xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญการตลาดดิจิทัล เผย คำแนะนำจากผู้ป่วยซึมเศร้า เรื่อง “คน 10 ประเภท ที่ควรเอาออกจาก Feed โซเชียล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญ​ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล เผยบทความแนะนำในการใช้โซเชียลมีเดียจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในประเด็นเรื่อง “คน 10 ประเภท ที่ควรเอาออกจาก Feed โซเชียล”

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. เพจ “nuttaputch.com” หรือ นายณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญ​ทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล แห่ง nuttaputch.com ได้โพสต์ข้อความคำแนะนำในการใช้โซเชียลมีเดียจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในประเด็นเรื่อง “คน 10 ประเภท ที่ควรเอาออกจาก Feed โซเชียล” ระบุว่า

แม้ว่าเราจะใช้ Social Media อยู่ทุกวันนี้ จนกลายเป็นช่องทางหลักในการรับข้อมูลหลายๆ อย่าง เช่นเดียวกับการติดตามความเคลื่อนไหวของเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือเพจต่างๆ ที่่เราสนใจ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเราเริ่มเห็นการใช้ช่องทาง Social Media ในการแสดงความคิดต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเราที่เป็นผู้รับข้อมูลไม่มากก็น้อย

สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้เท่าทันคือข้อมูลเหล่านี้เป็นภัยเงียบที่น่ากลัวทีเดียว คอนเทนต์ต่างๆ สามารถเร้าความรู้สึกของตัวคนเสพซึ่งยิ่งถูกกระตุ้นมากและบ่อยเท่าไร ย่อมทำให้สมองที่ไม่ต้องรับภาระการจัดการความรู้สึกขนาดนี้เริ่มมีปัญหา บางคนกลายเป็นโรคซึมเศร้าเพราะเคมีในสมองที่เกิดขึ้นจากการรับพลังลบเหล่านี้เข้าไปแล้วจัดการไม่ทันมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องนี้อาจจะอธิบายได้ว่าหากเป็นชีวิตปกตินั้น การพูดคุยกันปกติไม่ได้มีการ “ใส่อารมณ์” มาก เนื่องจากผู้พูดกับผู้ฟังเห็นหน้ากัน มีการควบคุมอากัปกิริยาหรือปรับโทนคำพูดต่างๆ ให้เหมาะกับบรรยากาศการสื่อสาร เช่นเดียวกับมีเวลาให้สมองได้พักผ่อนและคลายตัวเองจากความรู้สึกลบๆ ที่รับมา

ซึ่งนั่นไม่เหมือนกับการเสพทางออนไลน์ที่เหมือนข้อมูลล้นทะลักมาอย่างต่อเนื่อง แถมคนจำนวนมากก็ “ใส่” มาแบบไม่ยั้งเพราะไม่ได้เห็นสภาวะของคนรับสารว่าอยู่ในภาวะแบบไหน รู้สึกอย่างไร สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การสะสมของแรงกดดันจนนำไปสู่ความหดหู่ ซึมเศร้า​ โดยไม่รู้ตัว และนั่นคือที่มาของคำแนะนำว่าควรจัดการซ่อน / เลิกติดตามคนกลุ่มเหล่านี้จาก TImeline เสียหากไม่อยากเจอภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว

1. คนที่เอาแต่ใช้คำหยาบคายเน้นสะใจ (Rude)
ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนในออฟฟิศที่วันๆ พูดแต่คำหยาบโลน เอะอะก็ใช้คำที่อารมณ์รุนแรงออกมาจะทำให้เรารู้สึกแบบไหน? คำพูดเหล่านี้ล้วนเป็นคำที่แฝงอารมณ์ต่างๆ และกระตุ้นให้คนอ่าน / อ่านฟังรู้สึกเร้าไปด้วย ทั้งจะในแบบรู้สึกโกรธ รู้สึกสะใจ หรือไม่ก็รู้สึกแย่ รู้สึกโดนตะโกนใส่หน้า และนั่นไม่เหตุจำเป็นเลยว่าทำไมเราควรจะทนอ่าน ทนฟัง คนเหล่านี้ เช่นเดียวกับที่ในชีวิตจริงเราก็เลี่ยงเจอคนเหล่านี้เป็นแน่

2. คนที่มุ่งจะโจมตี ด่าทอ ดูถูกผู้อื่น (Attack)
การต่อว่าโดยมุ่งหวังให้คนอื่นเสื่อมเสีย ให้ดูด้อยค่า เป็นคนละเรื่องกับการวิจารณ์เพื่อสร้างสรรค์ และคำด่าเหล่านี้มักแฝงด้วยความอาฆาตของผู้โจมตีที่หวังให้ผู้ถูกโจมตีได้รับผลร้ายแรง และพลังเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกลบเป็นธรรมดา คงจะมีแต่คนที่เห็นด้วยกับการโจมตีเพราะคนที่โดนโจมตีนั้นเป็นคนที่ตัวเองไม่ชอบ เราถึงจะสนุกและกดไลก์ชื่นชมการโจมตีนั้นๆ ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้เราเห็นว่าการใช้ความรุนแรงทางคำพูดเพื่อด่าทอคนอื่นเป็นเรื่องปกติ (ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย) ในขณะเดียวกันถ้าเราเป็นคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการโจมตีนั้นๆ ก็จะมีแต่ทำให้เรารู้สึกแย่มากกว่าเดิม

3. คนที่กลั่นแกล้งผู้อื่น (Bully)
กรณีนี้ก็ไม่ต่างจากกรณีก่อนหน้าที่การกลั่นแกล้งผู้อื่นไม่ใช่เรื่องที่ควรจะยอมรับแม้แต่น้อย เพราะมันคือการลดค่าของอีกคนเพื่อสร้างความเย้ยหยันต่างๆ การแปะป้ายว่าคนนั้นเป็นพวกโน้นนี้ และก็จะมีแต่การสะใจถ้าคนที่ถูก Bully เป็นคนที่เราไม่ชอบด้วย ซึ่งในทางกลับกันหากคนที่ถูก Bully เป็นคนที่เรารู้จัก แคร์ หรือให้คุณค่าก็จะยิ่งรู้สึกแย่ โกรธ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ไม่ดีทั้งนั้น และนั่นทำให้คนที่ทำสิ่งเหล่านี้คือ Toxic People ที่ไม่ควรคบหาเลยตั้งแต่ต้น

4. คนที่คิดร้ายกับผู้อื่น สาปแช่ง (Curse)
ไม่มีคนดีคนไหนคิดอยากให้อีคนเดือดร้อน ฉิบหาย ตาย ฯลฯ ต่อให้มีความแตกต่างทางความคิด มีความขัดแย้งกัน แต่การหวังให้อีกฝั่งต้องประสบภัยก็ไม่ต่างจากการที่ผู้คิด ผู้พูดได้ลดค่ามนุษยธรรมในตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว คำพูดเหล่านั้นก็จะมีแต่คนที่มีความคิดแบบเดียวกันที่ชื่นชม หากแต่คนอื่นที่มองอยู่ก็จะได้รับความเกลียดชัง ความโกรธแค้นผ่านตัวหนังสือมา ซึ่งมีแต่จะทำให้รู้สึกแย่ไป ลองคิดว่าในชีวิตจริงถ้ามีคนที่คอยเอาแต่สาปแช่งคนอื่นแล้วเราจะยังอยากคุยกับเขาหรือไม่?

5. คนที่มีแสดงทัศนคติที่มีอคติ (Bias)
เมื่อใดที่คนมีอคติ เมื่อนั้นก็คือคนเราจะมองทุกอย่างอยู่ในกรอบที่ตัวเองอยากมองและปฏิเสธมุมมองอื่น ๆ และนั่นก็จะมาสู่การโจมตีหรือพยายามแย้งกับแนวคิดอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับความคิดของตนโดยไม่สนเหจุผล ซึ่งนั่นมีแต่จะทำให้ทัศนคติของคนแบบนี้เข้ามาทำให้เรารู้สึกแย่เอาเสียเปล่าๆ ไม่ว่าจะเป็นการรู้สึกเบื่อหน่ายกับตรรกะการคิด หรือเซ็งกับมุมมองบางอย่างที่ดูไม่เป็นเหตุเป็นผล

6. คนที่โต้เถียงโดยใช้อารมณ์ (Emotional)
เมื่อเราใช้อารมณ์มานำเหตุผล และเน้นแต่จะแพร่ความรู้สึกออกมามากกว่าสาระและข้อมูล นั่นก็ทำให้ผู้รับสารรับอารมณ์เป็นหลักซึ่งจะเป็นที่มาของความรู้สึกหนักอกหนักใจเอาได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างอะไรจากรณีของคนที่เอาแต่ด่าทอแทนที่จะคุยกันดีๆ และเราก็คงไม่ควรจะสนทนาต่อเลยแม้แต่น้อย

7. คนที่พยายามเอาชนะในการโต้เถียงอยู่ตลอด (Winning Bullshit)
เมื่อมีการถกในประเด็นต่างๆ นั้น มักจะมีคนประเภทหนึ่งที่อยากจะเอาชนะและยกเหตุผลมาเถียงแบบข้างๆ คูๆ ไม่ก็ใช้หลักการแบบสุดโต่งโดยไม่พยายามจะเข้าใจหรือมองหลักการอื่นๆ เพียงเพราะต้องการเอาชนะการถกครั้งนั้น แน่นอนว่าการถกกับคนแบบนี้มีแต่จะทำให้เหนื่อยและหงุดหงิดเพราะหลักการที่เขามาอ้างนั้นจะดูไม่สมเหตุสมผล ไม่มีน้ำหนัก หรือไม่ก็ลากออกประเด็น จบแพะชนแกะ ซึ่งก็จะมีแต่ทำให้เราเหนื่อยใจเวลารับความคิดจากคนแบบนี้

8. คนที่แชร์อะไรแบบไม่ยั้งคิด ตรวจสอบ (Careless)
ข้อนี้อาจจะดูแปลกๆ แต่เอาจริงๆ คนเหล่านี้มีผลในการทำให้จิตใจเราขุ่นมัวเหมือนกัน เพราะคือคนที่มักจะหยิบข่าวโน่นข่าวนี้มาพูด ไม่ตรวจสอบ แล้วก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนจนเกิดความรู้สึกไม่ดีอย่างเช่นเสียขวัญ กลัว แถมปกติพวกที่ถูกแชร์ก็มักจะเป็นข่าวปลอม Fake News ซี่งก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่ามีจุดประสงค์เพื่อปั่นกระแส ป่วนความรู้สึกคน เจอคอนเทนต์ที่คนเหล่านี้แชร์มากๆ เข้าก็มีป่วนจิตได้เหมือนกัน หรือต่อให้รู้ว่าเป็นข่าวปลอมก็จะยิ่งรู้สึกหน่ายกับคนที่แชร์อีกด้วย

9. คนที่พยายาม “อวด” จนน่าหมั่นไส้ (show off)
การโชว์ว่าทำอะไรมา กินอะไรมา ซื้ออะไรมา ก็เป็นเรื่องปรกติ แต่เชื่อว่าหลายคนจะเห็นอาการ “เกินพอดี” ของหลายๆ คนที่เริ่มเข้าสู่โหมด “น่าหมั่นไส้” ซึ่งคนพวกนี้ก็ดูเหมือนจะมีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ แต่อาการน่าหมั่นไส้เนี่ยแหละที่ทำให้จิตของเราขุ่นมัว ฉะนั้นถ้าเจอคนประเภทที่ทำให้รู้สึกแบบนี้บ่อยๆ ก็เลิกติดตามไปเสียดีกว่า

10. คนที่มุ่งแต่จะ​ “จับผิด”​ โดยไม่คิดจะ “จับถูก” (Carping)
คนเรามีด้านดีและไม่ดี เหตุการณ์ต่างๆ ก็เช่นกัน มันคงยากที่จะมองอย่างเป็นกลางตลอดเวลาแต่เราก็สามารถเลือกมองในหลายวิธีได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคนประเภทที่มองแต่เรื่องไม่ดีแล้วเอามาพูด มาวิจารณ์ตลอดโดยไม่พยายามเหลือบไปมองเห็นด้านดี ข้อดี ซึ่งจะด้วยอคติหรืออะไรก็ตาม นั่นก็คงไม่ใช่คนที่เราควรจะคุยด้วยเท่าไรเพราะมันก็มีแต่ยัดมุมมองด้านลบและจับผิดนั้นให้เราจนเราเคยชินกับการมองแบบจับผิดนั้นไปให้หงุดหงิดใจนั่นเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น