xs
xsm
sm
md
lg

“จุรี” ชี้ คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ สกัดทุจริตโครงการรัฐ-ที่พึ่งเจ้าหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ เผยความคืบหน้ามาตรการป้องกันและชี้แนะหน่วยงานรัฐพึงระวังการดำเนินงานในโครงการที่อาจเข้าข่ายการทุจริต เพื่อสร้างความโปร่งใสโดยใช้กลไก “คลินิกส่งเสริม ธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต” เป็นที่พึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐ และบูรณาการทุกภาคส่วนร่วมมือป้องกันการทุจริต

วันนี้ (8 พ.ย.) รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ เปิดเผยถึงประชุมอนุกรรมการป้องกันการทุจริตฯ ครั้งที่ 2/2564 ว่า วิธีการตรวจสอบให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการทุจริตเชิงรุกเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนภารกิจตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่เห็นชอบ “กลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดโดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563”

สำหรับกลไกเฝ้าระวังฯ ดังกล่าว มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขับเคลื่อนภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดฯ โดยมี “คลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริต” เป็นกลไกตามหลัก “5 ส 2 จ” คือ 1. การสอดส่องตรวจเยี่ยมตรวจติดตาม 2. สอบถาม ประสานข้อมูลและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3. เสนอแนะ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ทุกภาคส่วน 4. สงสัย หาข่าวเบาะแสข้อมูลเพื่อมาทำการวิเคราะห์ 5. ส่งข่าว เบาะแสและข้อมูลที่วิเคราะห์แล้วไปยังส่วนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6. แจ้งเตือน และบริหารความเสี่ยง และ 7. จับตา เฝ้าระวังรับแจ้งเบาะแส

ซึ่งการลงในพื้นที่ของคลินิกฯ จะแตกต่างจากการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือการปราบปรามการทุจริต เพราะมุ่งเน้นการป้องกันตั้งแต่เริ่ม และขณะดำเนินโครงการเป็นสำคัญ คณะทำงานที่ลงในพื้นที่จะดำเนินการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ แจ้งเตือนความเสี่ยงที่อาจเข้าข่ายการทุจริต เพื่อให้ไปปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งส่งผลให้ลดการกระทำผิดที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องถูกลงโทษ สามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง โปร่งใส ไม่ทำให้โครงการหยุดชะงัก จึงถือเป็นที่พึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างแท้จริง และที่สำคัญประเทศชาติไม่เกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพเกิดจากบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงายภายใต้ ศอตช. เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI กระทรวงมหาดไทย รวมทั้ง สภาองค์การชุมชน (สอช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคประชาสังคม ร่วมดำเนินการตั้งแต่ ตุลาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ลงพื้นที่ไปให้คำแนะนำถึง 230 ครั้ง 67 จังหวัด ใน 12 โครงการ ซึ่งมีงบประมาณรวมกว่า 38,740 ล้านบาท จากการลงพื้นที่ดังกล่าวพบกรณีที่ส่อไปในทางทุจริต 1 เรื่อง ใน 1 โครงการ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยได้ส่งข้อมูลไปยัง ศอตช. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว

รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่า ขณะที่ลงพื้นที่เป็นช่วงอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จึงยังไม่พบประเด็นที่ส่อไปในทางทุจริตมากนัก พบเพียงการดำเนินการที่ล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ในบางโครงการ หรือกรณีที่ไม่ดำเนินการตามแบบที่กำหนด หรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่ง ศอตช. ได้ให้คำแนะนำ และได้แจ้งให้ทำการแก้ไขให้ถูกต้องก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนข้อมูลการร้องเรียนมายัง ศอตช.ที่ผ่านช่องทางของ สำนักงาน ป.ป.ท. ข้อมูล ณ 28 ตุลาคม 2564 มี 21 เรื่อง หน่วยปราบปรามลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว10 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง 11 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องให้ความร่วมมือร่วมใจ ที่จะไม่กระทำการทุจริตด้วย เพราะหากคลินิกส่งเสริมธรรมาภิบาลฯ ลงพื้นที่แล้วพบขอสงสัย หรือหน่วยงานนั้นๆ ไม่ยอมแก้ไข หรือฝ่าฝืนพยายามกระทำการทุจริต คลินิกฯ ก็จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ส่งไปยัง ศอตช. เพื่อให้หน่วยปราบปรามลงมาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือหากภายหลังมีเรื่องร้องเรียนว่าโครงการใดมีลักษณะส่อไปในทางทุจริต หน่วยปราบปรามของ ศอตช. ก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที ดังนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันในการป้องกันไม่ไห้เกิดการทุจริต




กำลังโหลดความคิดเห็น