สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เรียกร้องบริษัทประกันภัย ลดขั้นตอนยื่นเคลมประกันโควิด ใช้ผลตรวจ PCR ได้ ไม่ต้องพึ่งใบรับรองแพทย์ เพื่อให้สอดคล้องกับนิยามผู้ป่วยโควิดของ สธ. และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค
วันนี้ (28 ก.ค.) เพจ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” รายงานว่า นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ซื้อประกันโควิดและเกิดปัญหาในการยื่นเอกสารเพื่อใช้เคลมประกันเมื่อตรวจพบโควิด ปัญหาที่พบ คือ บริษัทประกันส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้เอาประกันนำส่งเอกสารใบรายงาน หรือใบรับรองแพทย์ก่อน จึงจะสามารถเคลมประกันให้ได้ ทั้งที่ผู้เอาประกันมีรายงานผลตรวจเชื้อโควิดจากห้องปฏิบัติการแบบ PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือ การตรวจหาเชื้อไวรัสโดยดูจากสารพันธุกรรม RNA ของไวรัส ซึ่งเป็นวิธีการตามมาตรฐานสากล ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่มีการแพร่ระบาดมากจนทำให้การพบแพทย์และการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก
ดังนั้น การที่ผู้เอาประกันจะต้องมีใบรายงาน หรือใบรับรองแพทย์ เพื่อให้เอกสารครบถ้วนตามข้อกำหนดของบริษัทประกันเพื่อยื่นเคลมประกันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้โดยง่าย
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สอบ. กล่าวอีกว่า จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้นิยามคำว่า “ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด” ไว้ในแนวทางเฝ้าระวังและสอบสวนโรคติดเชื้อโควิด 2019 ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2563 ว่า เป็นผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยวิธี PCR ยืนยันจากห้องปฏิบัติการตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกาศ 1 แห่ง หรือ Sequencing หรือเพาะเชื้อ รวมถึงประกาศแนวทางการแยกกักผู้ป่วยโควิดในชุมชน (Community Isolation) ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 จากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้แนวทางเดียวกันด้วยนั้น จึงเห็นได้ว่า การเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดควรสามารถใช้ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการโดยวิธี PCR ยืนยันว่า เป็นผู้ป่วยโควิดตามนิยามของกรมควบคุมโรคและกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรายงานหรือใบรับรองจากแพทย์อีกแต่อย่างใด
“สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงขอให้บริษัทประกันที่รับประกันภัยโควิดลดขั้นตอนในการยื่นเอกสารเพื่อเคลมประกันของผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิด โดยสามารถให้ใช้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการโดยวิธี PCR ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางนิยามผู้ป่วยโควิดของกระทรวงสาธารณสุข” โสภณ กล่าว
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยสภาฯ จะเร่งติดตามการดำเนินการของบริษัทประกัน พร้อมหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการคุ้มครองและรักษาสิทธิผู้บริโภค และจะแจ้งความคืบหน้าให้ผู้บริโภคทราบต่อไป