xs
xsm
sm
md
lg

ผงะ! ของเสียอันตราย ย่านพัฒนานิคม ลพบุรี ลักลอบทิ้งมา 20 วัน พบโยงโรงงานกำจัดของเสียชื่อดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลักลอบทิ้งมา 20 วัน พบของเสียอันตราย อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กรมควบคุมมลพิษเร่งลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังพบความเชื่อมโยงกับโรงงานกำจัดของเสียชื่อดัง


รายงานพิเศษ

ถังบรรจุสารเคมีขนาด 200 ลิตร จำนวนมาก ถูกพบอยู่ในที่ดินแปลงหนึ่งในบริเวณที่เรียกว่า “แยกมะนาวหวาน” อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี แต่ละถังบรรจุสารเคมีที่เป็นของเหลว มีร่องรอยการทำลายเพื่อปล่อยให้สารเคมีไหลออกมาจากถัง บางส่วนถูกเทลงไปในบ่อน้ำ บางส่วนซึมลงไปพื้นดิน

สารเคมีที่พบมีหลายลักษณะ ทั้งเป็นของเหลวใสสีเหลือง ของเหลวสีดำ บางชนิดมีควันระเหยออกมาจากของเหลว มีลักษณะคล้ายกำลังเดือดด้วยความร้อน และมีบางส่วนเป็นผงคล้ายนมผง

นั่นเป็นสภาพที่เกิดเหตุลักลอบทิ้งของเสียอันตราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า เข้าไปตรวจสอบเพราะได้รับการร้องเรียนจากคนในพื้นที่ เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวส่งกลิ่นเหม็นจนแสบจมูก และสร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ใกล้เคียง

เมื่อเข้าไปตรวจสอบก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายจากโรงงนอุตสาหกรรม โดยพบถังขนาด 200 ลิตรจำนวนมาก พบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำซึ่งเปลี่ยนเป็นสีดำสนิท

ข้อมูลจากแหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ มีพื้นที่ 3-4 ไร่บางจุดมีสภาพเป็นหลุมเพราะมีรูปแบบการขุดหน้าดินไปขาย จนเมื่อประมาณ 20 วันที่ผ่านมา เริ่มพบรถบรรทุกวิ่งเข้าออกที่ดินแปลงนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ละคันจะขนถังขนาด 200 ลิตร มาจำนวนมาก แล้วเทลงพื้นทั้งถังในที่ดินแปลงนี้

จากนั้นก็มีรถแบ็คโฮมาเจาะถังให้สารเคมีไหลออกจากถัง ถังบางส่วนถูกนำไปฝังกลบในหลุม มีรายงานด้วยว่า เจ้าของที่ดินแปลงนี้ ถูกเรียกว่า “จ่า” หรือ “เสี่ย”

รถแบ็คโฮคันนี้ เขียนข้อความที่รถว่า “ขุนศึก” ซึ่งร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ระบุว่า คนขับรถแบ็คโฮ ได้มาติดต่อให้ไปซื้อถัง 200 ลิตร ในราคาใบละ 100 บาท แต่พอซื้อมาแล้วพบว่าเริ่มส่งกลิ่นเหม็น เมื่อเจาะดูพบมีสารเคมีออกมา จึงนำไปเข้าเตาหลอม

ชาวบ้านในพื้นที่ยังบันทึกภาพรถบรรทุกคันหนึ่งที่วิ่งเข้าไปในจุดลักลอบทิ้งไว้ได้ เป็นรถ 10 ล้อ สีฟ้า มีถังขนาดใหญ่สีเขียวอยู่ด้านหลัง มีข้อความเขียนติดที่ข้างรถว่า AEK

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ ทางกรมควบคุมมลพิษได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพร้อมเก็บตัวอย่างน้ำและดินไปส่งตรวจเพื่อดูว่าเป็นของวัตถุอันตรายชนิดใดบ้าง พร้อมไปแจ้งต่อตำรวจท้องที่เพื่อลงบันทึกประวัน จากนั้นก็จะแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

โดยเบื้องต้นพบว่า ต้องแจ้งดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดินแปลงนี้ก่อนในข้อหา “ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต” จากนั้นจึงจะทำการสอบสวนขยายผลต่อไปว่าเจ้าของที่ดินมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่นำของเสียอันตรายเหล่านี้มาทิ้งหรือไม่

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างการเข้าตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพรถบรรทุกต้องสงสัยพร้อมทะเบียนรถไว้ได้ 2 คัน เป็นรถที่ขับเข้าไปยังจุดที่พบของเสียอันตรายถูกนำมาทิ้ง ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2564 โดยหลักฐานนี้จะถูกนำไปสืบสวนขยายผลเพื่อค้นหาว่า รถบรรทุกเหล่านี้เป็นของใคร มาจากที่ไหน เพราะกลุ่มคนที่จะมีของเสียอันตรายลักษณะนี้ จะต้องเป็นผู้ประกอบกิจการโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรับกำจัดของเสียอันตราย


“โดยปกติแล้วผู้ประกอบการที่นำของเสียอันตรายมาลักลอบทิ้ง จะทำไปเพื่อลดต้นทุนค่ากำจัดซึ่งมีราคาแพง อย่างในกรณีนี้มีค่ากำจัดที่คำนวนคร่าวๆถึงประมาณ 100 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ก่อเหตุอาจเป็นโรงงานรับกำจัดเองที่รับของเสียอันตรายมากำจัดแต่ไม่นำไปกำจัดจริงก็ได้ และยังมุ่งเป้าไปที่ความเชื่อมโยงกับโรงงานรับกำจัดของเสียอันตรายที่ถูกตรวจสอบว่าทำผิดกฎหมาย ถูกสั่งปิด ถูกดำเนินคดีอยู่แล้วก่อนหน้านี้หรือไม่ เพราะเป็นโรงงานที่ไม่มีที่กำจัดของเสียเนื่องจากอยู่ระหว่างถูกสั่งปิด” อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าว

ประเด็นนี้ถูกยกเป็นประเด็นสำคัญในที่ประชุมของกรมควบคุมมลพิษในวันที่ 16 กันยายน 2564 โดย นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ ผอ.กองกฎหมาย กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยต่อว่า ได้ตรวจสอบหมายเลขทะเบียนรถบรรทุกทั้ง 2 คัน ที่บันทึกภาพไว้ได้ในวันที่ 9 กันยายนแล้ว จึงไปพบว่าเป็นรถขนส่งของเสียอันตรายที่อยู่ในฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีข้อมูลในระบบได้รับการว่าจ้างจะนำของเสียอันตรายเหล่านี้ไปกำจัดที่โรงงานแห่งหนึ่ง จึงจะประสานให้ตำรวจเรียกบริษัทของรถบรรทุกขนส่งมาสอบสวนทันที

นอกจากนี้ ทางกรมควบคุมมลพิษ ยังทราบ “ชื่อ” ของผู้ที่สั่งการแล้ว มีข้อมูลด้วยว่า มีรถขนถังเหล่านี้เข้ามาวันละ 5-8 เที่ยว เที่ยวละ 22 ตัน

โดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ จะลงพื้นที่ทันทีในวันที่ 17 กันยายนนี้ เพื่อติดตามทั้งกลุ่มคนที่นำของเสียอันตรายเหล่านี้มาลักลอบทิ้งและเจ้าของที่ดิน โดยเบื้องต้น นอกจากจะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย ความผิดตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข แต่การนำสารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมาทิ้งในที่ดินเช่นนี้ ยังอาจเข้าข่ายความผิดฐานประกอบกิจการโรงงานโรงไม่ได้รับอนุญาต ประกอบกิจการโรงงานที่เป็นอันตรายโดยไม่ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฐานความความผิดที่มีค่าปรับครั้งละ 1 ล้านบาท และมีผลค่าปรับรายวันอีกวันละ 1 แสนบาท
























กำลังโหลดความคิดเห็น