xs
xsm
sm
md
lg

ดีแทคเปิดแพลตฟอร์มระดมสมองออนไลน์ ดึงวัยรุ่นแก้ปมไซเบอร์บูลลี่-ลดกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีแทคนับถอยหลังเปิดตัวแพลตฟอร์มระดมสมองมาราธอน 72 ชั่วโมง ชวนวัยรุ่นไทยพบปะออนไลน์และร่วมกันคิดค้นวิธีแก้ปัญหาต่อต้านการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต ตั้งชื่อแคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา สานต่อความพยายามต่อเนื่อง 5 ปีที่ดีแทคหวังทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวในงานเปิดตัวแพลตฟอร์มระดมความคิด www.safeinternetlab.com/brave ว่า ดีแทคนั้นเริ่มดำเนินการสำรวจเพื่อศึกษาปัญหากลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมาก่อนจะประเดิมเปิดตัวภาพยนตร์สั้นที่เน้นปมไซเบอร์บูลลี่อย่างเป็นทางการในปี 2559 ซึ่งจาก 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้ในสังคมไทยได้ด้วยการต่อจุด หรือ connect the dot ผ่านฐานะโอเปอเรเตอร์ที่จะสร้างแหล่งข้อมูลที่มีน้ำหนักเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนมากขึ้น

“2-3 ปีก่อนหน้านี้ คนไทยยังไม่พูดคำว่าบูลลี่แบบทั่วถึงเช่นนี้ การรับรู้ยังต่ำมาก สิ่งที่เราเห็นคือปัญหานี้เลยจุดที่จะสร้างการรับรู้มาแล้ว แต่มาถึงขั้นของการแก้ปัญหาที่ต่างออกไป เทรนด์ที่เกิดขึ้นคือปัญหาไซเบอร์บูลลี่ไม่สามารถจบที่ตัวเรา แต่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกัน โดยเฉพาะบุคคลที่ 3 ที่จะต้องร่วมกันแก้”



จุดเน้นของการเปิดตัวแพลตฟอร์มระดมความคิดครั้งนี้คือ การปรับปรุงสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบของประเทศไทยให้ทันสมัย และยกระดับมาตรฐานที่จะนำไปสู่ความปลอดภัยออนไลน์ที่ดีขึ้นสำหรับวัยรุ่นและเด็ก ดีแทคระบุว่า เซสชันระดมสมองจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน เวลา 20.00 น. ถึงวันที่ 28 มิถุนายน เวลา 20.00 น. โดยข้อมูลจากแคมเปญจะถูกสรุปและนำเสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง

ดีแทคย้ำว่า จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น ดีแทคได้ดำเนินโครงการ Safe Internet มาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว สำหรับปีนี้ดีแทคจะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อรับมือกับปัญหาการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ไล่ทันหลายประเทศที่พัฒนาจรรยาบรรณ มาตรฐาน หรือแม้แต่ระเบียบข้อบังคับเพื่อรับรองสิทธิของเหยื่อและจัดการกับปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์


จากการศึกษาของดีแทคเมื่อปีที่แล้ว พบว่า โซเชียลมีเดียไทยมีข้อความที่สร้างความเกลียดชัง 39 ข้อความต่อนาที โดยปัญหาเกิดขึ้นในสถานศึกษามากที่สุด และเพื่อนมักเป็นผู้กระทำการกลั่นแกล้งรังแก การศึกษายังพบว่าประเทศไทยขาดรากฐานของมาตรฐานและข้อบังคับในการกำหนดพื้นฐานร่วมกันเพื่อทำลายวงจรการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ดีแทคจึงร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพั้นช์อัพ สตูดิโอ พัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบ JAM Ideation ให้เยาวชนได้แสดงออกแบบปลอดภัย

แคมเปญจะแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.Domain setting หรือการทำวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลตั้งต้นจากเยาวชนและงานวิจัยต่างประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นกรอบการระดมความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม 2.การระดมความเห็นบนแพลตฟอร์มที่เริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนนี้ และ 3.การสรุปความคิดเห็น เพื่อพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติในการหยุดปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์


แคมเปญนี้จะรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเข้าไว้ด้วยกัน หลังการระดมความคิดเห็น ดีแทคและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ศึกษาวิจัยจะร่วมสรุปประเด็นและแนวทางยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดเป็นกฎหมายในลำดับถัดไป เช่นเดียวกับนานาชาติ เช่น อังกฤษ​ สวีเดน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ศึกษางานวิจัย กล่าวว่า จากการวิจัยในขั้นตอนแรกเพื่อพัฒนาสู่แพลตฟอร์มระดมความคิดเห็น พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประการ หนึ่งในนั้นคือการให้คำนิยาม (Definition) ที่พบว่า อายุ และประสบการณ์มีผลต่อความเข้าใจความหมายของปัญหากลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ 2.คือการลำดับความสำคัญ (Prioritizing) เพราะเหตุของการแกล้งกันบนออนไลน์เกิดจากในชีวิตจริงก่อน โดยผู้ถูกกลั่นแกล้งมักด้อยค่าตัวเองเพราะความแตกต่างจากผู้อื่น นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคคลที่สาม (Bystander) ได้แก่ นักสืบ นักแชร์ มีความสำคัญต่อวงจรการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ ทั้งยังไม่ถูกเอาผิดโดยตรงจากสังคม

สุดท้ายคือการแก้ไข (Solving) พบว่า การจัดการความรู้สึกต่อการถูกบูลลี่ทางออนไลน์ “ยากกว่า” การจัดการในชีวิตจริง และผู้ถูกกลั่นแกล้งมักเลือกแก้ไขหรือจัดการความรู้สึกด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นพบเจอได้ในชีวิตประจำวันและไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น


"การกลั่นแกล้งทางออนไลน์ควรเป็นปัญหาสังคมที่ควรได้รับความสนใจมากขึ้น แคมเปญ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา จะเปิดรับความคิดเห็นข้อเสนอแนะทางออก เพื่อหยุดไซเบอร์บูลลี่ใน 3 ประเด็นที่วัยรุ่นไทยเผชิญอยู่มากที่สุดคือ การเหยียดรูปร่างหน้าตา (Body Shaming) การเหมารวมและอคติทางเพศ (Gender Inequality) และการกล่าวล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ดังนั้น การปลูกฝังและสร้างความเข้าใจเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมไปถึงการนิยามขอบเขตเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันของสังคม จากข้อสังเกต 3 ประการดังกล่าวจึงได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกรอบการระดมความคิดเห็นความแพลตฟอร์ม Jam Ideation ต่อไป”

น.ส.ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้งพั้นช์อัพ สตูดิโอ กล่าวว่า แพลตฟอร์ม Jam ideation ถือเป็น Collaborative technology ที่เข้ามาช่วยทำให้การระดมความเห็นขนาดใหญ่มีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้นในต่างประเทศ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าคิด กล้าแสดงออก และเชื่อว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น