xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” ยกประเด็น “เลิกทาส” ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทำคนเท่ากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงประเด็น “ความไม่เท่ากัน” ระบุรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระราชทานที่ดินสร้างจุฬาฯ ได้ทรงยกเลิกทาสเพื่อให้คนได้เท่ากัน ชี้ผ่านมานานยังมีคนอยากเป็นทาส

จากกรณีที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายก ออกแถลงการณ์ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์แก่ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสังคมอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (26 ต.ค.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” เกี่ยวกับประเด็นที่สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นข้ออ้างในการ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” โดยมีใจความว่า

“พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ กับเรื่อง “คนเท่ากัน”

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงกระทำเพื่อให้ “คนเท่ากัน” อย่างน้อยใน 2 เรื่องที่เห็นเด่นชัด กล่าวคือ
1. ทรงยกเลิกไพร่
2. ทรงยกเลิกทาส

ทาส กับ ไพร่ ต่างกันนะครับ แต่ต่างกันอย่างไรไปศึกษาเอาดูเถอะ การยกเลิกไพร่ และยกเลิกทาส แน่นอนว่าขัดประโยชน์ของเจ้าขุนมูลนายสมัยนั้นอย่างหนัก แต่ก็ทรงพระปรีชาสามารถทำให้ผ่านมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนหลายประเทศ นี่เป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้ “คนเท่ากัน”

การยกเลิกทาสในเมืองไทยมีอุปสรรคที่คาดไม่ถึง คือ ทาสส่วนหนึ่งเมื่อเป็นอิสระแล้วกลับไม่ยอมเป็นไท แต่ยังอยากอยู่กับนายทาสอีก จึงต้องมีกฎหมายออกมาบังคับถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.พิกัดเกษียณลูกทาสลูกไท พ.ศ. 2417 และ พ.ร.บ.เลิกทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) โดยบัญญัติว่าเมื่อเลิกทาสแล้ว ใครยังมีทาสอยู่ในครัวเรือนต้องมีความผิด ถูกลงโทษ นั่นแหละจึงทำให้ทาสหมดไป ตรงตามพระราชประสงค์ของในหลวงรัชกาลที่ ๕

ปี 2564 ยังมีคนพูดถึงเรื่อง “คนไม่เท่ากัน” อีก ในโลกนี้ไม่ว่าในระบบการปกครองแบบไหนคนก็ไม่เท่ากัน ยิ่งเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม คนก็ยิ่งไม่เท่ากัน แต่ก็มีการแก้ไขเรื่องนี้ใน 2-3 แนวทาง คือ
1. ให้คนเท่ากันในหลักสิทธิมนุษยชน
2. ให้คนเท่ากันในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
3. ให้คนเท่ากันในทางกฎหมาย ที่เรียกว่า “ทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย”

ทาส และ ไพร่ หมดไปแล้ว ด้วยพระปรีชาญาณของในหลวงรัชกาลที่ ๕ แต่ยังมีทาส และไพร่ มาเกิดใหม่ ไม่ยอมปลดปล่อยตัวเอง

ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการอัญเชิญพระเกี้ยวของชาวจุฬาฯ เขาหรอก จะอัญเชิญหรือไม่ก็แล้วแต่ชาวจุฬาฯ แต่การที่มีบางคนพูดว่าการอัญเชิญพระเกี้ยวเป็นการแสดงถึงระบบศักดินา แล้วพยายามพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นไม่บังควร ดูขบวนเสด็จของพระราชินีอังกฤษ และเครื่องประดับอิสริยยศสิครับ นั่นประเทศต้นแบบของรัฐประชาธิปไตยนะครับ ไม่มีใครว่าเป็นศักดินา แต่เป็นความภูมิใจของคนอังกฤษ เรื่องนี้เป็นความล้มเหลวของอาจารย์ในจุฬาฯ ที่ไม่สามารถสั่งสอนลูกศิษย์ให้เข้าใจในเรื่องนี้ ผมว่าปัญหานี้มันใหญ่เกินการแบกรับของจุฬาฯ ไปแล้ว รัฐบาลน่าจะให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่อง “คนเท่ากัน” อย่าให้เลยเถิดไปมากกว่านี้ ไม่งั้น สักวันหนึ่งคงมีคนเสนอให้ตัดขาคนที่สูงลงเพื่อให้ต่ำลงเท่ากับคนที่เตี้ยกว่า เพื่อทำให้คนเท่ากันแล้วคงยุ่งกันไปใหญ่”

อ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น