“จุรินทร์” ลุยพังงา ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา พร้อมย้ำช่วยประชาชนครบทุกด้าน เกษตรกร-สาธารณสุข-การศึกษา และแก้ปัญหาหนี้
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน และเป็นประธานในพิธีมอบเช็คชำระหนี้และมอบโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแก่เกษตรกรจังหวัดพังงา ที่อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนท้ายเหมืองวิทยา จังหวัดพังงา
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อประชาชนชาวพังงา ว่า ภูเก็ตกับพังงาฉีดวัคซีนไปแล้วครอบคลุม 70% ซึ่งประเทศเราจะเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส ขณะเดียวกัน ก็ยังความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้อย่างระมัดระวังตัวและอุปกรณ์ป้องกันอยู่ตลอดเวลา เมื่ออยู่ในพื้นที่ชุมชน ส่วน อสม.เราผลักดันให้ อสม.ต้องได้รับค่าตอบแทนเพิ่มจาก 1,000 เป็น 1,500 บาท กำลังเตรียมเรื่องเข้า ครม.
ทางด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจการออกโฉนดที่ดินให้กับเกษตรกร ประชาชน ในเขตจังหวัดอันดามัน ตามนโยบายนายจุรินทร์ในการให้ความช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง และวันนี้อยากชวนคนพังงาและประชาชนได้สนับสนุนประชาธิปัตย์ เพื่อให้นายจุรินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการทำงานและผลงานของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนนี้ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้นไม่มีอะไรน่าสงสัยในความสามารถเลย ขอยืนยันว่าเป็นคนที่มีความพร้อมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ส่วนทาง คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวยอมรับต่อประชาชนชาวอำเภอท้ายเหมืองจังหวัดพังงาว่า ชาวพังงาผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความสำคัญต่อประเทศชาติ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ โดยเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นผู้ผลักดันการปฏิรูปการศึกษา การเรียนการสอนรูปแบบทันสมัย และนำนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เรื่อง Coding มาช่วยเสริมการเรียนการสอนให้กับลูกหลานของพี่น้องประชาชน เน้นให้ก้าวทันเทคโนโลยีผ่านนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยตนเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการขณะนี้ และช่วยกันช่วยกันสนับสนุนนายจุรินทร์เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัยไปเลย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้มาทำภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1. คณะรัฐมนตรีมอบให้ตนเป็นผู้ช่วยกลั่นกรองโครงการสำคัญของจังหวัดอันดามัน 6 จังหวัด (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล) ได้โครงการสำคัญ 16 โครงการ รวมงบประมาณ 2,128 ล้านบาท โดยจังหวัดพังงา 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.สนามบินพังงา 2.โครงการสร้างตึกใหม่ของโรงพยาบาลพังงาและโรงพยาบาลตะกั่วป่า เพื่อเป็นตึกฉุกเฉิน 3.โครงการพัฒนาริมทะเลเขาหลักและท้ายเหมือง เป็นแหล่งท่องเที่ยว
2. ตนเป็นประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน 2 (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2) เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินที่เกิดจากการทำเกษตร ไม่ให้ที่ดินตกเป็นของธนาคารหรือสถาบันการเงิน จะสูญเสียที่ดินทำกิน โดยโอนหนี้จากสถาบันการเงินมาเป็นหนี้กองทุนฯและชำระกับกองทุนฯแทน วันนี้ดอกเบี้ยเป็นศูนย์ และไม่มีการยึดที่ดินทำกิน วันนี้มามอบโฉนดคืนและมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ที่ผ่อนชำระหนี้กองทุนครบแล้ว และมอบงบฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตเกษตรกร
และ 3. เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ช่วงที่ผ่านมาผลไม้ราคาดี ส่วนยางพาราช่วงนี้ถือว่าราคาดี แต่ถ้าช่วงไหนราคาตกก็จะมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรเข้ามาช่วย ซึ่งนโยบายประกันรายได้เกษตรกร จะประกันรายได้พืช 5 ชนิด คือ ข้าว มัน ยาง ปาล์มและข้าวโพด ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งนโยบายประกันรายได้ จะทำให้มีรายได้ 2 ทาง จากการขายในตลาด และเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง เข้ามาช่วยให้มีรายได้ตามรายได้ที่ประกัน ซึ่งจะขับเคลื่อนต่อไปขึ้นปีที่ 3 แล้ว
มาถึงวันนี้ปาล์มราคาดีมาก สูงกว่ารายได้ที่ประกันไปแล้ว ประกันที่กิโลกรัมละ 4 บาท ตอนนี้ถึง 10 บาทแล้ว ซึ่งหากราคาต่ำกว่า 4 บาทก็จะมีเงินส่วนต่างเข้ามาช่วยจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกร และเหตุที่ปาล์มราคาสูงเกิดจากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ตนได้สั่งห้ามนำเข้าปาล์มทางบก นำไปผสมเป็นน้ำมันดีเซล B5 B7 B10 และเปิดตลาดใหม่ ปีนี้ส่งออกปาล์มน้ำมันไปอินเดียได้แล้วถึง 14,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาปาล์มมาเลเซียออกน้อยและติดโควิด แต่อีกไม่กี่วันปาล์มมาเลย์จะออกแล้ว อาจกระทบราคาปาล์มในประเทศได้
และข้อมูลจากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ระบุว่า วันนี้ได้มีการมอบเช็คเงินโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรจำนวน 7 องค์กร 7 โครงการ จำนวนเงิน 3,435,000 บาท มอบโฉนดที่ดินและเกียรติบัตรจำนวน 12 คน และมอบใบรับรองการขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกรจำนวน 58 องค์กร จำนวนสมาชิก 5,409 คน ด้วย