xs
xsm
sm
md
lg

“ฟู้ดแพนด้า” งานเข้า พาร์ตเนอร์แห่ประกาศถอนตัวออกจากแอปฯ เซ่นปมดรามาปลดพนักงานเข้าร่วมม็อบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฟู้ดแพนด้า” แอปฯ ส่งอาหารดีลิเวอรีงานเข้าเต็มๆ หลังเจอกระแสดรามาพนักงานเข้าร่วมม็อบ 18 กรกฎาคมมีพฤติกรรมไม่สมควรจึงสั่งลงโทษปลดพนักงานออก ล่าสุดพาร์ตเนอร์ แห่ถอนตัวออกจากแอปฯ เป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับบทลงโทษดังกล่าว

จากกรณีแอปพลิเคชันส่งอาหารชื่อดัง “ฟู้ดแพนด้า” เจอดรามาหลังสั่งลงโทษพนักงานที่เข้าร่วมการชุมนุมจนเกิดแฮชแท็ก #แบนfoodpanda ภายหลังผู้ชุมนุมท่านหนึ่งขี่รถจักรยานยนต์ที่มีกล่องใส่อาหารสีชมพูของฟู้ดแพนด้า ซึ่งมีลักษณะคล้ายผู้ก่อเหตุจุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์มาก่อนหน้านั้นบริเวณถนนราชดำเนินนอก และพบว่าก่อนหน้านี้แอปพลิเคชันส่งอาหารฟู้ดแพนด้าเคยถูกแบนจากกลุ่มคนรักนายกรัฐมนตรีหลังถอนโฆษณาช่องเนชั่นฯ

ทั้งนี้ พบว่าในโลกทวิตเตอร์ แฮชแท็กแบน foodpanda ติดอันดับประเทศไทย นอกจากนี้พบว่าเจ้าของกิจการร้านอาหารจำนวนมากที่ลงขายในแอปพลิเคชัน Food Panda เริ่มยุติการให้บริการผ่านแอปฯ ดังกล่าวแล้ว บ้างก็ขอหยุดพักชั่วคราวเพื่อให้ทางบริษัททบทวนบทลงโทษ ทั้งนี้ ทางเพจ “การตลาดวันละตอน” ได้ออกมาโพสต์ข้อความเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า

“กระแส #แบนFoodPanda มาแรงมาค่ำวันนี้ และที่น่ากลัวกว่าการที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายลบแอปฯ คือเริ่มเห็นหลายๆ ร้านอาหารออกมาประกาศถอนตัวออกจากแพลตฟอร์มนี้!

ปกติแล้วตามหลักการสร้างแพลตฟอร์มคือต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Ecosystem

ผู้ใช้เป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ผู้ขายก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ถ้าผู้ขายถอนตัวออกจาก FoodPanda ไปเรื่อยๆ งานนี้ต่อให้คนที่ยังใช้งานต่อไปก็จะพบปัญหาการหาร้านที่อยากกินไม่เจอ และนั่นจะเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของแพลตฟอร์มนี้ ที่ทั้งหมดเกิดจากโพสต์เดียว

รอติดตามกันวันพรุ่งนี้ครับว่าจะมีกี่ร้านที่ประกาศถอนตัวจาก Food Panda ใครเจอฝากเอามาแปะในคอมเมนต์ให้หน่อยนะครับ”

นอกจากนี้ยังพบว่าเพจ “เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน” ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยมีใจความว่า

“ไม่ถูกต้อง แนะนำด้วย กำลังเรียงไทม์ไลน์ อยากเขียนภาพรวมผลกระทบกับสิ่งที่แอดมินกระทำ (ตอนดรามาติดดูหนังพอดี) จุดเริ่มต้นคือ แอดมินที่ประจำการอยู่ไปเห็นผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งโพสต์คลิปเหตุการณ์ในการชุมนุม ม็อบ 18 กรกฎา พร้อมระบุข้อความว่า

“ผู้ชุมนุมบางรายพยายามวางเพลิงพระบรมฉายลักษณ์ มีการร้องเตือนบ้าง สำหรับหน้าตา เบาะเเสผู้ก่อเหตุอยู่ในเธรดครับ ฝาก จนท.พิจารณาดำเนินคดีด้วย” ก่อนที่จะมีการโพสต์คลิป ในคลิปปรากฏภาพกล่องใส่อาหารสีชมพูของฟู้ดแพนด้าอยู่ท้ายรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่ง (ยังไม่แน่ชัดว่าบุคคลในคลิปเกี่ยวข้องกับการวางเพลิง หรือเป็นพนักงานฟู้ดแพนด้าจริงหรือไม่) หลังจากนั้นทวิตเตอร์ของ ‘ฟู้ดแพนด้า’ @foodpanda_th ได้มาตอบกลับทวิตเตอร์ว่า

“ทางเราจะเร่งดำเนินการตามกฎระเบียบขั้นเด็ดขาดของบริษัท โดยให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที ขอเรียนให้ทราบว่าทางฟู้ดแพนด้ามีนโยบายต่อต้านความรุนแรงและการก่อการร้ายทุกรูปแบบ และยินดีช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อคนร้ายอย่างเต็มที่ค่ะ”

ถ้าถูกตามนี้ แอดมินอินแทนแบรนด์ระดับเวอร์วัง ไม่ก็ส่งแขกตามน้ำ 4 ส่วนผสมแห่งความยุ่งเหยิงประกอบด้วย

1. คุณกำลังตอบโซเชียลด้วยแบรนด์ ดังนั้นรับผิดชอบเต็ม และใช้อำนาจเกินหน้าที่ไปเยอะ ดูจากข้อ 2 ถึง 4

2. ก่อการร้าย คำว่า การก่อการร้าย (Terrorism) เป็นคำที่ยังไม่มีการจำกัดความในกฎหมายอาญา ที่มีผลผูกมัดตามกฎหมายและได้รับการยอมรับอย่างสากล การจำกัดความโดยทั่วไปของการก่อการร้ายนั้นหมายถึงเพียงพฤติการณ์รุนแรงซึ่งมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความกลัว กระทำการเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา การเมืองหรืออุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการกระทำที่จงใจหรือไม่ใส่ใจต่อความปลอดภัยของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง (พลเรือน) และกระทำโดยองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐใดๆ หากจะดูที่คำจำกัดความ แอดมินท่านนั้นก็อาจถูกค่ะ เพราะตีความมันครอบคลุมได้ แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร นายกฯ ฯลฯ ที่จะบอกว่านี่คือเหตุก่อการร้าย หรือบุคคลใดเป็นการกระทำก่อการร้าย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่จะประกาศค่ะ ไม่ใช่หน้าที่ของ Admin ดูแลแบรนด์ธุรกิจเลย

3. การประกาศอำนาจเด็ดขาดในการให้พนักงานพ้นสภาพพนักงานทันที เนื่องจากละเมิดกฎของบริษัท ตรงนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่เจ้าของกิจการ ผู้จัดการผู้บริหารหรือแม้แต่ hr เป็นคนจัดการ เข้าใจว่าอาจจะใส่เนื้อหาที่ตอบในโซเชียลลงไปอิงตามระเบียบของบริษัท แต่การประกาศในนามบริษัทออกไปมันมีผลนะ เพราะแบรนด์เป็นคนประกาศว่าจะไล่พนักงานออก เกิดพบคลิปภายหลังว่าเขาจอดรถลงไปช่วยดับไฟในเหตุการณ์ พลิกกระดานเลยนะ แล้วถ้าเขาเป็นคนดับไฟไม่ได้เป็นตามที่แอดมินประกาศ เขาก็เสียหายอีก (กฎระเบียบจึงมีไว้ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานชัดเจนมันจึงต้องมีการสอบถามตรวจสอบข้อเท็จจริง ทุกอย่างมันใช้คู่กันทั้งกฎระเบียบและข้อเท็จจริง) คือกฎบริษัทอาจจะมีไว้ แต่คนสั่ง และมีอำนาจสั่งการไม่น่าจะใช่ Admin นะ

4. แอดมินคนเดียวสามารถเรียกกระแสมัลติเวิร์ส เชื่อมต่อกับทางแบรนด์ไปเกือบตลอดกาลเพราะอะไร

4.1 คนที่ไม่เห็นด้วยไม่เลือกใช้บริการ ส่งผลถึงพนักงานที่เป็นไรเดอร์ที่ทำงานร่วมกับบริษัท

4.2 ทางแบรนด์มีข่าวลือนานแล้วว่ายิงกลุ่มการเมืองฝั่งหนึ่งซึ่งก็มีข่าวออกมาหลายครั้ง ตอนนี้ก็ยิ่งกว่าตอกย้ำ กลายเป็นประทับตราไปแล้วเรียบร้อยทำให้สูญเสียกลุ่มลูกค้าดั้งเดิมที่ลบบัญชีและลบแอปฯ ออกไป

4.3 หลายร้านค้าประกาศไม่ขอร่วมค้าขายผ่านแบรนด์ บางเจ้ายกเลิกชั่วคราวเพื่อเป็นการแสดงออกว่าไม่เห็นด้วย แต่บางเจ้าขอยุติถาวรมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เท่ากับทางแบรนด์ต้องสูญเสียร้านค้าที่มีฐานลูกค้าออกไปจำนวนมาก

4.4 ในสถานการณ์แบบนี้ ธุรกิจดีลิเวอรีอาหารและสินค้าได้รับความนิยมสูง การเพิ่มและรักษาฐานลูกค้าเป็นสิ่งจำเป็นมาก และตอนนี้ทางแบรนด์จะต้องสูญเสียทั้งร้านที่เข้าร่วม และลูกค้าที่เป็นผู้สั่ง รายได้ทั้งสองทางที่เกิดขึ้นหายไปในพริบตา ตรงนี้เราไม่ได้มองว่าพลาด เพราะเราเคยเห็นแบรนด์ขนาดใหญ่ 2 เจ้าที่ BTS Min ที่แข็งแกร่งมาก เกือบทุกโพสต์จะต้องมีการพูดคุยกันก่อนแบบมืออาชีพ มันจะต้องมีการทำนายหรือพยากรณ์ไปเลยว่าโพสต์นี้ถ้าเกิดกระแสจะไปในทิศทางไหน มีโอกาสที่จะเป็นเรื่องเชิงลบหรือไม่ หรือถ้าประกาศออกไปจะส่งผลอย่างไรบ้าง ซึ่งทีมงานนี้เมื่อได้ข้อสรุปก็จะแจ้งไปยังผู้จัดการ โดยอธิบายว่าทางเพจเราจะต้องโพสต์เนื้อหานี้ไปในแนวทางนี้ โดยคาดหวังสิ่งที่ได้คืออะไรและป้องกันดรามาได้อย่างไร หากมีความเสี่ยงจะไม่นำลงเลย และทีมงานกลุ่มนี้ไม่เล่นกับกระแสใดๆ ทั้งนั้นเนื่องจากกระแสเป็นสิ่งที่คาดเดายากที่สุด มันอาจจะส่งผลย้อนกลับให้กับกิจการก็ได้ ถ้าเป็นผลดีก็ถือว่าโชคดี ดังนั้นในการทำงานจริง แอดมินเพจที่เป็นมืออาชีพมันไม่ใช่แบบนี้

บทสรุป แบรนด์ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ ไม่ว่าจะไล่หรือไม่ไล่แอดมินออกก็ตาม ภาพประกอบ “แพนด้า วอริเออร์ส” มาสคอต ต่อต้านการก่อการร้ายด้วยนิวเคลียร์ และตอบโต้ ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน”



กำลังโหลดความคิดเห็น