“นพ.ธีระวัฒน์” ย้ำเด็กควรได้วัคซีนเชื้อตาย ปลอดภัยกว่า แล้วค่อยกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย mRNA หรือแอสตร้าเซนเนก้า เตือนติดเชื้อแม้หายแล้ว ยังทิ้งความอักเสบทั่วร่างกาย ส่งผลอาการทางสมอง-กระตุ้นโรคเก่ากำเริบหนัก
วันที่ 15 ก.ย. 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโททัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “วัคซีนเด็ก mRNA หรือเชื้อตาย?”
โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จากข้อมูลจากประเทศฝั่งตะวันตก วัคซีน mRNA มีความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อบุหัวใจอักเสบ ในเด็กสูงสุด ส่วนผู้ใหญ่ความเสี่ยงตรงนี้จะน้อยกว่ามาก
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ถ้าเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที อาการอาจรุนแรงไม่มาก อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้อหัวใจในเด็กมีความหมายมาก เราไม่ทราบว่าจะมีผลต่อเนื่องไปถึงอนาคตของเด็กด้วยหรือเปล่า และอาจเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เพราะในเด็กนั้นติดง่าย แพร่เชื้อง่าย แต่ขณะเดียวกัน อาการหนักหรือเสียชีวิต เบาบางกว่ามาก
แต่ก็ความจำเป็นต้องให้เด็กได้รับวัคซีน โดยเฉพาะตั้งแต่ชั้นอนุบาลขึ้นไป ขณะนี้พบว่าแม้อาการไม่มากในขณะติดเชื้อ แต่เมื่อหายแล้วจะมีผลตามมาในระยะสัปดาห์หรือเดือน และอาจมีอาการต่อเนื่องเป็นปี ทำให้พัฒนาการของเด็กช้าลงหรือผิดปกติไป ที่สำคัญมีความผิดปกติทางสมอง ซึ่งตรงนี้ยอมรับไม่ได้เช่นกัน
การอักเสบที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อโควิด แม้เชื้อหายไปแต่เขาทิ้งเชื้อปะทุที่ทำให้เกิดการอักเสบ ไหลวนอยู่ในทุกอวัยวะ ขณะเดียวกัน ก็ซึมเข้าในสมอง ขณะนี้การวิจัยต่างๆ เริ่มทราบว่ากระทบต่อสมองอยู่ในตำแหน่งใจกลางสมอง ส่งผลทำให้ภาวะผิดปกติในระบบส่วนกลาง แล้วก็ย้อนกลับไปถึงอวัยวะส่วนปลายทั่วร่างกาย ขณะนี้ประเทศร่ำรวยทั่วโลก ตั้งงบประมาณพิเศษไว้เพื่อเยียวยาอาการหลังจากที่หายจากโควิดแล้ว
ใน กทม. ผู้ป่วยอาการหนักที่เป็นผู้ใหญ่ ดูน้อยลงก็ตาม แต่ตอนนี้เราต้องรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งอาการทางสมอง โรคเก่าก่อนติดโควิดกำเริบรุนแรง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในเด็กควรใช้วัคซีนเชื้อตายมากกว่า แน่นอนไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลุ่มอาการหัวใจอักเสบน่าจะไม่มีหรือมีน้อยมาก
วัคซีนเชื้อตายใช้กันมา 60-70 ปีแล้ว ในการป้องกันโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถฉีดในเด็กตั้งแต่ขวบนึงด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกัน ถ้าหากกังวลเรื่องความปลอดภัย สามารถใช้ปริมาณน้อยลงได้ โดยคงประสิทธิภาพเท่าเดิม ด้วยการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง โดยใช้ปริมาณแค่ 1 ใน 5 ของขนาดปกติเท่านั้นเอง
เมื่อฉีดเชื้อตายครบ 2 เข็ม ประสิทธิภาพครอบคลุมไม่มากนัก อาจกระตุ้นเข็มสามในเด็กด้วย mRNA หรือ แอสตร้าเซนเนก้า แต่ฉีดชั้นผิวหนังเหมือนเดิม โดยฉีดแค่ 1 ใน 10 หรือ 1 ใน 5
การศึกษาของหลายสถาบันตรงกัน การฉีดเข็มสาม พบว่า การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 0.1 CC ของแอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ สามารถกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันที่ไม่เหลือเลยหลังจากเพียงแค่ 2 เดือน กลับขึ้นมาสามารถยับยั้งไวรัสได้เต็ม สามารถครอบคลุมไปถึงสายพันธุ์อื่น เช่นสายพันธุ์เดลตา
สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม เสนอให้ฉีดเด็ก 3 ขวบขึ้นไป ตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. คาดว่าภายใน 21 ก.ย.นี้ จะทราบว่าอนุมัติหรือไม่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวด้วยว่า หากมีการเปิดเรียนเร็วๆ นี้ วัคซีนเชื้อตายปกติฉีดห่างกัน 1 เดือน แต่ภูมิจะขึ้นหลัง 1 เดือนของเข็มที่สอง หมายความว่า จะเปิดเรียนไม่ได้เลย ต้องรอ 1 เดือนหลังเข็ม สอง และยังไม่สามารถป้องกันเดลตาได้เช่นกัน
“มีความเป็นไปได้ที่ทำให้เชื้อตายเข็ม 1 และ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ห่างกันเพียง 7 วัน เป็นแบบแผนมาตรฐานในการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าอยู่แล้ว เมื่อหลังเข็มสองผ่านไปเดือนครึ่ง ก็ทยอยให้เข็มสามได้เลย จะทำให้กระบวนการรอสั้นลง ไม่ต้องรอ 2 เดือน ก็สามารถเปิดเรียนได้ วัคซีนเชื้อตายฉีดห่างกัน 7 หรือ 3 วันก็ยังได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ไทยบอกจะใช้ไฟเซอร์ให้เด็ก เกรงว่าจะเป็นการฉีดเต็มสูตรเข้ากล้ามเนื้อ ถ้าเกิดมีปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ ดูไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ที่ต้องใช้เต็มสูตร
ประเทศตะวันตกไม่มีเชื้อตาย ถ้าเราถือบริบทต่างประเทศก็ไม่มีเชื้อตายอยู่แล้ว เราอาจต้องมองประเทศจีน ซึ่งใช้ในเด็ก 2-3 ขวบด้วยซ้ำ