พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ทรงใช้เวลาศึกษาอยู่ที่อังกฤษถึง ๙ ปี นอกจากทรงสำเร็จวิชาการทหารแล้ว ยังศึกษาต่อวิชาพลเรือนที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด ตามหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยจัดถวายพระราชวงศ์อังกฤษ ทั้งยังศึกษาหลักสูตรเช่นนิสิตทั่วไปด้วย ประกอบด้วยวิชาประวัติศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ส่วนวิชาการปกครองนั้นทรงเน้นหนักในเรื่องการปกครองของอังกฤษและการปฏิวัติฝรั่งเศสโดยละเอียด
หลังจากสำเร็จการศึกษาทั้งด้านการทหารและพลเรือนแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินดูงานในหลายประเทศ ครั้งหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ระหว่างพระราชดำเนินโดยเรือโดยสารข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากเมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ ไปเกาะซิชิลี ประเทศอิตาลี ได้ทรงรู้จักกับนายวิลเลียม พอตเตอร์ อดีตอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงโรมและครอบครัว ซึ่งโดยสารมาในเรือลำเดียวกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ครอบครัวพอตเตอร์ตามเสด็จไปถึงกรุงปารีส และทรงจัดให้เข้าร่วมกับพระสหายชาวต่างชาติอีกกว่า ๑๐๐ คน ร่วมกันทดลองจัดการปครองแบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ทรงเรียกการทดลองครั้งนั้นว่า “The New Republic” หรือ “สาธารณรัฐใหม่” มีพรรคการเมือง ๒ พรรค คือพรรคสาธารณรัฐ หรือ พรรคผีเสื้อ กับพรรคนิยมกษัตริย์ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ให้สมาชิกของทั้ง ๒ พรรคอภิปรายแสดงความคิดเห็นกัน
เมื่อเสด็จกลับมาไทยแล้ว ขณะดำรงพระยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ก็ยังทรงจัดให้มีการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกหลายคราว เริ่มจากปี ๒๔๔๖ ทรงนำการทดลอง “The New Republic” จากกรุงปารีสมาทดลองกับข้าราชบริพารในพระองค์ที่ “เมืองมัง” ซึ่งทรงย่อมาจาก “มังโก” หรือมะม่วง เพราะทรงจัดขึ้นที่สวนอัมพวัน ด้านหลังของพระตำหนักจิตรลดา โปรดให้สร้างเป็นเมืองจำลองประกอบด้วยหมู่บ้านต่างๆขึ้น แต่การทดลองครั้งนี้มีอายุเพียง ๑ ปีก็ต้องยุติลงเพราะทรงผนวช
ในปี ๒๔๔๙ ทรงเริ่มนำระบบพรรคการเมืองและวิธีการประชุมของรัฐสภาอังกฤษมาทดลองปฏิบัติที่ “สมาคมครึ” ในพระตำหนักจิตรลดา มีสมาชิกกว่า ๑๐๐ คน ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่เคยไปศึกษาดูงานที่ประเทศอังกฤษ ทรงกำหนดให้ทุกคนเป็นผู้แทนของเมืองใดเมืองหนึ่ง และต้องสังกัดพรรคการเมือง มีพรรคสุภาพบุรุษและพรรคแรงงาน ทรงจัดให้มีการเลือกตั้งทุกเดือน พรรคใดได้รับการเลือกตั้งมากกว่า ก็ส่งสมาชิก ๙ คนเข้าบริหารสมาคม
ต่อมาในปี ๒๔๕๐ ทรงรื้อฟื้น “เมืองมัง” ขึ้นอีกครั้ง โปรดให้สร้างเรือนแถวยาวขึ้นในบริเวณสวนอัมพวัน มีข้าราชบริพารในพระองค์พักอยู่ห้องละ ๒ คน ดำเนินการบริหารแบบ “นคราภิบาล” ประกอบด้วย นคราภิบาล หรือนายกเทศมนตรี โยธาภิบาล เลขาธิการ เชษฐบุรุษ หรือผู้แทนราษฎร มีกองตำรวจดับเพลิง หนังสือพิมพ์ และธนาคาร เพื่อฝึกข้าราชบริพารในพระองค์ให้รู้จักการออมทรัพย์ด้วย
ในปี ๒๔๖๑ โปรดเกล้าฯให้สร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้นบนพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่งโดยรอบพระที่นั่งอุดรภาค ภายในพระราชวังดุสิต ต่อมาในปี ๒๔๖๒ จึงย้ายไปสร้างที่ด้านหลังพระราชวังพญาไท ในเนื้อที่กว่า ๔ ไร่ มีทวยนาครหรือพลเมือง ประกอบด้วยข้าราชการในพระราชสำนัก เสนาบดีจากกระทรวงต่างๆ มีจำนวนประมาณ ๓๐๐ คน ทุกคนล้วนมีอาชีพการงานและบ้านช่องอยู่ในดุสิตธานี ซึ่งประกอบไปด้วย วัด โรงพยาบาล โรงทหาร โรงเรียน ธนาคาร ร้านค้าฯ ที่สร้างขึ้นหลากหลายรูปแบบ ในอัตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐ ของอาคารจริง โปรดให้ทวยนาครมาพร้อมกันเลือกตั้งนคราภิบาลเพื่อทำหน้าที่บริหารดุสิตธานีเป็นครั้งแรกในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๖๑
หลังจากที่นคราภิบาลได้บริหารงานมาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว เมื่อทรงทราบถึงผลการทดลอง ก็ทรงโปรดเกล้าฯให้ตรา “ธรรมนูญลักษณปกครองคณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช ๒๔๖๑” ขึ้น ซึ่งการทดลองที่ดุสิตธานีนี้ได้ดำเนินตลอดมาจนสิ้นรัชกาล
ทั้งนี้ที่ทรงทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ปารีสถึงกรุงเทพฯ ก็เพื่อทรงฟังความเห็นของทั้งเทศและไทย หารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย เป็นการเตรียมพร้อมที่ทรงมีพระราชปณิธานจะพระราชทานการปกครองที่เหมาะสมกับยุคสมัยแก่ปวงชนชาวไทยในวาระสมโภชสิริราชสมบัติครบ ๑๕ ปีในปี พ.ศ. ๒๔๖๘
ผลจากการศึกษา ดูงาน และการทดลองต่างๆของพระองค์นี้ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ในเดือนมีนาคม ๒๔๕๔ เป็นพระราชวิจารณ์เรื่องรูปแบบการปกครองต่างๆ มีข้อความบางตอนว่า
“...คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเข้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ จะยกมาว่าแต่พอเปนสังเขปก็มีอยู่คือ
๑.ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะปกครองตนเองได้ เพราะฉนั้นอาจที่จะใช้อำนาจอันอยู่ในมือตนในหนทางที่ผิดวิปลาศ บางทีสิ่งซึ่งต้องการให้มีขึ้นฤาให้เปนไป จะไม่เปนสิ่งที่นำประโยชน์มาสู่ชาติ ฤากลับจะให้โทษ แต่ประชาชนมีความเห็นพร้อมๆกันมาก ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของพวกมาก...
๒.ประชาชนรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจทุกๆคน จึ่งไว้ใจมอบอำนาจให้บุคคลบางคนถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นแทน บุคคลเหล่านี้คือที่เลือกสรรให้เข้าไปนั่งในรัฐสภา (ปาร์ลิย์เมนต์) เปนผู้แทนประชาชน ผู้แทนเช่นนี้ ถ้าแม้ว่าประชาชนรู้จักจริง รู้แน่นอนว่าเปนคนดีจริงแล้ว จึ่งเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนตน ดังนี้ก็จะไม่มีที่เสียหายจะบังเกิดขึ้นได้เลย แต่ตามความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่... ต่างคณะจึ่งต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก และต่างคณะจึ่งต่างคิดดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้เห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาสทำการโดยสดวก เมื่อกล่าวมาถึงแค่นี้แล้ว ก็ยังไม่มีสิ่งไรที่นับว่าเสียหายอันจะบังเกิดมีมาได้จากการใช้วิธีเช่นนี้ และถ้าความเปนจริงเปนไปแต่เพียงเท่านี้ ก็เปนอันไม่มีที่ติ แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้ คือการเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา ไม่ได้ฬ่อใจราษฎรแต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้น ยังมีฬ่อใจโดยทางอื่นๆอีก ตั้งแต่การเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรงๆเป็นที่สุด คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบ ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตนเพราะรู้ว่าเปนคนดี สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีคนบอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่นแล้ว คืออำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชนจริงๆ แต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วน ๑ ซึ่งเป็นส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น แต่ถ้าคนเหล่านั้นมีความตั้งใจดีอยู่ และเปนผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน ก็คงจะอุส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามน่าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาติฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงตนเองฤาผลประโยชน์ของตนเองมีอยู่บ้างฤา เข้าใจว่าถึงจะมีก็ไม่มากปานใด คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมือง ก็มักจะมีความคิดถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เปนอันมาก คงยังมีความต้องการอำนาจและต้องการผลอันพึงจะมีมาแต่การเปนผู้มีอำนาจ ต้องการโอกาสที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้างเปนธรรมดาอยู่ ความประสงค์อันนี้ทำให้เกิดมีผลอัน ๑ ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มคิดวิธีปกครองด้วย “คอนสติตูชั่น” มิได้ตั้งใจไว้จะให้มี คือ
๓.เกิดมีคนขึ้นจำพวก ๑ ซึ่งเอาการบ้านมือง (ปอลิติค) เปนทางหาชื่อเสียง เอาเป็นงานประจำสำหรับทำ เอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว... ลักษณะการปกครองเช่นนี้จึ่งมีนามปรากฏว่า “ป่าร์ตี สิสเต็ม” (ลักษณะปกครองด้วยคณะ) คณะผลัดเปลี่ยนกันเข้ารับน่าที่ปกครอง ฤาเรียกตามภาษาของเขาว่าเปน “รัฐบาล” (เคาเวอร์นเมนต์) อีกคณะ ๑ เรียกว่าเป็น “ผู้คัดค้าน” (ออปโปซิชั่น) คณะที่เป็นรัฐบาลนั้นคือคณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิย์เมนต์ สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่า การใดๆที่จะคิดจัดขึ้น แม้จะเกิดเป็นปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง ก็สามารถที่จะท้าให้ลงคะแนนได้ โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว ฤาท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ข้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ลาออกจากตำแหน่ง ผู้คัดค้นเข้ารับตำแหน่งแทนต่อไป กลับกันไปมาอยู่เช่นนี้ อีกประการ ๑ ในขณะที่ปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “ถืออำนาจ” (อินเปาเวอร์) ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ต่างๆในรัฐบาล เป็นทางรางวัลผู้ที่เป็นพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้ถืออำนาจ เจ้าน่าที่ต่างๆก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้ ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆ เพราะบางทีคนพวก ๑ ได้คิดริเริ่มไว้ แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จ ก็มีคนอื่นเข้ามารับน่าที่เสียแล้ว การงานก็เท่ากับต้องเริ่มริไปใหม่ เขาแลเห็นกันอยู่เช่นนี้ทั่วกัน...
๔.คณะปาร์ตีทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดกันเข้าเป็นรัฐบาล ผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาสได้อุดหนุนพวกพ้องตน เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใด ก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม เพราะเปนอันหมดทางที่จะแก้ไขได้ ระหว่างที่ปาร์ตี “ก” เปนรัฐบาล ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่ ฝ่ายปาร์ตี “ข” ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด จะคัดค้านบ้างก็แต่พอเปนกิริยา เพราะนึกอยู่ว่าในไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เข้าไปนั่งกินบ้าง ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิย์เมนต์แทบทุกเมือง แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิย์เมนต์อันดีที่สุด ก็ยังมีคนอังกฤษเองร้องติอยู่ว่าในเรื่อง “ขายบำเหน็จ” นั้น ถึงแม้ใครๆจะร้องขึ้นในปาร์ลิย์เมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด เพราะทั้งคณะลิเบรัลและคอนเซอร์วะติฟ พากันตัดรอนเสีย มิได้ทันต้องถึงได้ปฤกษากันฤาลงคะแนนกันเลย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้นถึงแม้ว่าจะทรงทราบเรื่องนี้ ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้ การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น จะมีที่เลือกประทานเองได้บ้างก็แต่พวกข้าราชการในราชสำนักเท่านั้น ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้ได้แล้ว ประเทศอื่นจะเปนอย่างไร
การมีปาร์ลิย์เมนต์ ฤาเปนรีปับลิค ไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอได้หมด แต่ว่า- ข้อความที่ได้กล่าวมามาแล้วนี้ ก็เป็นแต่หัวข้อบางข้อ ซึ่งตามความเห็นของเราเห็นเปนสำคัญ และโทษทั้งปวงที่ได้แสดงมาแล้วนั้น อาจจะมีได้ไม่เฉภาะแต่ที่ในประเทศที่ใช้ลักษณปกครองเปน “ลิมิเต็ดมอนาร์คี” ถึงในประเทศที่ใช้ลักษณปกครองเปน “รีปับลิค” ก็มีได้เหมือนกัน การมีปาร์ลิย์เมนต์ก็ดี ฤาถึงแม้จะเปลี่ยนลักษณปกครองเปนรีปับลิคไปทีเดียวก็ดี ไม่ตัดการฉ้องโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดไปได้เลย ถ้าผู้ถืออำนาจยังมีทางทีเลือกให้บำเหน็จรางวัลแก่ใครๆได้ตามใจอยู่ตราบใด คนสอพลอและหัวประจบก็ยังต้องมีอยู่ตราบนั้น จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น...
...“เสียงประชาคือเสียงสวรรค์” ขยายความว่าเทวดาเปนผู้ที่นิยมกันว่ามีอานุภาพใหญ่ สามารถจะบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเปนไปตามปรารถนาทุกประการ อันประชาชนซึ่งมีความประสงค์ตรงกันอยู่แล้วโดยมาก และได้แสดงความประสงค์อันนั้นให้ปรากฏชัดแล้ว ก็ไม่มีผู้ใดจะสามารถทัดทานได้ จึ่งนับว่ามีอานุภาพเปรียบด้วยเทวดาฉนี้ เมื่อปรากฏอยู่เช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีข้อสงไสยเลยว่า เมืองไทยเรานี้คงจะต้องเปนไปอย่างประเทศอื่นๆได้เปนมาแล้ว คงจะต้องมี “คอนสติตูชั่น” อัน ๑ เป็นแน่แท้ ถึงแม้การมี “คอนสติตูชั่น” จะมีโทษเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ลักษณปกครองโดยมอบอำนาจไว้ให้พระเจ้าแผ่นดินผู้เดียวก็มีโทษอยู่เหมือนกัน (ซึ่งเวลาบัดนี้มีผู้แลเห็นและรู้สึกอยู่หลายคน) จึ่งตกอยู่ในปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน และคำตอบปัญหานี้ก็มีอยู่ว่า แล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด ส่วนตัวเราเองนั้นย่อมรู้สึกอยู่ดีว่า การเปนพระเจ้าแผ่นดินมีความยากลำบากปานใด คับใจเพียงใด ที่ยังคงอุส่าห์ทำการไปโดยเต็มสติกำลังและความสามารถ ก็โดยหวังใจให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น การใดๆที่เราจะทำไปให้บรรลุถึงความสำเร็จได้ ก็ด้วยอาไศรยความพร้อมเพรียงแห่งข้าราชการ อันเปนผู้ที่รับน่าที่ทำการงานของรัฐบาล ตั้งแต่เสนาบดีลงไปจนถึงผู้มีตำแหน่งน่าที่น้อยๆ อาไศรยความไว้ใจแห่งท่านเหล่านี้อันมีอยู่ในตัวเรา ไว้ใจว่ามีความมุ่งดีและมีความสามารถพอที่จะเปนหัวน่าเปนนายเหนือเขาทั้งหลายได้ ถ้าเมื่อใดความไว้ใจอันนี้เสื่อมถอยลงไป ฤาสิ้นไปแล้ว ตัวเราก็เท่ากับขอนไม้อัน ๑ ซึ่งบุคคลได้ทำขึ้นไว้เปนเตว็ดตั้งไว้ในศาล...
...เรื่องราวของผู้อื่นก็จะเห็นขันอยู่บ้าง คือจะเห็นขันว่าคนยังมีความคิดฤศยาหยุมหยิมอยู่ฉนี้ฤา จะเป็นผู้ที่จัดการปกครองชาติบ้านเมืองอย่างรีปับลิคได้ อย่าว่าแต่รีปับลิคเลย ถึงแม้จะปกครองอย่างลักษณเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้ ยังไม่รู้จักเอาความรักชาติเข้าข่มความฤศยาในใจตนเองแล้ว จะทำการให้เปนประโยชน์แก่ชาติฝ่ายเดียวอย่างไร...”
พระราชวิจารณ์นี้ทรงบันทึกไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๔๕๔ หรือเมื่อ ๑๑๐ ปีมาแล้ว ก่อนที่เมืองไทยจะมี “คอนสติตูชั่น” หรือรัฐธรรมนูญ ๒๑ ปี ซึ่งก็เหมือนวันนี้ทุกประการ ทั้งนี้ก็จากประสบการณ์และทรงศึกษาการเมืองในยุโรปมาอย่างใกล้ชิดและลึกซึ่ง เราก็เป็นไปตาม “เสียงสวรรค์” ที่คล้อยตามคำโฆษณาโอ้อวดของเขาว่าเป็นระบอบการปกครองที่วิเศษสุด แต่แล้วก็เป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ ที่เรายังเป็นบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็นอยู่ได้ ก็เพราะเรายังยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทยมาตั้งแต่สร้างประเทศ วันนี้เขาจึงพยายามชักใยปลุกปั่นให้เราเป็นอย่างเขาให้ครบสูตร เพื่อไม่ให้เห็นความแตกต่างของ “ความดี” กับ “ความเลว” ของระบอบการปกครอง
...แล้วเราจะเป็น “หมาหางด้วน” ตามเขาอีกหรือ
(ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นนักการทหารและจอมปราชญ์ของโลก” โดย วรชาติ มีชูบท บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด)