าว ไม้จำพวกลำเจียกและเตย กับต้นไม้อื่นๆที่ข้าพเจ้าไม่รู้จัก แสงแดดยามตะวันคล้อยต่ำทอมาอ่อนๆ ผ่านกลุ่มเมฆบางๆ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิตชีวาและสดชื่น ด้วยอากาศอันเย็นฉ่ำเหมือนดังได้อยู่ ณ สรวงสวรรค์”
ประโยคท้ายนี้ต้องร้อง ว้าว! ที่ท่านทูตอเมริกันผู้เห็นโลกมามากทั้งตะวันตกตะวันออก ยังดื่มด่ำเมืองไทยถึงเพียงนั้น
เมื่อไปถึงบ้านรับรองที่ทางการไทยจัดไว้ให้ ใกล้สถานทูตโปรตุเกส มีเจ้าพระยาพระคลังและหมอบรัดเลย์ไปคอยต้อนรับ แฮริสบันทึกไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้เห็นห้องใหญ่กว้างห้องหนึ่ง เห็นจะตั้งใจให้เป็นห้องโถงและห้องอาหาร ด้านหลังเป็นห้องนอนกว้าง ๒ ห้อง ตกแต่งไว้เป็นห้องนอนแบบจีนหรู เตียงนอนอย่างดี หมอน หมอนข้าง และมุ้งไหม ห้องเหล่านี้จัดไว้ให้แก่ผู้บังคับการอาร์มสตรองและตัวข้าพเจ้าเอง มีห้องนอนอื่นๆอีก ๔ ห้อง แต่ละห้องมีเตียงนอน ๒ เตียง จัดอย่างเป็นระเบียบสำหรับเจ้าหน้าที่ ๘ นายพัก”
ในคืนแรกหลังจากที่มีการเลี้ยงต้อนรับแล้ว คณะทูตอเมริกันก็ได้รับข่าวร้ายว่า บางคนในคณะได้เกิดป่วยเป็นอหิวาต์ แต่ท่านทูตได้บันทึกไว้ว่า
“ไม่น่าแปลกใจเลย เพราะพวกเขาได้กินผลไม้และดื่มน้ำมะพร้าวมากเกินควรระหว่างปากน้ำและกรุงเทพฯ คนหนึ่งๆดื่มน้ำมะพร้าวสัก ๑๐๐ ผลได้ ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังกินหมูดิบๆที่ปากน้ำอย่างเอร็ดอร่อย และดื่มน้ำสกปรกที่นั่นด้วย”
คืนแรกที่นอนในเมืองไทย ทาวเซนด์ แฮริส บันทึกไว้ว่า
“ข้าพเจ้าเข้านอนเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม กว่าจะหลับได้ก็ตั้งนาน เพราะตื่นเต้นเมื่อตอนกลางวัน และตื่นเต้นในของแปลกของใหม่”
ท่านทูตได้ไปเที่ยววัด ซึ่งบอกว่าเป็นวัดที่อยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง แต่ที่บรรยายทำให้แน่ใจว่าเป็นวัดโพธิ์
“ได้ไปเที่ยววัดใหญ่แห่งหนึ่งในบริเวณพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับกัปตันเบลล์และนายทหารกับนาวิกโยธิน ได้เห็นพระพุทธรูปจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน (กล่าวกันว่ามีจำนวนมากกว่า ๗๐๐ องค์) พระสงฆ์จำนวน ๖๐๐ รูป และได้พบพระพุทธรูปที่น่ามหัศจรรย์ที่สุดของโลก เป็นพระพุทธรูปนอนองค์มหึมา ยาวถึง ๑๕๐ ฟุต หุ้มทองคำอร่าม และฝ่าพระบาทประดับตกแต่งด้วยมุกงามพร้อม ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระพุทธรูปองค์ไหนงามมากเท่านี้เลย องค์พระพุทธรูปได้สัดส่วนดีทีเดียว พระพุทธรูปนอนตะแคงด้านขวา พระหัตถ์ขวารองรับพระเศียรไว้ ข้อศอกงอได้มุมงามเหมาะ
เราได้ไปชมโบสถ์อันเป็นที่ประกอบสังฆกรรม ในโบสถ์มีฉัตรทอง ฉัตรเงินหรู รวมทั้งสิ่งของอื่นๆวางอยู่หน้าแท่นบูชา การตกแต่งประดับประดาโบสถ์ก็หรูหราและมีรสนิยมดีอย่างยิ่ง แบบค่อนข้างละเอียดประณีตมากกว่าโอ่อ่า และมีส่วนละเอียดให้พินิจพิจารณาอย่างใกล้ชิดที่สุด”
ก่อนที่จะได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แฮริสได้ไปเยี่ยมบุคคลสำคัญหลายคน และบันทึกการไปเยี่ยม พระยาศรีวรวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดี ไว้ว่า
“บ้านท่านอัครมหาเสนาบดีใหญ่โตโอ่อ่าเกินกว่าที่ข้าพเจ้าคาดไว้มาก เป็นบ้านแบบยุโรป มีกระจกบานใหญ่ๆใส่อยู่ในกรอบปิดทองระยับติดผนังอยู่ มีนาฬิกาชนิดมีลูกตุ้ม มีเทอร์โมมิเตอร์ รูปแกะสลักของศิลปกรรมลอนดอน และภาพการรบของจักพรรดินโปเลียนซึ่งพบทุกแห่ง จากห้องพักแขกก็เข้าไปสู่ห้องพิเศษ มีเสาหลายต้นค้ำอยู่ ห้องนอนตกแต่งด้วยมุ้งไหมและม่านสีแดงเข้มหรูหรา...”
มาแค่เยี่ยม ไม่ได้มาค้างคืน ทำไมเข้าไปเห็นถึงห้องนอนก็ไม่รู้ แต่แฮริสก็ได้บันทึกถึงการต้อนรับไว้ว่า
“ฯพณฯ ต้อนรับข้าพเจ้าในท่วงท่าที่สง่าภูมิฐานเหมือนกับบรรดาอัครมหาเสนาบดีแห่งราชสำนักยุโรป...”
เมื่ออำลากลับลงเรือมาออกแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำ ท่านทูตก็ยังดื่มด่ำธรรมชาติเหมือนเดิม บรรยายไว้ว่า
“น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเงียบสงบไหลเอื่อย พราวระยับเป็นสีเงินด้วยแสงจันทร์ส่อง ในเรืออันโอ่อ่าหูหราของเราซึ่งมีพลพาย ๑๐ คน ข้าพเจ้าเคลิบเคลิ้มไปว่าได้ไปเยือนเมืองเซนต์มาร์คัส และถ้าสองฝั่งแม่น้ำจะเป็นวังอันโอ่อ่าหรูหราของพวกผู้ดีแห่งเวนิส แทนที่จะเป็นเรือนแพไม้ไผ่และร้านรวงของคนจีนซึ่งจุดโคมกระดาษสีฉูดฉาด ภาพฝันนั้นคงจะสมบูรณ์ทีเดียว ความรู้สึกโน้มน้าวใจที่ดีงามเกิดขึ้นจากพระเจดีย์รูปทรงงามสง่า มียอดเรียวแหลมงามประณีต แม้แต่สถาปัตย์ศิลป์อันงามวิจิตรของกรีกจะต้องอาย พระเจ้าแผ่นดินแต่ละองค์ทรงสร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ของพระองค์”
คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ท่านทูตทาวเซนด์ แฮริสไปเยี่ยม ก็คือ สมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค)
“สมเด็จองค์น้อย ประธานที่ปรึกษาและหัวหน้ากลุ่มหัวเก่าผู้คัดค้านต่อหลักการก้าวหน้า อย่างไรก็ตาม ฯพณฯสมเด็จองค์น้อยทรงต้อนรับข้าพเจ้าด้วยอัธยาศัยโอบอ้อมอารีที่สุด วงดนตรีของเราบรรเลงเพลงที่มีลักษณะประจำชาติหลายเพลง โต๊ะของสมเด็จมีผลไม้งามๆของเมืองไทยวางอยู่เต็มโต๊ะ กาน้ำชาทอง คนโทน้ำทอง จานชามอื่นๆจำนวนมาก และหีบล้วนทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ ประดับด้วยพลอยต่างๆ เรามีโอกาสได้เห็นสุภาพสตรีบางคนจากระยะไกล เธอห่มสไบสีเหลือง บรรเลงดนตรีให้เราฟัง เสียงดนตรีนั้นค่อนข้างอ่อนหวาน ตรงข้ามกับเสียงดนตรีที่ดังราวแก้วหูแตกที่วงดนตรีผู้ชายของไทยบรรเลงให้เราฟัง ดูเหมือนสมเด็จจะเอนเอียงมาทางด้านฝ่ายอเมริกันมาก และตั้งใจจะให้สิทธิพิเศษทุกอย่างแก่พวกอเมริกันเช่นที่อังกฤษได้รับ”
จากนั้น วันสำคัญ ๑ พฤษภาคม ๒๓๙๙ ก็มาถึง คณะทูตอเมริกันได้ออกเดินทางจากที่พักทางเรือพายไปพระบรมมหาราชวัง และขึ้นเสลี่ยงผ่านทหารที่ยืนเรียงราย ๒ แถวไปสู่ท้องพระโรง เมื่อม่านเปิดก็ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯประทับอยู่บนบัลลังก์แล้ว เทาเซนด์ แฮริสได้บันทึกไว้ว่า
“มงกุฎของพระองค์เป็นหมวกกำมะหยี่สีน้ำเงิน ประดับพลอยเต็มไปหมด และติดขนนกสีเหลือง ๑ อัน พระองค์ทรงถือพระแสงดาบซึ่งสหรัฐอเมริกาถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการ แต่ละข้างของบัลลังก์มีฉัตร ๗ ชั้น ๒ คัน และมีฉัตร ๕ ชั้นอยู่ ๑๐ คันกางอยู่ ติดบัลลังก์มีคนถือดาบ ๔ คน และมีทหารองครักษ์ ๒ คนถือปืนไรเฟิล มีเบาะ ๒ ที่จัดไว้สำหรับผู้บังคับการและตัวข้าพเจ้าเอง คณะผู้ติดตามข้าพเจ้าต้องนั่งหรือหมอบบนพื้นซึ่งปูพรมตุรกีทอจากเมืองสมีร์นา พิธีได้ดำเนินไปตามที่ได้กำหนดไว้ในหมายกำหนดการ และได้ทูลเกล้าฯถวายศุภสาส์นของท่านประธานาธิบดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน (ข้าพเจ้าเกือบจะไม่สามารถถวายศุภสาส์นต่อพระหัตถ์ของพระองค์ได้ บัลลังก์สูงมาก)
ในคำกราบบังคมทูลของทูตอเมริกันท่านนี้ ได้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าอยู่หัวว่า
“พระเกียรติยศชื่อเสียงของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในด้านที่ได้ทรงร่ำเรียนภาษายากๆหลายภาษา และในสาขาวิชาการชั้นสูงหลายสาขา ได้ระบือข้ามมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ซึ่งคั่นประเทศสยามและสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดความนิยมยกย่องอย่างสูงขึ้นในใจของท่านประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกามีที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ และร่ำรวยผลผลิตของประเทศที่อยู่ระหว่างเขตหนาวและร้อนทุกชนิด ชาวอเมริกันอุทิศเวลาให้แก่การเกษตรกรรม การหัตถกรรม และการค้าขาย ใบเรือของเรือสหรัฐขาวไปทุกท้องทะเล และธงของสหรัฐนั้นก็จะได้เห็นในเมืองท่าทุกเมือง เหมืองทองในประเทศก็เป็นเหมืองที่อุดมด้วยแร่ทองมากที่สุดในโลก
ประเทศสยามผลิตหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจมีขึ้นในสหรัฐอเมริกา และชาวอเมริกันจะยินดีแลกเปลี่ยนผลิตผลทั้งหลาย ทองคำ และเงิน กับผลิตผลที่มีจำนวนล้นความต้องการของประเทศสยาม
ถ้าการค้าขายดำเนินไปอย่างนั้นแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่ชาติทั้งสอง และจะเพิ่มพูนสัมพันธไมตรีอันมีระหว่างชาติทั้งสองให้ดียิ่งขึ้น”
เทาเซนด์ แฮริสอยู่ในเมืองไทยนานถึง ๔๙ วันในการเจรจาทำสัญญาต่างๆ ซึ่งสำเร็จเรียบร้อยด้วยความพอใจทั้งสองฝ่าย และจากไปด้วยความประทับใจในบรรยากาศของเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็น เทาเซนด์ แฮริส ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึง รัสเซล โครว์ ในรัชกาลที่ ๑๐ บ้านเกิดเมืองนอนของเราก็ทำให้คนต่างชาติดื่มด่ำประทับใจ ทั้งอัธยาศัยไมตรีของคนไทยและวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษสอนไว้ว่า “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนับ” ทำให้ประเทศของเราได้รับเลือกให้เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกมาหลายปี นี่คือสิ่งน่าภูมิใจที่เราเกิดมาเป็นคนไทย จงแซ่ซ้องชาติไทย รักษาไว้ให้มั่นคง