xs
xsm
sm
md
lg

แหล่งลักลอบทิ้งของเสียอันตราย จ.ลพบุรี ถูกตีความเป็น “โรงงาน” อาจเปลี่ยนมือหน่วยงานดำเนินคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตั้งข้อสังเกต กรมโรงงานฯ ตีความ “พื้นที่ลักลอบทิ้งของเสียอันตราย” ที่แยกมะนาวหวาน จ.ลพบุรี เป็น “โรงงาน” อาจเปลี่ยนมือหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินคดี


รายงานพิเศษ

ปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายครั้งใหญ่ ที่บริเวณแยกมะนาวหวาน ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งถูกเปิดเผยโดย “กรมควบคุมมลพิษ” มาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว โดยถูกจัดเป็นวาระที่สำคัญในที่ประชุมของกรมควบคุมมลพิษ และ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ตรวจสอบ

พร้อมเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ มีข้อมูลจากทะเบียนรถขนส่งที่นำของเสียอันตรายมาทิ้ง เป็นรถที่ขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดการแถลงข่าวถึงการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายที่ จ.ลพบุรี เช่นกัน โดยยืนยันทราบตำแหน่งของรถขนส่ง 3 คัน เป็นรถที่เครื่องติดตามแสดงตำแหน่งชัดเจนว่าเข้าไปถึงจุดทิ้งของเสีย และทราบด้วยว่าเป็นรถของบริษัทใด แต่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด


แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ คำแถลงของนายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตีความว่า พื้นที่ที่ถูกลักลอบทิ้ง เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโรงงาน เพราะมีเครื่องจักรขนาดมากกว่า 50 แรงม้า คือ รถแบคโฮ 2 คัน ดำเนินการขุด และมีการนำของเสียอันตรายมาฝังกลบ

ดังนั้น นอกจากจะดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดินในข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย ก็จะดำเนินคดีในข้อหา “ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม อีกด้วย

เกิดคำถามขึ้นมาในทางกฎหมายทันทีว่า จากการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายในที่ดินเอกชน กลายมาเป็นการประกอบกิจการโรงงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่างกันอย่างไร?

แล้วที่ดินโล่งๆ ที่มีรถเอาถังของเสียอันตรายมาเททิ้ง มีรถแบคโฮมาเจาะถัง ก่อนขายถังเปล่าออกไป กลายเป็นการประกอบกิจการโรงงานได้อย่างไร?

พูดง่ายๆ จากการ “ลักลอบทิ้ง โดยรู้เห็นกับเจ้าของที่ดิน” กลายเป็น “เอาของเสียอันตรายจากโรงงานหนึ่งมาไว้ในอีกโรงงานหนึ่งเพียงแต่ไม่ได้รับอนุญาต” แบบนี้ ใช่หรือไม่?


นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นต่อการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตีคความพื้นที่ลักลอบทิ้งเป็นการประกอบกิจการโรงงานว่า สามารถตีความเช่นนั้นได้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่า หากตีวามให้พื้นที่นี้เป็นโรงงานจะส่งผลต่ออำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี

“ถ้าดูตามข้อกฎหมาย กรมโรงงานฯ สามารถตีความเช่นนั้นได้ เพราะเข้าองค์ประกอบการประกอบกิจการโรงงานจริง มีเครื่องจักรกำลังมากกว่า 50 แรงม้าจริง มีการขุดเพื่อฝังกลับวัตถุอันตรายจริง แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อตีความให้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ แล้ว จะถือว่า พื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดกลายเป็นพื้นที่ในโรงงาน อำนาจในการตั้งข้อหา ฟ้องร้อง ดำเนินคดี หรือแม้แต่การฟื้นฟูพื้นที่ ก็จะเป็นอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น

แต่ถ้าดูข้อมูลเดิม กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยงานที่ติดตามตรวจสอบจากข้อร้องเรียนและตามสืบ ลงพื้นที่ จะเห็นว่า เจตนาเป็นการนำของเสียอันตรายออกจากโรงงาน มาลักลอบทิ้งในที่ดินเอกชน แม้จะมีการติดต่อกันล่วงหน้า แต่ก็เป็นการทิ้งในสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เขตโรงงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ หน่วยงานที่มีอำนาจฟ้องร้อง ดำเนินคดี หรือฟื้นฟูพื้นที่ คือ กรมควบคุมมลพิษ ดังนั้น การตีความว่าพื้นที่นี้เข้าข่ายเป็นโรงงาน จึงมีผลที่ตามมาคือ อำนาจในการจัดการถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือกรมโรงงานฯ” นายชำนัญ กล่าว

นายชำนัญ ย้ำว่า ที่ตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะระบุว่า อำนาจในการดำเนินคดีอยู่ที่หน่วยงานไหนจะดีกว่ากัน แต่ต้องชี้ให้เห็นว่า การตีความว่าพื้นที่ถูกลักลอบทิ้งเป็นโรงงาน อาจมีผลต่อการเข้าไปดำเนินการ และแน่นอนว่าจะมีข้อจำกัดต่อการเข้าไปทำงานของกรมควบคุมมลพิษอย่างแน่นอน

“ที่ผ่านมา มีหลายพื้นที่ที่พบการลักลอบทิ้งและฝังกลบของเสียอันตรายแบบเดียวกันนี้ แต่กลับไม่คยพบว่า มีการตีความเพื่อตั้งข้อหา ประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งใช้ในกรณีนี้” นายชำนัญ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น