ชาวเน็ตแชร์ข้อความเฟซบุ๊กแพทย์รายหนึ่ง แนะไม่ควรต่อต้านหรือด้อยค่าการซื้อวัคซีนกันตาย ชี้ ลดอาการหนักได้ พร้อมวอนรัฐพยายามต่อรองวัคซีน mRNA เอาเข้ามาเพิ่มเท่าที่ทำได้ ย้ำวัคซีนทุกชนิดสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคนจากโรคระบาด แต่กลับเอามาเป็นเหตุทะเลาะกัน ชวนใช้พลังเชิงบวก ชี้ ใช้พลังลบโกรธเกลียดไม่ช่วยอะไร ทำลายทุกฝ่าย
วันนี้ (9 ก.ค.) ในโซเชียลฯ ได้แชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก Chokchai Ruangroj ของ นพ.โชคชัย เรืองโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ โพสต์ข้อความระบุว่า “เรื่องโรคโควิด และ วัคซีนโควิดตามข้อมูล ณ ปัจจุบัน คือ
1. ตอนนี้ประเทศไทยมีการระบาดมาก คนตายวันละหลายสิบราย ระบาดมากใน กทม.และ ปริมณฑล เตียงรับผู้ป่วย โดยเฉพาะ ICU ไม่พอ
2. เชื้อไวรัส มีการกลายพันธุ์เรื่อยๆ ปัญหาของการกลายพันธุ์ คือ ทำให้มีการแพร่เชื้อและติดได้ง่ายขึ้น มีการดื้อต่อวัคซีนทุกชนิด
3. วัคซีนที่กระตุ้นภูมิได้สูงกว่า ก็จะต้านการดื้อต่อวัคซีนของเชื้อกลายพันธุ์ได้ดีกว่า ถ้าพูดถึงความสามารถในการกระตุ้นภูมิของวัคซีนที่มีในตลาดปัจจุบัน
mRNA สูงกว่า viral vector และ viral vector สูงกว่า เชื้อตาย
ซึ่งภูมิที่สูงกว่า ล้อไปกับ ผลข้างเคียงที่มากกว่า
แต่ผลข้างเคียงของวัคซีนทุกชนิด ยังเกิดในอัตราต่ำมาก การฉีด มีประโยชน์มากกว่าการกลัวผลข้างเคียงแล้วไม่ฉีด
4. สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ในประเทศไทยเดือนเมษา คือ แอลฟา ตั้งแต่มิถุนายนเริ่มมีเดลตามากขึ้น (ซึ่งติดง่ายและดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้น) ตอนนี้เดลตาครองพื้นที่ กทม.แทนแอลฟาแล้ว และกำลังจะครองทั่วประเทศในอีกไม่นาน
5. วัคซีนที่มีใช้ในประเทศไทยตอนนี้ คือ แอสตร้า และ ซิโนแวค ตัวที่โดนบูลลี่มากๆ คือ ซิโนแวค
ผลการใช้ซิโนแวค ในสถานการณ์จริงของไทยต่อเชื้อสายพันธุ์แอลฟา พบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ดี 70-90% ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 51% ที่พูดๆ กันมาหลายเดือน
6. ข้อมูลเฟส 3 pfizer ป้องกันติดเชื้อ 95%, ซิโนแวคป้องกันติดเชื้อได้ 51% ดูเหมือนช่องว่างเยอะ แต่เราจะเอาการศึกษาที่ต่างเวลา ต่างสถานที่ ต่างสายพันธุ์ ต่าง criteria ในการเก็บข้อมูล มาเทียบกันโดยตรงไม่ได้
ที่พอเทียบกันได้ คือ การใช้ในสถานการณ์เดียวกันที่ชิลี ดังนี้
ลดโอกาสการตาย PZ 91.8%, SV 86.4%
ลดโอกาสเข้า ICU PZ 98.4% SV 90%
ลดโอกาสติดเชื้อแบบมีอาการ PZ 90.9%, SV 63.6%
7. การมาของเดลตา ทำให้ซิโนแวคป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง (ลดลงทุกวัคซีน แต่วัคซีนเชื้อตาย ต้นทุนในการกระตุ้นภูมิต่ำกว่าตัวอื่น จึงด้อยลงมากที่สุด) แต่ยังป้องกันอาการหนัก ป้องกันตายได้ดีเหมือนเดิม
8. ในไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีน 2 โดสแล้ว (ส่วนใหญ่เป็น SV) เกิด breakthrough infection (คาดว่าเป็นผลจากเชื้อเดลตาดื้อวัคซีน และระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีน ก็เริ่มต่ำลงตามเวลาที่ผ่านไป) ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง
แต่ต้องกักตัวรักษา และขาดกำลังคนทำงาน ยังไม่ทราบตัวเลขในภาพรวมที่แน่ชัด คงรอรวบรวมข้อมูล
มีเสียงเรียกร้องขอกระตุ้นภูมิ (เข็ม 3) ให้บุคลากรการแพทย์ด้วยวัคซีน “ดีๆ” ซึ่งการศึกษาการกระตุ้นเข็ม 3 ยังไม่เรียบร้อย แต่ใกล้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
ทั่วโลก ก็มีรายงาน vaccine breakthrough infection กันทุกยี่ห้อ แต่ mRNA น่าจะ breakthrough น้อยสุด
9. เมื่อ 3 วันก่อนมีการแชร์เอกสาร note การประชุมของคณะกรรมการด้านวิชาการ “ชุดเล็ก” 3 คณะ เรื่องการใช้ PZ บริจาค 1.5 ล้านโดส เบื้องต้น เสนอให้ระดมฉีดเข็ม1 ให้กลุ่มเสี่ยงก่อน (โดยยังไม่ฉีดกระตุ้นเข็ม 3ให้ HCP)
เมื่อวาน อ.อุดม ในฐานะที่ปรึกษาแก้ไขสถานการณ์โควิดของนายกฯ แถลงหลังประชุมกรรมการ “ชุดใหญ่” ว่าถ้าผลการศึกษาได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระตุ้นภูมิ จะกระตุ้นภูมิให้ HCP เป็นกลุ่มแรก ด้วย AZ หรือ PZ
10. เกิด Dilemma ขึ้น ในการบริหารทรัพยากรที่มีจำกัด ระหว่างการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพื่อกันติดให้ HCP กับ ฉีดเข็ม 1 ให้กลุ่มเสี่ยง เพื่อกันตาย ต่างคนต่างมีเหตุผล แล้วแต่มุมมอง แต่ถ้าพูดในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ ย่อมมีประเด็น conflict of interest แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยุติแล้ว โดยการแถลงของ อ.อุดม
11. ผู้เชี่ยวชาญของโลกและของไทย พูดตรงกันว่า หน้าที่หลักอันดับแรกของวัคซีนโควิด คือ ป้องกันการตายและอาการรุนแรง ซึ่งปัจจุบัน วัคซีนทุกชนิดยังทำหน้าที่หลักของมันได้ดีมาก คือประมาณ 90% แม้เชื้อจะกลายพันธุ์
12. ประเทศไทยเตรียมแผนวัคซีน"ฟรี"สำหรับปีนี้ไว้อย่างต่ำ 100 ล้านโดส คร่าวๆ คือ
AZ 61, PZ 20, JJ 5*2, Sputnik V น่าจะประมาณ 5, SV มากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนวัคซีนไม่ฟรี คือ Moderna ที่รัฐเป็นตัวกลาง ช่วย รพ.เอกชน ซื้อมาขายต่อให้คนที่อยากมีทางเลือกเพิ่มขึ้น (เพราะผู้ผลิตยืนยันไม่ขายให้เอกชนโดยตรง) บริษัทบอกขายให้ได้ 5 ล้านโดส เริ่มทยอยส่งให้ได้เร็วสุดปลายปีนี้
และ Sinopharm ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาขายราคาทุนให้หน่วยงานต่างๆ ซื้อไปฉีดให้ประชาชนฟรี นำเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส และน่าจะมีมาอีก
13. ทั่วโลกขาดแคลนวัคซีนประเทศต่างๆ ใช้ทุกสรรพกำลังในการต่อรองแย่งชิงวัคซีนกัน วัคซีนแทบทุกชนิด ส่งล่าช้ากว่าสัญญาที่ทำไว้ทั่วโลก ประเทศที่ไม่ขาดแคลน คือ ประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ที่กักตุนยอดวัคซีนไว้ตั้งแต่ช่วงวิจัย ใช้ไม่ทัน มีบางส่วนใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุไปแล้วโดยไม่ได้ฉีด และเริ่มมีการบริจาควัคซีนมากขึ้น
14. ประเทศไทยก็โดนผลกระทบจากการเลื่อนส่ง เช่น AZ วัคซีนหลัก เดิมคาดว่าจะได้ 61 ล้านโดสภายในปีนี้ โดยคาดว่าจะได้เดือนละ 10 ล้านโดส ตอนนี้บริษัทแจ้งว่าจัดสรรให้ได้เดือนละ 5-6 ล้านโดส ส่วน pfizer บริษัทแจ้งว่าส่งได้อย่างเร็วสุด ปลายปีนี้
15. ที่ผ่านมา ในบรรดา 5 วัคซีนในแผนวัคซีนฟรีของไทย มีซิโนแวคยี่ห้อเดียว ที่สามารถขยายจำนวน และเร่งเวลาส่งให้เร็วขึ้นได้ เป็นเหตุให้ต้องสั่งมาเติมส่วนที่ล่าช้าของวัคซีนอื่น
16. ตอนนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย ผู้ซื้อต้องยอมทำสัญญาตามเงื่อนไขที่เสียเปรียบผู้ขาย เช่น ผู้ขายมีสิทธิ์เลื่อนส่งได้, ส่งช้ากว่ากำหนดไม่มีค่าปรับ, ถ้ารอไม่ไหว ยกเลิกได้ แต่ไม่คืนเงิน ถ้าเราไม่รับเงื่อนไข ผู้ขายไม่ง้อ มีแต่ต้องพยายามเจรจาให้เสียเปรียบน้อยที่สุด ผู้ขาย(หรืออาจจะประเทศผู้ขาย) กำหนดคิวเอง ไม่ใช่ระบบบัตรคิวที่เรียงลำดับก่อนหลังเพียงอย่างเดียว ทั่วโลกมีข่าวแซงคิว ข่าวทางลัด
17. จำนวนและกำหนดส่งวัคซีน mRNA ที่เราจองไว้ กำหนดไว้แล้ว ว่า PZ 20 ล้าน, MDN 5 ล้าน เริ่มทยอยส่งปลายปี การดีลเริ่มต้นนับ 1 มาตั้งแต่ต้นปี ไม่ใช่รอนับ 1 หลังเซ็นสัญญาซื้อ แล้วบวกไปอีก 4 เดือนอย่างที่บางคนพูด
การเซ็นสัญญาต่างๆ มีกรอบระยะเวลาแต่แรกแล้ว ไม่ว่าจะเซ็นเดือน พ.ค. มิ.ย ก.ค. หรือ ส.ค. ก็ได้ของปลายปีเหมือนเดิม
มีการต่อรองเพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด
18. สัญญาซื้อ PZ เริ่มจากคุยกันเบื้องต้น แล้วลงนามใน
- confidential disclosure agreement เซ็นแล้ว
- binding term sheet เซ็นแล้ว
- Manufacturing and supply สัญญาสุดท้าย เมื่อวาน ครม. มีมติให้ลงนามแล้ว
สัญญา confidential disclosure agreement เป็นตัวเปิดทาง ไม่เซ็นก็ไม่ขาย เซ็นแล้วก็ห้ามเปิดเผยข้อมูล เพราะผู้ขายเค้าเจรจากับแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ราคา ผลประโยชน์ ต่างกัน ที่ผ่านมา เราจึงแทบไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกเลย คนทำงานอยู่ในภาวะพูดไม่ได้
แต่ละประเทศก็มีแนวทางเจรจาของตน เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ จำนวนดีลต่างกัน ดีลเล็กของประเทศประชากรน้อย ดีลได้ง่ายกว่าดีลใหญ่ๆ ของประเทศประชากรเยอะ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างกัน และการดำเนินนโยบายการเมืองโลกของประเทศมหาอำนาจ ก็มีส่วนอย่างยิ่ง
ประเทศไหน ดีลได้ด้วยข้อเสนอแลกผลประโยชน์ใดบ้าง คือสิ่งที่เราไม่อาจรู้ แต่มีข้อสังเกตว่า บางประเทศเจรจาซื้อ mRNA มานาน ไม่คืบหน้า พอมีข่าวสั่งซื้อขีปนาวุธ และ ฝูงบินจากมหาอำนาจ ดีลก็เร็วขึ้น
19. (ความเห็นส่วนตัว) ตอนนี้คนไทยติดเชื้อวันละหลายพัน ตายวันละหลายสิบ ถ้าเลือกสิ่งที่ดีที่สุดได้ ก็ต้องหาวัคซีนกันติดมาให้มากๆ และเร็วๆ แล้วทุกอย่างจะดีตาม แต่นั่นมันความฝัน
ความจริงคือ วัคซีนที่ให้ผลกันติดที่ดีที่สุดตอนนี้ ยังไม่บินมาช่วยเรา ในจำนวนและเวลาที่ทันต่อสถานการณ์
และทุกวัคซีนจะเสื่อมประสิทธิภาพกันติดไปเรื่อยๆ เพราะไวรัสกลายพันธุ์อยู่เสมอ Herd immunity ไม่ใช่ว่าจะสร้างขึ้นได้ด้วยวัคซีนใดที่มีอยู่ในตอนนี้ แต่วัคซีนทุกชนิดยังป้องกันป่วยหนักได้ดี
ถ้าเรียงลำดับความสำคัญตามสถานการณ์ สิ่งที่ทำได้จริง คือต้องเร่งลดคนอาการหนักก่อน คนตายก็จะลด, ภาระ ICU ก็จะลด ต่อให้ติด ก็มักจะอาการน้อยซึ่งแพร่เชื้อได้น้อยกว่าคนอาการมาก ดังนั้น จึงไม่ควรต่อต้านหรือด้อยค่าการซื้อวัคซีนกันตายที่ส่งมาช่วยเราได้จริง จนกว่าทุกคนจะได้รับการกันตาย และควรจะรับรู้ร่วมกันว่า อย่าฝากความหวังไว้กับวัคซีนทั้งหมด หน้ากาก ล้างมือ ปรับวิถีชีวิต ตั้งสติ ความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเราได้มากๆ
ส่วน mRNA ก็อยากให้รัฐพยายามต่อรองเอาเข้ามาเพิ่มเท่าที่ทำได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เราไม่เสียเปรียบเกินไป ทำได้หรือไม่ได้ ก็ต้องพยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจให้ดีกว่าที่ทำมา (แต่ประชาชนควรเข้าใจด้วยว่า การพูดอะไรล่วงหน้าต่อสาธารณะ ก่อนที่การเจรจาจะคืบหน้า จะทำให้การเจรจายากขึ้น) ปัญหาตอนนี้คือ คนส่วนหนึ่ง ไม่เชื่อใจว่ารัฐได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่หรือยัง ในการเอา mRNA เข้ามา รัฐต้องพยายามชี้แจงจุดนี้ให้มากขึ้น
แล้วปีหน้าค่อยไปมองหาวัคซีน generation ใหม่ รวมถึงวัคซีนสัญชาติไทย ที่กำลังพัฒนากันอยู่
20. (ความเห็นส่วนตัว) วัคซีนทุกชนิดสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยชีวิตคนจากโรคระบาด แต่เรากลับเอาวัคซีนมาเป็นเหตุทะเลาะกัน บางคน แค่อาจารย์ผู้ใหญ่บางท่านพูดไม่ถูกใจ ผสมโรงกับสื่อเสี้ยม ก็ไปคุกคาม เหยียดหยามอาจารย์ซะแล้ว
อยากชวนให้พวกเราขับเคลื่อนประเทศด้วยวิธีสร้างสรรค์ ใช้พลังเชิงบวก
การใช้พลังบวก ไม่ใช่สิ่งเดียวกับ การทำเป็นโลกสวย
โลกสวยคือ การแสร้งมองสิ่งต่างๆ ว่าดีงาม น่าเห็นใจ แต่ไม่อยู่ในข้อเท็จจริงและเหตุผล
พลังบวก เช่น ความรัก ความสามัคคี ความเสียสละ ความรอบคอบ ความมีเหตุผล ความสุภาพ ความอดทน การให้อภัย การให้เกียรติ ความซื่อสัตย์ ความยั้งคิด การยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของผู้อื่น พลังเหล่านี้ จะช่วยให้เราแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตซึ่งเป็นภัยธรรมชาติได้ดีที่สุด
พลังลบ เช่น ความคิดอคติ ความโกรธ ความเกลียด ความเห็นแก่ตัว ความหยาบคาย ความก้าวร้าว ความใจร้อน ความไม่ยั้งคิด ความบิดเบือน ความคดโกง ความชวนทะเลาะ
พลังเหล่านี้ไม่ช่วยอะไร และทำลายทุกฝ่าย
เราอาจจะเข้าใจผิด ว่าพลังการด่าของเราช่วยขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งไม่จริงเลย
การด่า ดูเหมือนจะได้ผลในบางเรื่อง แต่ที่มันได้ผล ไม่ใช่เพราะความก้าวร้าวหยาบคาย มันได้ผลเพราะพลังบวกอื่น เช่น ความพร้อมเพรียงในการแสดงออก หรือคนรับฟังเค้ามองข้ามเสียงด่าของเรา แล้วเก็บเอาเนื้อความที่ซ่อนอยู่ในคำด่าไปพิจารณา
ในขณะที่เราด่าใคร ถ้าคนที่เราด่า ศีลเสมอหรือต่ำกว่าเรา สิ่งที่เราจะได้รับคือ การด่ากลับ โดยไม่มีใครสนใจเนื้อหา
แถมเราก็ยุยงกัน เช่น ดีๆ ฟาดอีก, ฟาดมากแม่ เอาอีกๆ
หลายๆ ครั้ง เราด่า เพราะเราถูกปั่นให้โกรธ ความโกรธทำให้เราปิดรับข้อมูล ด่าไปโดยที่ตัวเองยังไม่เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งทุกวันนี้ มีสื่อเสี้ยมและบิดเบือนเต็มโลก social
ถ้าเราเชื่อว่าการด่าจะขับเคลื่อนสังคมให้ดีได้ เราก็คงต้องเชื่อว่าการดุด่า ประชดแดกดัน หรือทุบตีเด็ก จะช่วยให้เด็กรับฟังสาระที่เราต้องการบอก และปรับปรุงตัวให้ดีขึ้นได้ ซึ่งไม่จริง
เราสามารถวิจารณ์ ตำหนิ เสนอแนะได้ตามเหตุผล และข้อเท็จจริงรอบด้าน โดยเลี่ยงการใช้ hate speech ก็สื่อสารได้รู้เรื่อง และดีกว่าการด่าหรือประชดแดกดันกันอย่างแน่นอน