พบปัญหาแรงงานภาคอุตสาหกรรมติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แต่เข้าระบบสาธารณสุขไม่ได้ เรียกร้องใช้พื้นที่ “นิคมอุตสาหกรรม” เป็นสถานที่กักแยก
รายงานพิเศษ
“คนงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก ต้องไปกักตัวในโรงงาน โรงงานเขาประกาศด้วยวาจาให้มากักตัว ใครไม่มาก็จะไม่จ่ายค่าจ้าง หรืออาจจะเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ใครที่ผลตรวจยังไม่ติดโควิด ก็ตองทำงานต่อไป กักตัวไปด้วย ทำงานไปด้วย”
นี่เป็นชีวิตของผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมบางส่วนที่ถูกถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของ บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ซึ่งติดตามให้ความช่วยเหลือและดูละสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงานในเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ทั้งจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก
“การสั่งกักตัวในโรงงาน” เป็นเพียงหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น หลังพบว่าหลายโรงงานกำลังมีปัญหาใหญ่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มคนงาน
บุญยืน ยืนยันว่า เขามีข้อมูลการระบาดที่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ในหลายโรงงาน ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ บางโรงงานที่ทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตรวจพบด้วย Rapid Test หรือแล็บจากเอกชนแล้วว่า มีผู้ติดเชื้อ 500-600 คน บางนิคมฯ พบแล้วเกือบ 1,000 คน และยังพบว่ามีโรงงานที่ทำอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง ตรวจพบติดเชื้อแล้วกว่า 300 คน แม่จะถูกสั่งปิด แต่ก็จะกลับมาเปิดในวันจันทร์นี้ (26 ก.ค.)
ที่สำคัญ คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากโรงงาน ยังไม่ถูกส่งเข้าสู่ระบบสาธารณสุข เพราะกลุ่มแรงงานไม่สามารถไปตรวจยืนยันที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากโรงพยาบาลในพื้นที่ ไม่มีศักยภาพสามารถตรวจเป็นจำนวนมากในช่วงนี้
ทำให้โรงงานบางแห่ง ต้องเลือกใช้วิธีเรียกคนงานเข้ามากักตัวในโรงงาน คล้ายกระบวนการ Bubble and Seal เพราะคนที่ปล่อยกลับที่พักไป ก็มีโอกาสไปแพร่เชื้อ บางคนถูกไล่ออกจากห้องแถวที่เช่าอยู่ จึงอยากเสนอให้ แต่ก็บอกได้ว่า การกักตัวในโรงงานที่ทำอยู่ ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง
“เขาก็กั้นพื้นที่ในโรงงานเป็นที่นอนนะครับ แยกชาย-หญิง แต่ไม่ได้มีอุปกรณ์อะไรให้ ไม่มีเตียง ต้องเตรียมเครื่องนอนมาเอง คล้ายการเตรียมตัวไปเข้าค่าย เรื่องห้องน้ำมันมีอยู่แล้ว แต่การอาบน้ำผมก็ยังไม่เคยถามนะ แต่ในโรงงานมันไม่ใช่ที่นอนหรอกครับ เสียงดังทั้งวันทั้งคืน ส่วนใหญ่ก็อับและเย็น ในไลน์การผลิตมันเป็นระบบแอร์รวมก็ติดเชื้อง่าย”
“แต่ถ้าเป็นพวกโรงงานของญี่ปุ่น เขาจะนึกถึงสวัสดิภาพของคนงานดีครับ มีชุดครวจเอง มีจ้างเอกชนมาตรวจ RT-PCR อย่างสม่ำเสมอ ใครติดเชื้อหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงก็ให้หยุด หรือแม้แต่มีสามีหรือภรรยาอยู่โรงงานอื่นเป็นกลุ่มเสี่ยง เขาก็ให้หยุด” บุญยืนเล่าเปรียบเทียบ
บุญยืน ยังสะท้อนปัญหาที่ตามมาอย่างเด่นชัด คือ ข้อมูลของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ไม่ได้ถูกส่งเข้าสู่ระบบสาธารณสุข เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ารับการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาล ซึ่งหากมองในแง่การบริหารจัดการสถานการณ์ ก็จะมีความหมายว่า รัฐบาล, ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หรือ กระทรวงสาธารณสุข จะไม่มีทางเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้ และจะไม่มีนโยบายใดๆ เข้ามารองรับเพื่อแก้ปัญหา
และในอีกมุมหนึ่ง คือ หากมองในแง่สวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงานตามกฎหมาย แรงงานกลุ่มนี้จะต้องเสียสิทธิประโยชน์ของพวกเขาไปอย่างมาก จากการที่ไม่สามารถส่งรายชื่อเข้าสู่ระบบได้ ก็จะ “ไม่มีใบรับรองแพทย์” ซึ่งต้องใช้ในการ “ลาป่วย” เพราะกฎหมายคุมครองแรงงาน ให้ลูกจ้างลาป่วยได้ตามจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงาน หากเกินกว่านั้นก็ไปรับค่าจ้างอีก 50% จากสำนักงานประกันสังคม
ซึ่งในกรณีนี้ เมื่อไม่ได้รับการตรวจยืนยัน ก็แทบเรียกร้องตามกฎหมายไม่ได้เลย
“ไม่มีใบรับรองแพทย์ ก็จบเลยครับ เมื่อตรวจไม่ได้ ใครจะยืนยันว่าลูกจ้างติดเชื้อจริง หรือต้องหยุดกักตัวเพราะติดเชื้อ ซึ่งประเด็นนี้ก็ต้องเข้าใจนายจ้างด้วย เพราะหากเปิดช่องไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ก็อาจจะมีคนมาอ้างเต็มไปหมดว่าเป็นคนป่วย”
ข้อเสนอของ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก คือ ต้องการให้ผู้ประกอบการร่วมกับภาครัฐ จัดทะพื้นที่ที่อาจจะเรียกว่า “จุดพักคอย” คล้ายๆ โรงพยาบาลสนาม แต่ไม่ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อแยกคนที่ติดเชื้อแล้วออกจากคนที่ยังไม่ติด โดยอาจพิจารณาจากพื้นที่โล่งๆ ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โรงเรียน หรือค่ายทหาร ซึ่งปัญหารุนแรงขึ้น เพราะไม่มีพื้นที่แบบนี้
เมื่อไปดูข้อมูลพื้นที่สำหรับใช้เพื่อการกักแยกในภาคตะวันออกจะพบว่า จังหวัดชลบุรี ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ 5,000-6,000 โรงงาน กลับมีสถานที่กักแยก Local Quarantine เพียงแห่งเดียว ขณะที่จังหวัดสมุทรปราการมีเพียง 2 แห่ง ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรามี 3 แห่ง ระยองมี 11 แห่ง ในขณะที่เริ่มมีลูกจ้างในกลุ่มนี้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ละส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมๆกัน ยากจะกักแยก
ข้อเสนอนี้ตรงกับความเห็นของ นายสมนึก จงมีวศิน ที่ปรึกษากลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและเครือข่ายภาคตะวันออก ซึ่งเสนอให้เปลี่ยนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมบางแห่ง เป็นพื้นที่เพื่อให้ กลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการ (สีเขียว) ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด เข้าพักแบบ Community Isolation (CI)
และทางบริษัทฯ หรือโรงงาน สนับสนุนอาหารและสิ่งของต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าสามารถดูแลกันเองได้ ในการวัดอุณหภูมิ วัดค่าออกซิเจน และจะทำให้แรงงานกลุ่มนี้เข้าส่ฐานข้อมูลของระบบสาธารณสุขได้ โดยทางกลุ่มแรงงานช่วยส่งต่อข้อมูลให้ เพื่อประโยชน์ในการทำให้รัฐได้ข้อมูล และประโยชน์ในการรักษาสิทธิของลูกจ้างด้วย
โดยย้ำว่า พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา มีความเหมาะสม เพราะกว้างขวาง มีรั้วรอบขอบชิด ดูแลการเข้าออกได้ง่าย มีระบบกำจัดขยะติดเชื้อและมีระบบบำบัดน้ำเสียอยู่แล้วด้วย
ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ป่วย ก็ให้ทำงานต่อไปได้ โดยจัดหาที่พักและอาหารรองรับภายในพื้นที่นิคมฯเช่นกัน
สำหรับกิจการที่มีขนาดใหญ่ เสนอให้ใช้แนวคิดในลักษณะ Bubble and Seal คือ โรงงานจัดหาที่พัก หรือ โรงแรมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้กับคนงานและรับส่งโดยไม่ให้ออกนอกเส้นทาง
ส่วนคนที่ไม่สมัครใจจะทำงานต่อ เพราะมีความเสี่ยงสูง หรือมีความกังวลเพราอาศัยอยู่กับผู้สูงอายุ ก็ควรให้หยุดงานได้พร้อมกักตัว และสร้างแรงจูงใจให้โบนัสเพิ่มสำหรับคนที่สมัครใจทำงาน
อีกประเด็นคือ ต่องการให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเงื่อนเวลาของการกักตัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ ควรเพิ่มระยะเวลาให้หยุดงานได้เป็น 1 เดือน เพราะระยะของเชื้อยาวนานขึ้น เช่นเดียวกับที่รัฐวิสาหกิจหลายแห่งประกาศขยายเวลาไปแล้ว
ด้วยข้อเสนอเช่นนี้ ดร.สมนึก เห็นว่า เป็นความพยายามหาทางทำให้สามารถเปิดโรงงานต่อไปได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยทำให้พบจุดสมดุลระหว่างการดูแลชีวิตคนในสายการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กับการทำให้อุตสาหกรรมเดินหน้าต่อได้โดยไม่ต้องปิดโรงงาน และยังทำให้มีการจ้างงานต่อไปได้ด้วย
เพราะเข้าใจดีว่า ผู้ใช้แรงงานในกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ก็ยังคงต้องการรายได้มาดำเนินชีวิตเช่นกัน.