xs
xsm
sm
md
lg

“อ.ไชยันต์” เปิดรายงานลับทูตอังกฤษ 14 ตุลา “ในหลวง ร.๙” ทรงเลือกยืนข้างนักศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อ.ไชยันต์” เปิดรายงานลับทูตอังกฤษเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่บทความ “บีบีซีไทย” ขาดหายไป ระบุชัด “ในหลวง ร.๙” ทรงเลือกยืนข้างนิสิตนักศึกษาและประชาชน แม้ต้องสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ พร้อมโต้เพจ “ทะลุฟ้า” บิดเบือนเขียนเพิ่มเติมเอง กล่าวหาพระองค์วางแผนทำตัวเป็นฮีโร่เพื่อซื้อใจประชาชน

วันที่ 15 ต.ค. 2564 ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...

สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปใน บทความเรื่อง “48 ปี 14 ตุลา เปิดรายงานลับทูตอังกฤษที่ส่งกลับลอนดอน” ของ BBC Thai

ในบทความเรื่อง “48 ปี 14 ตุลา เปิดรายงานลับทูตอังกฤษที่ส่งกลับลอนดอน” ของ BBC Thai วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564 มีข้อความบางตอนในเอกสารหมายเลข 10 ของเซอร์อาเธอร์ เดอ ลาแมร์ (Sir Arthur James de la Mare) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย (พ.ศ. 2513-2516) ที่ขาดหายไปจาก บทความเรื่อง “48 ปี 14 ตุลา เปิดรายงานลับทูตอังกฤษที่ส่งกลับลอนดอน” ของ BBC Thai

ข้อความที่ว่าอยู่ในหัวข้อที่ 10 ในเอกสารของเซอร์อาเธอร์ เดอ ลาแมร์ (ดูเอกสารแนบ)

ข้อความมีดังนี้

“10. …… จุดยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้า (เซอร์ อาเธอร์ เดอ ลาแมร์) ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า พระองค์ทรงตระหนักอย่างยิ่งในความต้องการของประเทศและทรงมีพระเกียรติยศและพระบารมีที่จะใช้ความเป็นผู้นำ ในสถานการณ์ที่พระองค์ทรงต้องเผชิญกับปัญหาร้ายแรงทางมโนธรรมที่ห้ามไม่ให้พระองค์แสดงบทบาทที่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงก็คือ เมื่อพระองค์ถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์กลางเดือนตุลาคม พระองค์ได้ทรงต้องใช้ความพยายามอย่างมากและทรงสามารถรับมือกับภาวะที่อันตรายฉุกเฉินได้ และพระองค์สมควรที่จะได้รับการยกย่องในสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำลงไป”

และ เดอ ลาแมร์ ได้ต่อท้ายด้วยข้อความในภาษาฝรั่งเศสว่า ‘Faut-il opter ? Je suis peuple’”

‘Faut-il opter ? Je suis peuple’ คืออะไร ?

เดอ ลาแมร์ยก ‘Faut-il opter ? Je suis peuple’ มาจากวรรณกรรมเรื่อง The Caractères ของ La Bruyere นักปรัชญาและนักศีลธรรมชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบเจ็ด

ประโยค ‘Faut-il opter ? Je suis peuple’ มาจากข้อความในย่อหน้าหนึ่งใน The Caractères ความว่า:

“A man of the people can not do any harm ; a great one does not want to do any good , and is capable of great evils . One will be shaped and will be exercised only in the things that are helpful ; the other there join the pernicious . There is show ingenuously the rudeness and the deductible ; Here is hiding a sap malignant and corrupt under the bark of the politeness . The people did not mind , and the great have developed soul : one - there is a good background ,and has developed from outside ; those - will have as the outside and that a single area . Must - he choose ? I don't hesitate : I want to be a people .”

“Must - he choose ? I don't hesitate : I want to be a people.”
นั่นคือ “หากเขาต้องเลือก ข้าฯไม่ลังเล ข้าฯต้องการเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง"

ในภาษาฝรั่งเศส คือ

Un homme du peuple ne saurait faire aucun mal ; un grand ne veut faire aucun bien, et est capable de grands maux. L’un ne se forme et ne s’exerce que dans les choses qui sont utiles ; l’autre y joint les pernicieuses. Là se montrent ingénument la grossièreté et la franchise ; ici se cache une sève maligne et corrompue sous l’écorce de la politesse. Le peuple n’a guère d’esprit, et les grands n’ont point d’âme : celui-là a un bon fond, et n’a point de dehors ; ceux-ci n’ont que des dehors et qu’une simple superficie. Faut-il opter ? Je ne balance pas : je veux être peuple.
ประโยค ‘Faut-il opter ? Je suis peiple’ ที่ เดอ ลาแมร์ ยกมาต่อท้ายข้อความที่เขาเขียนถึงสถานการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่เก้านั้น

เดอ ลาแมร์ ต้องการสื่อถึงสถานการณ์ร้ายแรงที่พระองค์ต้องเผชิญอยู่ในขณะนั้น นั่นคือ ระหว่างการเลือกที่เพิกเฉยต่อสถานการณ์ฉุกเฉินอันตรายโดยเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในกรอบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความปลอดภัยของสถานะพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ กับการเลือกที่จะตัดสินใจยืนอยู่ข้างนิสิตนักศึกษาและประชาชน โดยเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทำอะไรนอกกรอบรัฐธรรมนูญ

เดอ ลาแมร์ เห็นว่า พระองค์ทรงไม่ลังเลที่จะเลือกอย่างหลังเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของนิสิตนักศึกษาและประชาชน แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญของพระองค์ก็ตาม (ดังที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มในเวลาต่อมา พยายามย้อนกลับไปโจมตีการตัดสินใจในครังนั้นของพระองค์)

ขอย้ำว่า การที่ เดอ ลาแมร์ ยกประโยค ‘Faut-il opter ? Je suis peiple’ ขี้นมา ก็เพราะเขาต้องการย้ำในรายงานที่เขาส่งกลับไปยังลอนดอนว่า ตัวเขาเข้าใจในปัญหาความยุ่งยากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต้องเผชิญในเหตุการณ์เดือนตุลาฯ 2516 ว่า

เมื่อต้องเลือกระหว่างการรักษาสถานะความเป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของสถานะของพระองค์ กับ การเลือกรักษาชีวิตเลือดเนื้อของนิสิตนักศึกษาประชาชนและเพื่อยุติสถานการณ์ความวุ่นวาย พระองค์ทรงเลือกอย่างหลัง !

ขณะเดียวกัน เดอ ลาแมร์ ในฐานะที่เป็นคนอังกฤษ ก็กล่าวต่อไปอีกว่า เขาคิดว่า บทละครของเชคสเปียร์เรื่อง Hamlet น่าจะเป็นอะไรที่ทำให้เข้าใจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในขณะนั้นได้ดีกว่างานเขียนของ La Bruyere

เดอ ลาแมร์ กล่าวว่า มี Hamlet ภายในตัวพระองค์ท่าน นั่นคือ ในสถานการณ์ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ไม่ต่างจาก Hamlet ตัวละครเอกในบทละครชื่อเดียวกัน ที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ทางสองแพร่งที่ต้องเลือก ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใดทางหนึ่ง ก็มีผลเสียร้ายแรงตามมาทั้งสิ้น

ดังวรรคทองที่นักเรียนทั่วโลกที่เรียนเรื่อง Hamlet ท่องได้ขึ้นใจ นั่นคือ “To be, or not to be, that is the question.”

เป็นคำกล่าวของ Hamlet ในขณะที่เขากำลังครุ่นคิดกับสิ่งที่เขาต้องเผชิญในชีวิต และไม่ว่าจะเลือกเดินทางไหน ก็มีแต่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายทิ้งสิ้น

และ เดอ ลาแมร์ ได้กล่าวว่า เขาได้รับทราบมาว่า พระองค์ทรงแสดงออกซึ่งความ “หวาดวิตก” กับการที่พระองค์ไม่สามารถเคร่งครัดกับการธำรงรักษาบทบาทของพระมหากษัตริย์ตามกรอบของรัฐธรรมนูญไว้ได้

และแน่นอนว่า หากรัฐบาลใหม่และการเมืองหลังจากนั้น ไม่ดี ผู้คนก็ย่อมต้องโทษพระองค์ แต่กระนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าก็ทรงเลือก...ทรงกล้าที่จะเลือก..แม้จะรู้ว่าสุ่มเสี่ยงเพียงใด !

ป.ล.
และเมื่อเพจ “ทะลุฟ้า” นำบทความดังกล่าวของ BBC Thai มา ก็ได้ตีความและใส่ข้อความของตัวเองผสมลงไป ทำให้คนอ่านอาจเข้าใจไปว่าเป็นคำกล่าวของ เดอ ลาแมร์

ข้อความของ “ทะลุฟ้า” คือ “แต่อย่างไรก็ตาม เดอ ลาแมร์ ก็ได้พูดถึง ‘อำนาจที่เร้นลับของกษัตริย์’ (the mystic power of the crown) ไว้ด้วยเช่นกัน เพราะกษัตริย์นั้นดูเหมือนจะพยายามซื้อใจประชาชนด้วยการทำตัวเป็นฮีโร่ด้วยการแทรกแซงเพื่อยุติความรุนแรง

และนั่นก็อาจจะเป็นการวางแผนดึงประชาชนให้กลับมาอยู่ในพระบารมีตนเองอีกครั้ง และผลลัพธ์นั้นก็ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นที่ยกย่องของประชาชนในฐานะผู้ยุติความรุนแรง”

จริงๆ แล้ว ข้อความของ เดอ ลาแมร์ มีเพียง“But above all one must I think recognize in this extraordinary denouement the mystic power of the Crown.”

และไม่มีข้อความภาษาอังกฤษส่วนใดของ เดอ ลาแมร์ ที่จะแปลหรือสื่อความได้ว่า

“เพราะกษัตริย์นั้นดูเหมือนจะพยายามซื้อใจประชาชนด้วยการทำตัวเป็นฮีโร่ด้วยการแทรกแซงเพื่อยุติความรุนแรง และนั่นก็อาจจะเป็นการวางแผนดึงประชาชนให้กลับมาอยู่ในพระบารมีตนเองอีกครั้ง และผลลัพธ์นั้นก็ทำให้พระองค์ทรงกลายเป็นที่ยกย่องของประชาชนในฐานะผู้ยุติความรุนแรง”

อ่านประกอบ : บทความ 14 ตุลา 2516 : เปิดรายงานลับทูตอังกฤษว่าด้วย การปฏิวัติเดือนตุลาคม ของบีบีซีไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น