xs
xsm
sm
md
lg

“รศ.หริรักษ์” เตือนสติ อบจ.ไม่ได้มีอำนาจยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว ชี้ข้ออ้างแบกเสลี่ยงฟังไม่ขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความเตือนสติองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) กรณีแถลงการณ์ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว” ชี้ อบจ.ไม่ได้มีอำนาจยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวเองได้

วันนี้ (25 ต.ค.) มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Harirak Sutabutr” หรือ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นหลังเกิดประเด็นดรามากรณี องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นนายก ออกแถลงการณ์ “ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์”

โดยระบุใจความว่า “ผู้บริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยน่าจะเข้าใจผิดคิดว่า องค์กรตัวเองมีอำนาจที่จะยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยวในการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ได้

การแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือชาวธรรมศาสตร์อยากจะเรียกว่า ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ เป็นกิจกรรมประเพณีระหว่างสองมหาวิทยาลัยที่มีมาช้านานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เดิมนั้นจัดได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชนทั้งประเทศ เนื่องเพราะความแปลกใหม่ของรูปแบบงาน มีขบวนพาเพรด มีเชียร์ลีดเดอร์ มีดรัมเมเยอร์ มีขบวนล้อการเมือง และที่สำคัญคือมีการแปรอักษรของทั้งสองมหาวิทยาลัย ที่แม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยใดทำได้ดีเทียบเท่าสองมหาวิทยลัยนี้ ส่วนการแข่งขันฟุตบอลก็เข้มข้น ทั้งสองทีมเต็มไปด้วยนักฟุตบอลระดับชาติ เหมือนเอานักฟุตบอลทีมชาติแบ่งเป็น 2 ทีมมาแข่งกัน

แม้ปัจจุบันการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จะไม่ได้เป็นงานที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจเท่าในสมัยก่อน เพราะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นมากมาย แต่สำหรับศิษย์เก่าส่วนใหญ่ของทั้งสองมหาวิทยาลัยซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ยังคงให้ความสนใจอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

ผู้จัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ คือสมาคมศิษย์เก่า อันได้แก่ สมาคมธรรมศาสตร์ และสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสองสมาคมผลัดกันเป็นเจ้าภาพคนละปี แต่ละฝ่ายจะตั้งคณะกรรมการจัดงานขึ้น ประกอบด้วยกรรมกรสมาคม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตัวแทนชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนชมรมเชียร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทน อมธ. และ อบจ. ชุมนุมเชียร์ ชมรมเชียร์รับผิดชอบเรื่องการแปรอักษร และเชียร์ลีดเดอร์ของแต่ละฝ่าย องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ หรือ อมธ. และองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ อบจ.รับผิดชอบจัดขบวนพาเหรดล้อการเมือง และรวมถึงขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และขบวนอัญเชิญธรรมจักร ส่วนคณะกรรมการจัดงานฝ่ายเจ้าภาพก็จะจัดสถานที่ จัดพิมพ์บัตรเข้าชม จำหน่ายบัตร จัดถ่ายทอดสด และจัดหาสปอนเซ่อร์การแข่งขันและการถ่ายทอดสด

จะเห็นว่า องค์การบริหารสโสมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงมีหน้าที่จัดขบวนพาเหรดเท่านั้น ดังนั้น อำนาจการตัดสินใจของ อบจ.จึงมีเพียง ตัดสินใจไม่เข้าร่วมในการจัดงานฟุตบอลประเพณีเท่านั้น แต่หากจะต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงาน เช่น ต้องการให้ยกเลิกพิธีอัญเชิญพระเกี้ยว หรือพิธีอัญเชิญธรรมจักร จะต้องนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการจัดงานทั้งสองฝ่ายพิจารณา ไม่สามารถยกเลิกได้เอง

ไม่น่าเป็นไปได้ว่าองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ทราบความจริงข้อนี้ ที่น่าเป็นไปได้คือ อบจ.ต้องการแสดงจุดยืนที่จะไม่ให้ความสำคัญต่อสัญลักษณ์ พระเกี้ยว มากกว่า ข้ออ้างที่ว่าเป็นการแสดงความไม่เท่าเทียมกัน เพราะคนเชิญพระเกี้ยวต้องนั่งบนเสลี่ยง แล้วต้องใช้นิสิต 30 คนหาม ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เสลี่ยงก็ได้ สมัยก่อนก็ไม่ได้ใช้เสลี่ยง แต่มีหลายรูปแบบ นั่งบนรถก็มี รถเข็นก็มี ดังนั้นหากไม่ต้องการแสดงความไม่เท่าเทียมกันก็สามารถใช้วิธีอื่นแทนเสลี่ยงได้ ไม่ต้องยกเลิกแต่อย่างใด

อยากจะขอบอกว่า นิสิตจุฬาฯ ทุกคนเมื่อเลือกที่จะสอบเข้าศึกษาในสถาบันแห่งนี้แล้ว ก็กรุณาอย่าได้พยายามปฏิเสธความจริงว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นได้อย่างไร อย่าได้ปฏิเสธไม่ให้ความสำคัญต่อรากเหง้าของสถาบันที่เราเลือกที่จะเข้ามาศึกษา นั่นเพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถาบันของพวกคุณแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นของนิสิตคนอื่นๆ ที่อาจไม่เห็นตรงกับพวกคุณ ที่สำคัญคือยังเป็นของศิษย์เก่าอีกจำนวนมากมายมหาศาล ที่พวกคุณจะต้องเคารพความคิดและความรู้สึกของพวกเขาด้วย โปรดอย่าได้คิดว่าความคิดและการกระทำของพวกคุณเท่านั้น ที่เป็นความคิดและการกระทำที่ถูกต้อง”

คลิก>>โพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น