xs
xsm
sm
md
lg

อ.ปริญญา หนุน ส.ส.โหวตคว่ำประยุทธ์ ปิดสวิตช์ คสช.ชี้ 7 ปีผ่านไป ไม่ถูกตรวจสอบทรัพย์สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” เชียร์ ส.ส.ปิดสวิตช์ คสช. โหวตไม่ไว้วางใจประยุทธ์ อ้างประเทศจะได้เริ่มต้นใหม่ ชี้ 7 ปีผ่านไป นายกรัฐมนตรีไม่ถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน ทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และความโปร่งใสของระบบการเมืองของประเทศ

วันนี้ (3 ก.ย.) เฟซบุ๊ก Prinya Thaewanarumitkul ของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความหัวข้อ “เรื่องร้ายแรงที่สุดของพลเอกประยุทธ์ 7 ปีผ่านไป ประเทศไทยได้ระบบที่นายกรัฐมนตรีไม่ถูกตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน” ระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันท์โอชา โดนข้อกล่าวหามากมายอย่างที่แทบไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหนเคยเจอมาก่อน แต่เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าจะร้ายแรงที่สุด แล้วอาจจะยังไม่ได้มีการพูดถึงมากนักในการอภิปรายครั้งนี้ คือ เรื่อง #การทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุล และ #ความโปร่งใสของระบบการเมืองของประเทศ ครับ

ที่ชัดเจนที่สุดคือ การที่ ป.ป.ช.ไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พลเอก ประยุทธ์ ตอนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งที่สองหลังการเลือกตั้งในปี 2562 โดยประธาน ป.ป.ช. ชี้แจงว่า เพราะกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ไม่ได้ให้อำนาจ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบ

ทีแรกผมสงสัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พ.ศ.2561 ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และให้ความเห็นชอบโดย สนช. ที่เลือกมาโดย พลเอก ประยุทธ์ จะเขียนชัดเขียนไว้ชัดเจนอย่างนั้นเชียวหรือ เพราะดูจะน่าเกลียดเกินไป ผมจึงไปเปิดดูแล้วก็พบว่า เขียนไว้ให้ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้จริงๆ ครับ

โดยมาตรา 105 วรรคสี่ กำหนดว่า ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนใดพ้นตำแหน่ง แต่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรง “ตำแหน่งเดิม” หรือ “ตำแหน่งใหม่” ภายในหนี่งเดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยมีประโยคปิดท้ายว่า “แต่ไม่ต้องห้ามที่ผู้นั้นจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน” คือไม่บังคับให้ยื่น แต่ถ้าอยากยื่นก็ยื่นได้ ว่า ง่ายๆ คือขึ้นอยู่กับอำเภอใจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้นั้นว่าอยากจะยื่นหรือไม่ ซึ่งเป็นการเขียนกฎหมายที่ดูจะเอาใจผู้มีอำนาจจนน่าเกลียด

นี่เองทำให้ ป.ป.ช.ไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน พลเอก ประยุทธ์ ตอนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง รวมถึงรัฐมนตรีอีกบางคน และ ส.ว.จำนวนมากที่เป็น สนช. ไม่ได้ครับ

โดยหลักความโปร่งใส และหลักการที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องถูกตรวจสอบได้นั้น ใครยิ่งอยู่นาน ยิ่งเป็นหลายสมัย ยิ่งต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่ภายใต้กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่กลับตรงกันข้าม เพราะยิ่งเป็นต่อ ยิ่งเป็นหลายสมัยยิ่งตรวจสอบไม่ได้ นี่จึงทำให้ผมใช้คำว่าน่าประหลาด เพราะนอกจากจะตรงข้ามกับหลักการ แล้วยังเขียนไว้ตรงๆ แบบไม่ค่อยเกรงใจประชาชนเลย

แต่แม้ว่าจะไม่ได้บังคับให้ยื่นบัญชีทรัพย์ แต่ถ้าจะยื่นเพื่อเป็นหลักฐานก็ยื่นได้ ซึ่งเท่าที่เราทราบกัน คือ พลเอก ประยุทธ์ ก็ได้ยื่นให้ ป.ป.ช.แล้ว และก็มีคนไปขอคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารให้สั่ง ป.ป.ช.ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินพลเอกประยุทธ์ ซึ่งคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเห็นว่าเป็นข้อมูลสาธารณะ เมื่อสมัครใจยื่นมาแล้ว มีคนขอดูก็ควรเปิดให้ดูได้ แต่ ป.ป.ช. ก็ไม่ยอมเปิดเผยโดยประธาน ปปช.อ้างว่าไม่มีอำนาจ

ซึ่งอันนี้ก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะองค์กรอิสระทั้งหลายที่รัฐธรรมนูญ 2540 สถาปนาขึ้นมาให้มาตรวจสอบรัฐบาล ตอนนี้ก็กลายเป็นองค์กรที่ไม่ค่อยมีใครเชื่อว่าเป็นอิสระ เพราะล้วนแต่มีที่มาที่ยึดโยงกับ พลเอก ประยุทธ์ คือ มาจาก สนช. และ ส.ว.ที่พลเอก ประยุทธ์ เลือกไว้ทั้งสิ้น

ไม่ต้องพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่ต้นทางคือตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ปราบปราม จับกุม และตั้งข้อหา ที่อยู่ใต้อำนาจนายกรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ โดย 7 ปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไม่ยอมแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรเลย

ที่เมื่อ 7 ปีที่แล้วพูดกันว่าจะต้อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จนทำให้ พลเอก ประยุทธ์ ยึดอำนาจได้ และมีอำนาจมาจนทุกวันนี้ น่าจะสรุปกันได้เสียทีแล้วว่าเหลว แล้วยิ่งจะอยู่นานไปทั้งการเมืองและบ้านเมืองดูท่าจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่

7 ที่แล้วมีการพูดว่า ชัตดาวน์กรุงเทพฯเพื่อจะรีสตาร์ทประเทศไทย ผมว่าตอนนี้ถ้าจะรีสตาร์ทประเทศไทยที่เสียหายมา 7 ปีแล้ว จะยืมคำ 7 ปีที่แล้วมาใช้ว่า ต้องชัตดาวน์ พลเอก ประยุทธ์ ก็ดูก็จะแรงเกินไป จึงขอใช้คำว่า ชัตดาวน์ คสช. คือ ปิดสวิตช์ คสช.ให้จบไป ทั้งนี้ ในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญนะครับ ประเทศไทย และประชาธิปไตยจะได้ฟื้นตัวเสียที

ในการลงมติหลังการอภิปรายครั้งนี้ ท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าจะสังกัดพรรคไหน ก็สามารถช่วยกันปิดสวิตช์ คสช.ได้ หรือจะเรียกว่าเป็นการก้าวข้ามพลเอก ประยุทธ์ ก็ได้ เพื่อประเทศไทยจะได้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่ครับ

#อภิปรายไม่ไว้วางใจ”



กำลังโหลดความคิดเห็น