วันนี้วันแรกที่โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ปรับเพิ่มขึ้น ภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน ภาษีตามมูลค่า บุหรี่ถูกกว่า 72 บาทคิด 25% แพงกว่า 72 บาทคิด 42% อธิบดีกรมสรรพสามิตระบุ บุหรี่เก่ายังใช้ราคาเดิม มีผลเฉพาะบุหรี่ใหม่เท่านั้น พบเห็นร้านไหนชิงขึ้นราคาแจ้งมา จะไปตรวจสอบ
วันนี้ (1 ต.ค.) เป็นวันแรกที่ประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2564 ปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่่มีผลบังคับใช้ โดยจัดเก็บภาษีตามปริมาณจาก 1.20 บาทต่อมวน เป็น 1.25 บาทต่อมวน ขณะที่การเก็บภาษีตามมูลค่า 2 อัตรา จากที่เก็บ 20% ของราคาขายปลีกซองละไม่เกิน 60 บาท และ 40% สำหรับราคาขายปลีกที่เกิน 60 บาท เพิ่มเป็นเก็บ 25% ของราคาขายปลีกซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% สำหรับราคาขายปลีกที่เกิน 72 บาท
อย่างไรก็ตาม นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะไม่มีผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ปรับขึ้นทันที เนื่องจากบุหรี่ที่ขายในท้องตลาดขณะนี้เป็นสต๊อกเก่าที่เสียภาษีในอัตราเดิม จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะขายปลีกในราคาใหม่ โดยบริษัทบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศจะต้องเร่งส่งโครงสร้างต้นทุนและราคาขายปลีกแนะนำมาให้กรมพิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จึงจะสามารถปรับราคาขายปลีกบุหรี่ใหม่ได้ นอกจากนี้ ประเมินว่าโครงสร้างภาษีใหม่ดังกล่าวจะช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ประมาณ 2-3% และจะช่วยทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี แต่ยอมรับว่าอาจทำให้มีสินค้ายาสูบหนีภาษีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวด โดยจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ และส่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกของผู้ค้าบุหรี่ทั่วประเทศ เพื่อดูยอดคงค้างของบุหรี่ที่เสียภาษีในอัตราเดิมว่ายังมีจำหน่ายอีกนานเท่าไหร่ ประชาชนที่ซื้อบุหรี่สามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ว่าบุหรี่ที่ซื้อเสียภาษีในอัตราเดิมหรืออัตราใหม่ โดยใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดบนดวงแสตมป์ ข้อมูลการชำระภาษีก็จะปรากฏขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุหรี่ที่ซื้อมีการเสียภาษีก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2564 แต่มีการขายในราคาของอัตราภาษีใหม่ ให้ประชาชนสามารถแจ้งไปที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ หรือสายด่วนสรรพสามิต 1713 โดยกรมจะเข้าไปประเมินภาษีต่อไป
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับจุดตัดราคาจาก 60 บาทเป็น 72 บาทนั้น เนื่องจากกรมเห็นว่าจุดตัดราคาเดิมขายไม่มีกำไร โดยเชื่อว่าจุดตัดราคา 72 บาท จะเป็นช่วงราคาที่สามารถกำหนดราคาขายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทบุหรี่ โดยในส่วนของภาษีใหม่จะส่งผลให้ต้นทุนภาระภาษีต่อซองเพิ่มขึ้น 4-5 บาท ซึ่งถ้าบวกกำไรแล้วจะทำให้ราคาขายปลีกบุหรี่ขยับสูงขึ้น ก็เชื่อว่าจะส่งผลให้อัตราการบริโภคบุหรี่ลดลงถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ อัตราภาษีก็จะปรับเพิ่มเป็นอัตราเดียวที่ 40% ซึ่งคลังประเมินว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คนต้องต่อสู้กับโควิด-19 กำลังซื้อยังไม่เข้มแข็งพอ ก็จะเป็นการซ้ำเติม จึงต้องปรับในอัตราที่เหมาะสม โดย ครม.ได้ให้นโยบายว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ในอนาคตควรจะเป็นอัตราเดียว ได้มอบการบ้านให้กระทรวงการคลังและกรมว่าช่วงไหนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมุ่งสู่อัตราเดียว
"หากพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคา ในส่วนของร้านค้าปลีก สคบ.จะมีกฎหมายเข้าไปดูแล ด้านกรมหากตรวจพบก็จะมีการตักเตือน และถ้ายังฝ่าฝืนขายเกินราคาอยู่ก็จะมีการพักใช้ใบอนุญาต จนถึงขั้นสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการ กรมจะมีอำนาจตามกฎหมายสรรพสามิต มาตรา 86 (2) เข้าไปกำหนดโทษทั้งในส่วนของค่าปรับ 2 เท่า และเงินเพิ่ม 7.5%" นายลวรณระบุ