xs
xsm
sm
md
lg

"พงศ์พรหม" ไว้อาลัย "ม.ร.ว.ดิศนัดดา" ย้ำดอยตุงพัฒนาจนวันนี้ ไม่ได้เกิดจาก "ชี้นิ้วสั่ง" แต่คือความตั้งใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า เผยเรื่องราวครั้งพ่อเคยส่งไปดัดนิสัยกับ "ม.ร.ว.ดิศนัดดา" ที่ดอยตุง ได้เห็นความตั้งใจและทุ่มเททำงาน พัฒนา ช่วยเหลือผู้คน ย้ำดอยตุงพัฒนาจนวันนี้ ไม่ได้เกิดจาก "ชี้นิ้วสั่ง" แต่คือความตั้งใจ

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. เฟซบุ๊ก "Pongprom Yamarat" หรือ นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองหัวหน้าพรรคกล้า ได้โพสต์ "ผมเรียนรู้อะไรจากดอยตุง? การจากไปของคุณอาดิศนัดดา ดิศกุล ทำให้ผมอยากจะแชร์สิ่งที่ “ดอยตุง” เปลี่ยนแปลงผม จากเด็กไร้สาระล่องลอยกินเหล้าแล้วเท่ไปวันๆ ขี้วิจารณ์แต่ไม่ลงมือทำ มาเป็นคนที่จริงจัง และสนใจการแก้ปัญหารอบๆ ตัวในวันนี้ได้อย่างไร? ผ่านไปเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ผมขึ้นไปดอยตุงครั้งแรก ผมจะเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในความทรงจำผมให้ได้ดีที่สุด แม้ว่าอาจจะไม่จบใน 1 ตอน ยาวนิดนะครับ แต่มันคือความจริงที่ผมอยากบันทึกไว้ให้คนที่สนใจได้ทราบ หลายคนเข้าใจว่าเบื้องหลังดอยตุงสวยๆ ดอกไม้สวยๆ ในวันนี้ คือการที่คนรุ่นก่อนใช้การ “ชี้นิ้วสั่ง”

ตอนอายุ 18 ผมก็ไม่เข้าใจ จนเจอกุศโลบาย “พ่อตัวเอง” ส่งไปดัดนิสัยกับคุณอาดิศปีละ 2 ครั้ง ตอนอายุ 20 วัยรุ่นอายุ 20 ฮอร์โมนคึกคัก ไปดอยคือไปเที่ยว กะว่าไปกินหรู อยู่สบาย ถ่ายรูปสวยแน่ๆ แต่แม้ในปี 2536 ที่โครงการดอยตุงได้ผ่านการพัฒนาไปมากแล้ว สิ่งที่ผมพบ คือในขณะที่วัยรุ่นตื่นสาย 9 โมงอย่างผมตื่นมา คุณชายดิศ และคณะทำงานได้ประชุมงานเสร็จไปแล้ว 1 ประชุมตั้งแต่ 07.30 น. ในขณะที่ผมเที่ยวเหมือนนักท่องเที่ยวคนหนึ่่ง 2 ทุ่มอิ่มท้อง อาบน้ำ เตรียมเข้าห้องนอนตอน 3 ทุ่ม คุณชายดิศกำลังเริ่มประชุมสรุปงานสุดท้ายของวัน แม้คุณชายดิศจะบอกว่า “เฮ้ย โจ make yourself at home” พร้อมรอยยิ้ม แล้วเดินจากไปเสมอ แต่ผมเริ่มพบตัวเองว่าทำไมวัยรุ่นแรงเหลือเฟืออย่างผมถึงมีชีวิตด้วยการล่องลอยไปเรื่อยๆ แบบนี้เหรอ?

ในการเดินทางไปดอยตุงครั้งที่ 2-3 ผมเริ่มหันมาสังเกตการทำงานของคุณชายดิศตอนกลางวันมากขึ้น ผมเริ่มพบความเอาจริงเอาจัง “ไปซะทุกอย่าง” ของคนเหล่านี้ ภาพคุณชายใส่เสื้อม่อฮ่อมเป็นที่คุ้นตาของทุกคน เหตุที่ต้องใส่เสื้อแบบนี้เพราะคุณชายทำงานทั้งวัน ตั้งแต่ประชุม เดินลุยสวน ตรวจดูเครื่องจักร ดูผลิตภัณฑ์เกษตร ขลุกในฟาร์มปศุสัตว์ ไปจนถึงวิจัยพันธุ์พืชกับมหาวิทยาลัย และองค์กรข้ามชาติต่างๆ เมืองไทยร้อน เราต้องคล่องตัว อย่าไปเสียเวลากับเสื้อผ้า

รายละเอียดของพันธุ์กาแฟ พันธุ์แมคคาเดเมีย การเก็บ การพัฒนา การแปรรูป การช่วยเหลือคนท้องถิ่น การนั่งฟังเกษตรกร การโอบกอดหญิงสาวที่ติดเชื้อ HIV มาจากถูกบังคับค้าประเวณีที่ขอนแก่น กรุงเทพฯ นครปฐม และภาคใต้ การจับมือ ม.แม่ฟ้าหลวงในการพัฒนาการศึกษา การเชิญการเมืองระดับท้องถิ่นมาร่วมมือการพัฒนาท้องถิ่น โดยย้ำถึงการให้ช่วยกันหยุดธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ หยุดค้ายา หยุดตกเขียว “ตกเขียว” เป็นศัพท์ที่แพร่หลายในยุค 80-90 แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จัก การตกเขียวในวันนั้น คือสาเหตุใหญ่อันหนึ่งที่ทำให้ประชากรภาคเหนือมีปริมาณถดถอยมาจนปัจจุบัน ตกเขียวคือการที่กลุ่มธุรกิจค้ามนุษย์ขึ้นไปซื้อเด็กสาวตามดอยมาค้าบริการทางเพศ

ตลอดเกือบ 20 ปี เด็กสาวเหล่านี้ถูกนำไปขาย “หลายแสนคน” ว่ากันว่ากว่าครึ่งกลับมาตายที่บ้านเพราะ HIV ผมเองเคยเห็นการ “ต่อคิว” เผาศพทีละ 5 ศพกับตา อีกหลายคนถูกแมงดาซ้อมตาย ใครจำได้ที่ซ่องภาคใต้ไฟไหม้ แล้วเจอซากศพเด็กสาวจำนวนมากตายในสภาพถูกล่ามโซ่ไว้ แล้วจะเข้าใจถึง “ความวิกฤต” ในวันนั้นได้ดี รัฐบาลไม่ทำ นักการเมืองไม่ทำ แต่ดอยตุงทำ การหยุดการตกเขียว คือภารกิจหลักอีกอันของโครงการการพัฒนาดอยตุงที่คนรุ่นใหม่ไม่ทราบเลย “เรามาที่นี่ ไม่ใช่แค่ปลูกป่า แต่เราต้องปลูกใจ สร้างงาน พัฒนาอาชีพ สร้างความภูมิใจ ให้เขารักบ้านเกิด” สิ่งเหล่านี้ไม่ง่าย ไม่มีใครทำ แต่เราต้องทำ

ผมเริ่มพบโรงงานทำกระดาษสา ทอผ้า ทำของแต่งบ้าน พูดตรงๆ ที่คนรุ่นใหม่บอกว่า “การลงทุนโครงการหลวงต้องมีกำไรเยอะๆ ไม่งั้นไม่ต้องทำ” มันใช้กับที่นี่ไม่ได้เลย ที่นี่ขามีกำไรพอเลี้ยงตัว บางปีก็แทบไม่มีกำไร แต่ในจำนวนพนักงานหลายร้อยคนนั้น กว่า 85% เป็นผู้หญิง คุณชายดิศทำเพื่อเปลี่ยนสังคม ผู้หญิงที่ติด HIV มาก็ยังมีงาน มีคุณค่าในชีวิต มีแม้แต่ช่วยเรื่องยาต้าน HIV ตอนแรกๆ ผมกลัว แต่ตอนหลังๆ ผมก็พูดคุยกับคนที่ติด HIV มาแบบไม่กลัวแล้ว ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ผู้หญิงในหมู่บ้าน กลายเป็นผู้หญิงแถวหน้า ทำงานได้ มีรายได้เอง สามารถเอาประสบการณ์ไปประกอบกิจการต่อได้

การค้ายาก็ลด การตกเขียวก็ลด จากนั้นก็เอาโมเดลนี้ไปช่วยที่เมือง “หย่องข่า” ประเทศพม่าต่อในช่วงปี 2001 งานนั้นพ่อผมไปช่วยด้วย ถ้าใน “เลนส์” วัดงานของคนรุ่นใหม่ งานนี้ก็ขาดทุนอีก แต่มันไม่ใช่ คุณชายพูดตลอดว่าพรมแดนมันแค่สิ่งสมมติ แต่คน 2 พรมแดน เขาก็ญาติกัน ช่วยฝั่งนี้ ก็ต้องไปช่วยฝั่งนั้น แล้วปัญหาจะหมดไป แต่ถ้าเราเลือกปฏิบัติ แก้ปัญหาแต่ฝั่งไทย ขบวนการตกเขียวก็ยังไปซื้อเด็กฝั่งพม่าได้ ขบวนการผลิตยาเสพติดก็จะไปเติบโตฝั่งพม่าได้ คนไทยก็คน คนพม่าก็คน จะแก้อะไรก็ต้องแก้ให้เป็นระบบ เช้านี้ขอจบเท่านี้ก่อน แล้วจะค่อยๆ ทยอยเขียนนะครับ"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ซึ่งเป็นโอรสในหม่อมเจ้าดิศศานุวัติ ดิศกุล และหม่อมเจ้าลุอิสาณ์ ดิศกุล เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ย่างเข้าสู่วัย 83 ปี ได้เสียชีวิตอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น