ในสงครามสมัยโบราณ ผู้ที่ต้องเสียชีวิตในสมรภูมิก็มักจะเป็นไพร่พลที่เข้าประจัญบานกับข้าศึก แต่แม่ทัพนายกองนั้นแม้จะเข้ารบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกำลังพลด้วย ก็มีหน่วยคุ้มกันที่แน่นหนา จึงยากที่จะถึงขั้นต้องเสียชีวิต แต่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย พงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ได้บันทึกไว้ว่า แม่ทัพไทยที่คุมทัพไปทำศึกเมืองทวาย และถูกตีร่นถอยมาถึงหน้าค่าย จะเข้าไปตั้งหลักในค่ายใช้ปืนยิงข้าศึก แต่ทางค่ายไม่ยอมเปิดประตูให้เข้า เลยหายสาบสูญไร้ร่องรอยไปในการประจัญบานที่หน้าค่ายนั้น จะว่าเสียชีวิตก็ไม่พบศพ หรือถูกจับไปก็ไม่ปรากฏหลักฐาน
ทวาย เป็นเมืองที่อยู่ชายแดนพม่ากับไทยด้านจังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากเป็นเมืองเล็กจึงไม่อาจต่อกรกับเมืองใหญ่ทั้ง ๒ ด้านได้ เมื่อฝ่ายไหนเข้มแข็งกว่า ทวายก็โอนไปขอซบ หรือเกิดไม่พอใจเมืองที่ซบอยู่ ก็ขอไปขึ้นกับอีกเมืองหนึ่ง เอนไปเอนมาอยู่แบบนี้
ในปี ๒๓๓๔ สมัยรัชกาลที่ ๑ ทวายขึ้นกับพม่า พระเจ้าอังวะตั้งขุนนางมาเป็นกรมการเมือง แต่คิดจะเปลี่ยน จึงส่งกรมการเมืองชุดใหม่มา ทำให้ แมงจันจา เจ้าเมืองทวายกับ จิกแค ปลัดเมืองชุดเก่าไม่พอใจ พอกรมการเมืองชุดใหม่มาก็จัดงานเลี้ยงต้อนรับให้ตายใจ แล้วให้ทหารล้อมจับฆ่าเสีย เมื่อความทราบถึงพระเจ้าอังวะก็ทรงพิโรธ รับสั่งให้จับ สะดุแมงกอง บิดาของแมงจันจาซึ่งรับราชการอยู่กับพม่าจะประหารชีวิต สดุแมงกองจึงกราบทูลขอมีหนังสือไปเรียกให้ลูกชายมาเข้าเฝ้า ถ้าไม่มาก็จะยอมรับโทษ
เมื่อแข็งเมืองต่อพม่า พระยาทวายก็เกรงว่าพระเจ้าอังวะจะส่งกองทัพมาตี จึงจัดขุนนางนำเครื่องราชบรรณาการมาขอขึ้นกับไทย พร้อมกับหนังสือจากแม่ชีรูปหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นพระราชภาคิไนย ซึ่งถูกพม่ากวาดต้อนไปเมื่อครั้งเสียกรุง และบัดนี้ได้หนีจากอังวะมาอยู่ที่ทวาย ให้ มหาแทน พระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งนำไปถวาย
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้เสนาบดีดูหนังสือที่พระราชภาคิไนยส่งมาถวาย และไต่ถามไล่เลียงมหาแทนแล้ว ได้ความชัดว่าแม่ชีเป็นพระธิดาของพระเจ้าขุนรามณรงค์ สมเด็จพระเชษฐา ซึ่งก็เป็นพระเจ้าหลานเธอแน่ จึงให้ถวายไตรจีวรเครื่องสมณบริกขารไปกับคณะทูต แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพ ถือพล ๕,๐๐๐ ออกไปช่วยรักษาเมืองทวาย
เมื่อพระยายมราชบอกกำหนดจะส่งพระองค์เจ้าชีกลับมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวรฯได้เสด็จไปรับที่แม่น้ำน้อย ครั้นไต่ถามทุกข์สุขพระเจ้าหลานเธอและข้าไทยที่ถูกกวาดต้อนไปและตามเสด็จกลับมาด้วยแล้ว ก็ให้สนมกรมวังนำส่งพระองค์เจ้าชีลงมากรุงเทพฯ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯขอนำทัพไปดูเหตุการณ์ทางเมืองทวาย
ครั้นกรมพระราชวังบวรเสด็จไปถึงเมืองทวาย ทรงพระพิจารณาการทั้งปวงแล้ว เห็นว่าจะรักษาเมืองทวายไว้ได้ยาก ทั้งพระยาทวายก็มีท่าทีหลุกหลิกไม่น่าไว้วางใจ จึงกลับมากราบทูลให้รื้อกำแพงเมืองลงทั้งหมด แล้วกวาดต้อนผู้คนลงมาให้อยู่ไกลเมืองทวาย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงห้ามทั้งรื้อกำแพงและกวาดต้อนผู้คน ให้รักษาเมืองทวายไว้เป็นที่พักและไว้เสบียงในการทำศึกต่อไป และโปรดเกณฑ์ทัพให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา ยกไปสมทบกับพระยายมราชที่เมืองทวาย ให้กรมพระราชวังบวรไปต่อเรือที่ศิงขร เร่งทั้งวันทั้งคืนเพื่อไปสมทบที่เมืองทวาย ทรงวางแผนจะไปตีเมาะตะมะ ร่างกุ้ง และอาจจะถึงอังวะ ตอบแทนที่พม่าระรานมาตลอดระยะเวลาที่สร้างเมืองหลวงใหม่ ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทางคะมองส่วย ตั้งค่ายที่หินดาด ห่างเมืองทวาย ๒ คืน
เมื่อเจ้าเมืองทวายไม่ยอมไปเฝ้าพระเจ้าอังวะตามจดหมายของบิดา มีข่าวว่าพระเจ้าอังวะจะเอาสดุแมงแกงบิดาเจ้าเมืองทวายเลื่อยเหมือนเลื่อยไม้ ทำให้พระยาทวายว้าวุ่น ส่วนชาวเมืองก็อลหม่านเมื่อรู้ข่าวว่าพม่ากำลังจะยกทัพมา กรมการเมืองบางคนลอบออกไปส่งข่าวกับกองทัพอังวะ
ขณะนั้นเมืองทวายกำลังขาดแคลนอาหาร เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา กับพระยายมราช จึงปรึกษากันที่จะส่งคนไปขนข้าวที่ฉางแม่น้ำน้อยมาช่วยบรรเทาความอดอยาก แต่ผู้ชายก็ติดหน้าที่รักษาเชิงเทิน จึงให้แต่พวกผู้หญิงลงมาขนข้าว แต่มีการปล่อยข่าวในหมู่ชาวเมืองว่า ไทยจะกวาดต้อนผู้หญิงไปไว้ที่แม่น้ำน้อย จึงเกิดความวุ่นวายต่อต้านไทยขึ้น เจ้าพระยามหาเสนาจับได้ว่า อ้ายวุ่นทอก คนพม่าในเมืองทวายเป็นคนปล่อยข่าว เลยจับเอามาเฆี่ยนเสีย ๓๐ ที ทำให้อ้ายวุ่นทอกโกรธแค้นหนัก ปลุกปั่นจนมีคนเชื่อกันมากขึ้น ถึงขั้นช่วยกันลากปืนใหญ่ยิงไปที่ค่ายไทย ฝ่ายไทยเห็นว่าตั้งค่ายอยู่ใกล้กำแพงมากไป เลยถอยค่ายออกมาให้พ้นทางปืน ก่อนที่จะเข้าไปปราบปรามในเมือง
ขณะที่ค่ายใหม่ของไทยสร้างยังไม่ทันเสร็จพม่าก็ยกทัพมาถึง คนเมืองทวายก็เข้าสมทบด้วย ทัพไทยต้องถอยร่นมาถึงค่ายพระยาอภัยรณฤทธิ์ ซึ่งเป็นกองหน้าทัพหลวงตั้งค่ายปิดทางอยู่ ทัพไทยจากทวายจะขอเข้าไปตั้งรับพม่าในค่าย แต่พระยาอภัยรณฤทธิ์ไม่ยอมเปิดประตูให้ อ้างว่าเป็นค่ายหน้าของทัพหลวง จะทำให้คนแตกตื่น ถ้าค่ายหน้าแตกแล้ว ข้าศึกก็จะตีไปถึงค่ายหลวง
กองทัพของเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยารัตนาพิพิธ และพระยายมราช จึงต้องตั้งรับพม่าอยู่นอกค่ายจนแตกพ่ายกระจัดกระจายกันไป รวมทั้งค่ายของพระยาอภัยรณฤทธิ์ก็แตกพ่ายไปด้วย เสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก ส่วนพระยามหาเสนาหายไปในการต่อสู้หน้าค่ายนี้อย่างไร้ร่องรอย
พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจะทำการต่อไปไม่ตลอด จึงโปรดให้ถอยทัพทั้งหมดลงมาที่แม่น้ำน้อย ครั้นทรงทราบเรื่องที่เจ้าพระยามหาเสนาที่ตรงตั้งให้เป็นสมุหพระกลาโหมเมื่อปราบดาภิเษกหายไป ก็ทรงพิโรธพระยาอภัยรณฤทธิ์ ดำรัสว่า เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง ๓ นายมาถึงแล้วควรจะให้เข้าอยู่ในค่าย นี่มันถือกฎหมายอะไรของมันไม่ให้เสนาบดีผู้ใหญ่เข้าค่าย จนเสียแม่ทัพนายกองและไพร่พลไปจำนวนมาก พระยาอภัยรณฤทธิ์ก็รับสารภาพผิด จึงให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิตที่ค่ายแม่น้ำน้อย ส่วนพระอินทรเดช พระยาอภัยมนตรีที่เห็นด้วยกับพระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้ถอดจากกรมพระตำรวจ แล้วนำไปจำคุกไว้ทั้ง ๒ คน ฝ่ายจมื่นราชาบาลและจมื่นสมุหพิมานที่ให้พระยาอภัยรณฤทธิ์เปิดประตูค่ายรับนั้น มีความชอบให้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์ต่อไป
ในที่สุดแผนงานใหญ่ที่จะตีไปให้ถึงเมืองอังวะ ก็ต้องยุติลงด้วยความผิดพลาดเล็กๆเช่นนี้ จะว่าไปแล้วความล้มเหลวของเรื่องนี้ก็มาจากการปล่อยข่าวบิดเบือนในเมืองทวายของอ้ายวุ่นทอกนั่นเอง ปั่นหัวคนจนลากปืนใหญ่ไปยิงค่ายไทย
ฉะนั้นจงระวัง “อ้ายวุ่นทอก” ยุคนี้ที่กำลังปั่นหัวคน