1. เลขาฯ ครม.-สนง.องคมนตรี ตีกลับหนังสือ อสส.ขอโปรดเกล้าฯ “ปรเมศวร์” ด้านองค์กรต้านคอร์รัปชัน ค้านตั้ง "ปรเมศวร์" ขึ้นผู้ตรวจอัยการ เหตุ ต้องคดีเมาขับรถชนแล้วหนี!
วันนี้ (21 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงอัยการสูงสุด เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการอัยการ โดยระบุว่า ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการอัยการและอัยการอาวุโสผู้มีความเหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ จำนวน 973 ราย โดยยังไม่ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายเนตร นาคสุข และนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม โดยแจ้งว่า เมื่อข้อเท็จจริงกรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นและการถูกดำเนินคดีอาญายุติแล้ว จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอัยการเพื่อพิจารณาว่า มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งใดต่อไป ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามที่เสนอ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แจ้งให้สำนักงานอัยการสูงสุดทราบแล้ว
ต่อมา สำนักงานอัยการสูงสุดแจ้งว่า การดำเนินคดีอาญากับนายปรเมศวร์ ถึงที่สุดแล้ว ส่วนกรณีความผิดทางวินัย อัยการสูงสุดมีคำสั่งว่า เป็นการกระทำความผิดวินัยเล็กน้อย ให้งดโทษ โดยให้ว่ากล่าวตักเตือน ตามนัยความเห็นของคณะกรรมการอัยการ และได้เสนอคณะกรรมการอัยการพิจารณาในการประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2564 และเห็นควรนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 เป็นต้นไป จึงขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตามมติคณะกรรมการอัยการ
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า กรณีสำนักงานอัยการสูงสุดขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายปรเมศวร์ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการเมื่อคราวที่ผ่านมา สำนักงานองคมนตรีได้เคยมีหนังสือขอให้ยืนยันความถูกต้องเหมาะสมในการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่ง ก่อนที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะขอถอนเรื่องดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งข้าราชการอัยการดังกล่าวในครั้งนี้ มีข้อมูลครบถ้วนถูกต้องตามความประสงค์ของสำนักงานองคมนตรี จึงขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดโปรดยืนยันความถูกต้องเหมาะสมในการแต่งตั้งนายปรเมศวร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ และแจ้งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เผยแพร่เอกสาร แสดงความเห็นคัดค้านการที่อัยการสูงสุดมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งมติการประชุมคณะกรรมการอัยการว่าเห็นชอบในการเลื่อนนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี ขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 เป็นต้นไป โดยระบุว่า “ฤ จะเป็นเสาหลักปักขี้เลน” เป็นเรื่องอันตรายและน่าเศร้าสลดมาก ต่ออนาคตของบ้านเมือง หากสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ดำรงอยู่เป็นเสาหลักความยุติธรรมที่มั่นคงยืนหยัดให้ประชาชน แต่กลับโอนเอนเป็นเสาหลักปักขี้เลนเพราะพวกพ้อง และผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงหลักการและเกียรติยศ จากกรณีการผลักดันแต่งตั้งอัยการระดับสูงขึ้นเป็น “ผู้ตรวจการอัยการ” ทั้งๆ ที่ถูกดำเนินคดีอาญา เพราะขับรถยนต์ในขณะมึนเมาแล้วชนผู้อื่น แต่เรื่องการแต่งตั้งยังไม่แล้วเสร็จ เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ
ล่าสุดเมื่อ 2 สิงหาคม 2564 อัยการสูงสุดได้มีจดหมายถึงเลขาธิการ ครม.ให้กราบบังคมทูลฯ อีกครั้ง โดยให้การแต่งตั้ง มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รองอัยการสูงสุด” ในเดือนกันยายนนี้ ความโปร่งใสที่ไม่เป็นธรรม คือ ความกล้าที่หยามเกียรติยิ่งกว่า!
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 อัยการระดับสูงท่านนี้ได้ขับรถยนต์ในขณะมึนเมาเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์และไม่หยุดลงมาช่วยเหลือ แต่มีชาวบ้านขับรถติดตามไปทัน ตำรวจตั้งข้อหาขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายจิตใจ ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน ขับรถเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ต่อมา พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องเฉพาะความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา โดยสั่งไม่ฟ้องข้อหาชนเเล้วหนี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จึงทำความเห็นแย้ง แต่อัยการสูงสุดชี้ขาดยืนตามอัยการจังหวัด
ต่อมา 29 เม.ย.2564 ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก จำคุก 1 ปี ปรับ 40,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจนเป็นที่พอใจ เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมง
อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขณะที่ทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีความเห็นแย้งให้ยื่นอุทธรณ์คดีขอให้ลงโทษสถานหนัก สุดท้ายอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่อุทธรณ์ คดีจึงยุติ เลือกปฏิบัติ หรือ ยุติธรรม? คุณธรรม อยู่ที่ไหน?
ผลจากคดีที่ฟ้องร้อง อัยการท่านนี้ยังถูกลงโทษทางวินัยให้ว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งฟังดูธรรมดามากที่ทำผิดแล้วโดนว่ากล่าวตักเตือน แต่มันเบามากเมื่อเทียบกับกรณีอัยการเมาแล้วกร่างให้ตำรวจพาไปร้านลาบ เมื่อปี 2560 กรณีนี้ไม่มีความผิดอาญาไม่ได้ถูกศาลพิพากษา ต้องถูกลงโทษไม่เลื่อนตำแหน่งนาน 2 ปี เพราะถือว่าทำผิดวินัยฐานกระทำการที่อาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ค. 2553 มาตรา 64 ประกอบมาตรา 74 อย่างนี้ ยึดหลักเท่าเทียมหรือเลือกปฏิบัติ!
...“อัยการ” คือเสาหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนเมื่อเกิดคดีความ จึงต้องชัดเจนในความถูกต้องตรงไปตรงมา ต้องประพฤติตนด้วยมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมขั้นสูง ยิ่งผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจสั่งการเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ยิ่งต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้เกิดการยอมรับศรัทธาต่อการปฏิบัติหน้าที่และวิชาชีพ
...อัยการจึงต้องเป็นหลักชัยแห่งความหวังที่ตั้งมั่นบนฐานความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เมื่อสามารถกลืนศักดิ์ศรีแห่งสถาบันได้ ก็ไม่ต่างจากเสาหลักปักขี้เลนที่ไม่นานก็อาจจะล้มจมหายไปในขี้เลน … เราจะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือ?"
2.“บิ๊กตู่” เจ็บปวดเห็นข่าวผู้เสียชีวิตจากโควิด ลั่นจะทำทุกทางเพื่อลดผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิต ด้านเจ้ากรมแพทย์ฯ ขออภัยปมไฟเซอร์!
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังหนัก โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,882 ราย มีผู้เสียชีวิต 209 ราย, วันที่ 16 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,157 ราย มีผู้เสียชีวิต 182 ราย, วันที่ 17 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,128 ราย มีผู้เสียชีวิต 239 ราย, วันที่ 18 ส.ค.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,515 ราย มีผู้เสียชีวิต 312 ราย, วันที่ 19 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,902 ราย มีผู้เสียชีวิต 301 ราย, วันที่ 20 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,851 ราย มีผู้เสียชีวิต 240 ราย ล่าสุด 21 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,571 ราย มีผู้เสียชีวิต 261 ราย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ว่า หลังเริ่มมาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. แม้ว่าจะมียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอยู่มากกว่า 20,000 คน แต่เริ่มจะเห็นสัญญาณของการชะลอตัว และมีสัญญาณของผู้ป่วยหายดีมากกว่าผู้ติดเชื้อรายวัน แต่สิ่งที่น่าห่วงคือตัวเลขผู้เสียชีวิต แม้จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของทั่วโลก แต่ยังมีบางวันยังขึ้นสูงอยู่ และทุกคนไม่อยากให้มีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุอีกว่า การที่จะสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้ ต้องมาจากความพยายามและร่วมมือของทุกคน เพราะการระบาดครั้งนี้มาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายรวดเร็วมาก คณะแพทย์ที่ปรึกษา สบค.จึงลงความเห็นว่า ช่วงเวลานี้ ประชาชนทุกคนไม่ว่าอยู่พื้นที่ใด เป็นคนกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ ต้องยกระดับการป้องกันตัวเองด้วยหลักการที่เรียกว่า ยูนิเวอร์ซัล พรีเวนชั่น (Universal Prevention) หรือการป้องกันโรคขั้นสูงสุด ครอบคลุมทุกคน ในการดำเนินชีวิตทุกเรื่องที่อาจเกิดความเสี่ยง
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุด้วยว่า “ผมเจ็บปวดและเศร้าใจทุกครั้งที่ได้อ่านข่าวผู้เสียชีวิตจากโควิด เป็นสิ่งเตือนใจผมตลอดเวลาว่า จะต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ ในการพยายามหาหนทางทุกๆ ทางที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงให้มากที่สุด ...ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ...ขอบคุณจิตอาสา ขอบคุณทุกคนที่เสียสละ เสี่ยงภัยอันตราย ผมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...จะหาทุกหนทางในการช่วยเหลือและแก้สถานการณ์ ให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพื่อไปสู่การฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจหลังโควิดโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าอุปสรรคครั้งนี้จะยากเพียงใดก็ตาม”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เป็นวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส กรอบวงเงิน 9,372 ล้านบาท ช่วงเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค.-ธ.ค. และรับทราบการสั่งซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส พร้อมมอบให้กรมควบคุมโรคลงนามกับผู้แทนบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และไบออนเทค โดยจะเริ่มทยอยจัดส่งในไตรมาส 4 ของปี 2564
นอกจากนี้ยังจะมีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 12 ล้านโดส โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้สามารถระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศได้ 100 ล้านโดสตามแผนเดิมที่วางไว้ เนื่องจากจอห์นสันแอนด์จอห์นสันไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้ได้ในไตรมาส 4 ตามที่ตกลงกันไว้ รวมถึงแอสตร้าเซนเนก้า ที่คาดว่ากำลังการผลิตจะได้ 10 ล้านโดส อาจลดลงมาอยู่ที่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ทำให้ต้องจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเสริมส่วนที่ขาดหายไป ประกอบกับมีการศึกษาพบว่า การฉีดวัคซีนสูตรผสม ระหว่างซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า จะทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันการเสียชีวิต ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง เพิ่มสูงขึ้น
ส่วนกรณีที่เกิดปัญหาตัวแทนบุคลากรด้านหน้าทางการแพทย์ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กว่า 10 คน ร้องเรียนข้อพิรุธการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ในเอกสารรายชื่อผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ไม่ได้มีแค่รายชื่อบุคลากรด่านหน้า แต่มีรายชื่ออื่นๆ ที่ปะปนเข้ามา ทำให้รายชื่อบุคลากรด่านหน้า ทั้งแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ประมาณ 100-200 ตกหายไปนั้น
พล.อ.ท.ธนวิวิตต สกุลแสงประภา เจ้ากรมแพทย์ทหารอากาศ ได้แถลงว่เมื่อวันที่ 16 ส.ค.โดยขออภัยและขอรับผิดในความบกพร่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทำให้เกิดความไม่พอใจ ยืนยันและขอให้ความมั่นใจกับบุคลากรด่านหน้าของ รพ.ว่า ภายในสัปดาห์นี้ จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่สาม 100% จากที่ได้รับการจัดสรร 3,700 เข็ม เรามีบุคลากรอยู่ประมาณ 2,000 กว่าคน ส่วนวัคซีนที่เหลือจะนำไปฉีดให้กับบุคลากรด่านสองและด่านสามของ รพ.ต่อไป
พล.อ.ท.ธนวิวิตต กล่าวด้วยว่า “เรื่องวัคซีนในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องดูแลลูกน้อง หากลูกน้องยังไม่ได้รับ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะนำวัคซีนตรงนี้ไปฉีดให้กับกลุ่มวีไอพี ถ้ามีคนไปทำแบบนั้นก็คงโง่เต็มทน และไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องไปให้วัคซีนคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่มีผู้ใหญ่ในกองทัพอากาศโทรศัพท์มาขอวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด”
3. ครอบครัวแถลง "ไฮโซลูกนัท" ตาขวาบอด เชื่อฝีมือ จนท. เตรียมฟ้องเอาผิด ด้านตำรวจชี้ บาดแผลคล้ายที่ ตร.ถูกยิงด้วยหัวน็อต!
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ครอบครัวธนากิจอำนวย ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กของนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท ว่า "ตามที่ได้ปรากฏข่าวสารเผยแพร่ทั่วไปเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ว่า นายธนัตถ์ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณใบหน้าและดวงตาจากการดำเนินการควบคุมและสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และแยกดินแดง กรุงเทพมหานคร จนต้องเข้ารับการตรวจรักษาจากคณะแพทย์นั้น
ขอเรียนว่า ที่ผ่านมา ทางครอบครัวและคณะแพทย์ผู้รักษายังไม่เคยให้ข่าวใดๆ กับสื่อมวลชนหรือบุคคลที่มิใช่สมาชิกในครอบครัว ฉะนั้น ครอบครัวธนากิจอำนวย จึงขอแถลงข้อมูลตามความเป็นจริง ดังนี้
ประการแรก นายธนัตถ์ ได้รับบาดเจ็บโดยมีบาดแผลฉีกขาดเป็นรูปครึ่งวงกลมที่บริเวณคิ้วขวา ลักษณะเกิดจากการถูกกระแทกด้วยวัตถุของแข็งไม่มีคม ลักษณะเป็นกระบอกกลม ซึ่งคณะแพทย์ผู้ตรวจรักษาได้ตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่า นายธนัตถ์ มีแผลบวมช้ำที่เบ้าตาขวาและมีบาดแผลฉีกขาดที่คิ้วขวา กระจกตาขวาฉีกขาด ลูกตาขวาแตก จอประสาทตาขวาลอก จากนั้น นายธนัตถ์ จึงได้เข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากคณะแพทย์ด้วยการผ่าตัดแล้ว
ปัจจุบันมีอาการเบื้องต้นปลอดภัยและทรงตัว แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์เพิ่มเติมต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน โดยแพทย์มีความเห็นว่า ภายหลังการรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ดวงตาข้างขวาของนายธนัตถ์ จะไม่สามารถมองเห็นได้อีก
ครอบครัวธนากิจอำนวยขอเรียนว่า นายธนัตถ์ ได้เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ส.ค. โดยมีเจตนาที่จะแสดงความคิดเห็นและชุมนุมอย่างสงบโดยยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีมาแต่แรกเริ่ม โดยตลอดการร่วมชุมนุม นายธนัตถ์ได้แสดงออกและพยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันและหลีกเลี่ยงพฤติการณ์ใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง หรือความเสี่ยงต่อความรุนแรง ความวุ่นวาย และความเสียหายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ดังที่ได้ปรากฏหลักฐานเป็นที่รับทราบโดยทั่วไป
ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) หรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องนั้นจะมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวโดยเคารพและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยโดยรวมของประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ได้เลือกใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมหลายประการที่มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายของผู้เข้าร่วมชุมนุม เช่น การยิงแก๊สน้ำตา หรือการยิงกระสุนยางเข้าใส่กลุ่มประชาชนผู้ชุมนุม ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์การใช้ความรุนแรงถึงระดับที่จะเป็นเหตุให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่มีความรุนแรงในการสลายการชุมนุมดังกล่าว
หรือหากแม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในขณะนั้นอยู่ในสภาวะที่จำเป็นจะต้องใช้มาตรการยิงแก๊สน้ำตา หรือยิงกระสุนยางก็ตาม การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็จะต้องกระทำไปตามหลักการและมาตรฐานสากล กล่าวคือ ในการปฏิบัติการยิงแก๊สน้ำตานั้น ต้องใช้วิธีการยิงแบบวิถีโค้งในลักษณะโพรเจกไทล์ (Projectile) โดยต้องไม่ทำการยิงวิถีตรงหรือเล็งเข้าหาตัวบุคคลอย่างเด็ดขาด และในส่วนของการยิงหรือใช้กระสุนยางนั้น ต้องเล็งยิงไปในบริเวณที่ต่ำกว่าเอวหรือบริเวณขาเท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง ต้องห้ามยิงจากที่สูงหรือมุมสูงโดยเด็ดขาด ซึ่งในกรณีของนายธนัตถ์ เกิดจากการยิงแก๊สน้ำตาที่ไม่ใช่การยิงแบบวิถีโค้ง จนเกิดเป็นความเสียหายที่ไม่อาจประเมินได้นั่นเอง
ดังนั้น นายธนัตถ์ และครอบครัวจึงเห็นว่า การใช้มาตรการสลายการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้กําลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่เกินจําเป็น ไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับแนวทางสากลในการจัดการและควบคุมฝูงชน ทั้งยังเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมาก รวมถึงนายธนัตถ์ ได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของประชาชน
ด้วยเหตุนี้ นายธนัตถ์ และครอบครัวจึงมีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งในคดีอาญา คดีแพ่ง และคดีอื่นใด กับบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อนายธนัตถ์ เนื่องจากการใช้อำนาจหน้าที่ การปฏิบัติการ และการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจนถึงที่สุดในทุกวิถีทาง
โดยมีเจตนาเพื่อที่จะให้เป็นบรรทัดฐานและแบบอย่างในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตน และอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสามารถแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ รวมถึงเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของนายธนัตถ์ และครอบครัวตามกรอบของกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญ..."
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวถึงกรณีบาดแผลของนายธนัตถ์ หรือไฮโซลูกนัทมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม ซึ่งเจ้าตัวเชื่อว่าถูกวัตถุของแก๊สน้ำตาจนทำให้ตาบอดว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับบาดแผลของตำรวจที่ถูกยิงด้วยลูกน็อต ถ้าเกิดจากแก๊สน้ำตาจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ บาดแผลจะต้องมีร่องรอยการเผาไหม้ เนื่องจากอุปกรณ์แก๊สน้ำตามีความร้อน และมีร่องรอยสารเคมีอันเป็นส่วนประกอบของแก๊สน้ำตาจำนวนมาก ขณะนี้ต้องให้แพทย์ได้ทำการตรวจรักษา แล้วลงความเห็นว่า เกิดจากวัตถุชนิดใดกันแน่ ทั้งนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. มีความห่วงใยในเรื่องสุขภาพ และการสืบสวนดำเนินคดีหาตัวผู้ก่อเหตุ ได้รับคำร้องทุกข์ไว้เรียบร้อยแล้ว
4. ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องนายกฯ ปมย้าย "บิ๊กโจ๊ก" ชี้เป็นคำสั่ง คสช. ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง และนายกฯ สั่งย้ายกลับแล้ว หมดเหตุฟ้อง!
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ศาลปกครองกลางได้พิพากษาคดีที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งโอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ขอให้ทบทวนคำสั่งโอนย้าย นายกรัฐมนตรี และปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้พิจารณาดำเนินการสั่งให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นเดิม
โดยศาลปกครองกลาง เห็นว่า ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) เป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ซึ่งงานในหน้าที่ราชการของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เมื่อครั้งขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีลักษณะงานเทียบเท่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง
แต่งานในหน้าที่ราชการของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) มีเพียงเล็กน้อย ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เมื่อเทียบกับผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดี หรือตำแหน่งรองปลัดกระทรวง ตลอดจนในขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการปฏิรูปราชการแผ่นดินแล้วกำหนดตำแหน่งหน้าที่อื่นให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ปฏิบัติหน้าที่ราชการแต่อย่างใด
อีกทั้งขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ รับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือในขณะที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่ได้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรืออยู่ในระหว่างดำเนินการทางวินัยของผู้บังคับบัญชา จึงเห็นว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะดำรงตำแหน่งในกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้า ท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค.62
การที่ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือลงวันที่ 26 ส.ค.63 เสนอเรื่องที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ขอโอนกลับไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานเดิมให้นายกรัฐมนตรี พิจารณา และในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 ธ.ค.63 และหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค.64 ถึงนายกรัฐมนตรีมีเนื้อหาใจความทำนองเดียวกันกับหนังสือ ลงวันที่ 26 ส.ค.63 เพื่อให้พิจารณาเรื่องที่ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ขอกลับไปปฏิบัติงานในสังกัดเดิม กรณีจึงถือว่า ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาเรื่องของผู้ฟ้องคดีแล้ว ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์
ส่วนกรณีของนายกรัฐมนตรีนั้น เมื่อได้รับหนังสือของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ลงวันที่ 20 ส.ค.63 แล้ว รวมทั้งได้รับความเห็นดังกล่าวของปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้า ท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค.62 แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีคำสั่งว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ มีความจำเป็นที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) หรือไม่ จึงถือว่า นายกรัฐมนตรีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และเป็นการกระทำละเมิดต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ด้วย
แต่ปรากฏว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฯ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 5 มี.ค.64 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 มี.ค.64 เห็นชอบตามข้อเสนอของปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 1 วรรคห้า ของบัญชีห้า ท้ายคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค.62
และต่อมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้โอนกลับไปรับราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ 9) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว เหตุแห่งการฟ้องคดีจึงหมดสิ้นไป ศาลไม่อาจกำหนดคำบังคับให้นายกรัฐมนตรี ไปดำเนินการเพื่อมีคำสั่งให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับไปปฏิบัติงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมได้อีกตามนัยมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
ส่วนนายกรัฐมนตรีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการไม่พิจารณาคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2563 ลงวันที่ 9 เม.ย.62 ใหม่ ตามหนังสือของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ลงวันที่ 20 ส.ค.63 และเป็นการกระทำละเมิดต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ อันเนื่องจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่นั้น
ศาลฯ เห็นว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค.58 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2562 ลงวันที่ 9 เม.ย.62 ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมตามข้อ 5 และให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อโอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทบริหารระดับสูง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นักบริหารระดับสูง) ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค.58 เป็นคำสั่งที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของมาตรา พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นายกรัฐมนตรี จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาใหม่คำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามนัยมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรในการพิจารณาใหม่ตามหนังสือของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ลงวันที่ 20 ส.ค.64 และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ พิพากษายกฟ้อง
5. ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต “สาธิต รังคสิริ” อดีตอธิบดีสรรพากร ทุจริตคืนภาษี ให้ชดใช้ 3 พันล้าน!
เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามทุจริต 1 ยื่นฟ้องนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร จำเลยที่ 1, นายศุภกิจ หรือสิริพงศ์ ริยะการ หรือริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 จำเลยที่ 2, นายประสิทธิ์ อัญญโชติ จำเลยที่ 3, นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ จำเลยที่ 4 ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 20 พ.ค.2555 ถึงวันที่ 26 ต.ค.2556 พวกจำเลยร่วมกันและสนับสนุนการกระทำความผิด คือ ร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงข้อความเท็จหลอกลวงกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรและเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรและรัฐโดยทุจริต
นายสาธิต จำเลยที่ 1 และนายศุภกิจ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ทราบดีถึงความเท็จดังกล่าวมาแต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจด้วยการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและทุจริต โดยจำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจของตนสั่งการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสถานประกอบการเกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอความเห็นยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพกิจการของบริษัท จำนวน 25 บริษัท ที่ขอคืนภาษีและคืนภาษีให้แก่บริษัท นิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ทั้งที่ยังมีข้อสงสัยว่า เป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่
ส่วนนายสาธิต จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมสรรพากร ทราบดีว่า การดำเนินการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนตามแนวทางปฏิบัติและระเบียบกรมสรรพากร และเมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้รายงานมายังจำเลยที่ 1 กลับสั่งการให้สำนักงานตรวจสอบภาษีกลางไปตรวจสอบใบขนสินค้าขาออกกับกรมศุลกากรว่า มีการส่งออกจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นการสั่งการที่จงใจให้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งที่ข้อสำคัญจะต้องสั่งการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ผู้ขอคืนภาษีประกอบกิจการจริงหรือไม่ ขัดต่อแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรในการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการและให้เป็นปัจจุบัน แต่จำเลยที่ 1 กลับละเว้นไม่สั่งการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ผลตรวจสอบใบขนส่งสินค้าขาออกตามที่จำเลยที่ 1 สั่งการก็ไม่ได้ข้อเท็จจริงยืนยันว่า มีการขนส่งสินค้าออกจริงหรือไม่ กรณีดังกล่าวจึงไม่สามารถอนุมัติคืนภาษีได้ หากไม่มีธนาคารมาค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้ง ทั้งยังอาศัยอำนาจของตนในการบังคับบัญชาข้าราชการของกรมสรรพากรเข้ามาติดตามเร่งรัด พร้อมทั้งมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งโดยเร็ว
พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้น ไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการฉ้อฉลนั้นถูกปกปิด จนในที่สุด จำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง
ในการนี้ นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กับพวกได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ไปแบ่งปันกันโดยทุจริตกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริต ไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว
การกระทำของพวกจำเลยเป็นการใช้อำนาจของตนไปโดยมิชอบและทุจริตเบียดบังเงินของรัฐที่อยู่ในอำนาจจัดการดูแลเก็บรักษาของตน ไปเป็นของตนเองและบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลังและรัฐได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,097,016,533.99 บาท ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ริบของกลางทองคำแท่ง น้ำหนัก 77 กิโลกรัม และทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ กับให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงินที่เบียดบังเอาไปและยังไม่ได้คืน จำนวน 3,097,016,533.99 บาท แก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
พิพากษาว่า การกระทำของนายสาธิต จำเลยที่ 1 และนายศุภกิจ จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตหรือโดยทุจริต ยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นบทหนักซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย ลงโทษจำคุกนายสาธิต จำเลยที่ 1 และนายศุภิจ จำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต
ส่วนจำเลยที่ 3 ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน
นอกจากนี้ให้จำเลยที่ 1, 2, 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 3,097,016,533.99 บาท แก่กรมสรรพากร และให้นับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำ ฟย.23/2560 (หมายเลขแดง ฟย.47/2561) ของศาลอาญา และริบของกลางทองคำแท่งน้ำหนัก 77 กิโลกรัม ทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ ตามคำขอท้ายฟ้อง และทองคำแท่งทุกรายการที่ส่งมอบแก่คณะกรรมการจัดการทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องนายกิติศักดิ์ จำเลยที่ 4
ต่อมานายสาธิต จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยใช้เงินสด 800,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน เพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นได้ส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา