เพจดังเผยเรื่องราวสุดเศร้า หลังมีลุงคนไร้บ้านถูกปล่อยตัวจากสถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจก่อนครบกำหนด ซึ่งคนไร้บ้านไม่มีบ้าน ไม่มีเงิน จึงใช้ชีวิตแบบเดิม เดินเท้ากลับมารอรับการแจกอาหาร และล้มป่วยซ้ำ และไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลของภาครัฐได้อย่างทันท่วงที
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. เพจเฟซบุ๊ก “เส้นด้าย - Zendai” ได้โพสต์เรื่องราวที่น่าสะเทือนใจของคนไร้บ้านรายหนึ่ง โดยเผยว่า มีชายไร้บ้านชื่อ นายสาโรจน์ อายุ 62 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ระบุวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้รับการรักษาที่ hospitel แห่งหนึ่ง ซึ่งในใบรับรองแพทย์ระบุว่าต้องกักตัวให้ครบวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวออกมาก่อนครบกำหนด
โดยระบุข้อความว่า “โควิดกับคนไร้บ้าน เมื่อวานนี้เราได้รับเคส ลุงสาโรจน์ อายุ 62 ปี ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นลมล้มลงไปที่ฟุตปาธขณะที่รอเข้าแถวรับข้าวแจกฟรี จนได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก ใบตรวจพบเชื้อของคุณลุงระบุวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้รับการรักษาที่ hospitel แห่งหนึ่ง ซึ่งในใบรับรองแพทย์ระบุว่าต้องกักตัวให้ครบวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ แต่คุณลุงถูกเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวออกมาก่อนครบกำหนด #เส้นด้าย เจ้าหน้าที่ที่มูลนิธิอิสรชน สื่อมวลชน ได้รับแจ้งให้มาช่วยดูผู้ติดเชื้อ เราช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้นจนลุงสาโรจน์อาการดีขึ้น และมีแรงพอจะบอกเราได้ว่าแกเดินเท้าจากสุขุมวิท(ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น ย่านhospitelที่กักตัว) มาที่ราชดำเนิน เพราะตนไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน ไม่มีที่ข้าวกิน จึงเดินเท้ามาต่อแถวขอข้าวกินที่มูลนิธิอิสรชนแจก
ส่วนอีกเคส เราพบว่าเป็นชายไร้บ้านอีกราย นอนหายใจรวยรินบนเตียงผ้าใบข้างริมคลองหลอด ข้อมูลจากคนไร้บ้านที่อาศัยแถวนั้นบอกว่า ชายคนนี้นอนแบบนี้มาหลายวันแล้ว ไม่มีใครไม่มีหน่วยงานใดมาช่วยเหลือ ทางกลุ่มเส้นด้ายได้วัดค่าออกซิเจนในเลือดและทำการใส่สายออกซิเจนเพื่อประคองอาการไว้ และจะหาทางส่งความช่วยเหลือด้านอื่นต่อไป
สองเคสนี้เป็นเคสตัวอย่างของคนไร้บ้านที่สะท้อนได้ว่ารัฐบาลไม่ได้มีแนวทางดูแลกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อ กลุ่มที่เป็นคนไร้บ้านมากนัก ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป เมื่อเข้าสู่การรักษากักตัว แม้ยังไม่ครบกำหนด ถูกให้กลับก่อนกำหนดด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ก็ยังมีที่ให้กลับ แต่สำหรับคนไร้บ้านนั้นต่างออกไป พวกเขา ไม่มีที่ให้กลับไป”
ทั้งนี้ Hospitel หรือสถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ มีที่มาจากการรวมคำว่า Hospital ที่แปลว่า โรงพยาบาล และ Hotel ที่แปลว่า โรงแรม เข้าด้วยกัน จากการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว โดย Hospitel เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการความสะดวกสบาย เป็นส่วนตัวมากกว่าโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด