xs
xsm
sm
md
lg

อดีต ป.ป.ช.ตั้งคำถาม? ทำไมสมาคมวิศวะไม่เบรกคำสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ชี้อาจก่อให้เกิดอันตรายใหญ่หลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ได้ออกมาโพสต์ถึงกรณีที่รัฐบาลประกาศปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ชี้อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการก่อสร้าง พร้อมฝากคำถามไปยังผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมเหตุใดไม่ทักท้วง

วันนี้ (2 ก.ค.) เพจ “Professor Vicha Mahakun” หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า “เหตุใดผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมจึงปล่อยให้ผู้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งให้หยุดก่อสร้างทั้งหมดทั่วกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 1 เดือน ด้วยความกลัวว่าโรคโควิด-19 จะระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยมิได้ทักท้วงตามแนวทางแห่งจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องยึดถือไว้ตลอดชีวิต

ตามหลักอันเป็นเลิศของวิชาชีพ (Professionalism) 4 ประการ คือ :
1) ความรอบรู้ (prudence)
2) ความกล้าหาญ (courage)
3) ความพอประมาณ (sufficiency)
4) ความยุติธรรม (justice)

ถามว่า ความกล้าหาญในทางวิชาชีพ ( professional courage) ของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมนั้นได้ใช้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าท่านมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพราะท่านรอบรู้กว่าผู้อื่นในการก่อสร้าง ท่านต้องกล้าที่จะโต้แย้งคัดค้านผู้มีอำนาจอย่างถึงที่สุด ว่าการออกคำสั่งแบบไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบของผู้ที่ขาดความรอบรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมนั้น ย่อมกระทบถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายร้อยแห่งในกรุงเทพมหานคร หากต้องหยุดก่อสร้างอย่างฉับพลันเป็นเวลาถึง 1 เดือน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการก่อสร้าง หรือต้องผ่านบริเวณที่มีการก่อสร้างเหล่านั้น จริงอยู่ แม้ทางโครงการที่มีความเสี่ยงอาจยื่นคำขอต่อผู้มีอำนาจ ให้ผ่อนคลาย หรือยินยอมให้ก่อสร้างต่อไปได้ โดยมีมาตรการควบคุมคนงานมิให้ติดเชื้อโควิด แต่กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เพราะการพิจารณาผ่อนผันตามระบบราชการนั้นมิได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วดังที่พวกเราก็ทราบดี

อนึ่ง ผู้มีอำนาจใน ศบค.ส่วนหนึ่งก็คือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ต้องมีความรอบรู้ ความกล้าหาญ ความพอประมาณ และความยุติธรรม เช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม กฎหมาย และวิชาชีพอื่นๆ ทั้งต้องคำนึงอยู่ทุกลมหายใจว่าผู้ประกอบวิชาชีพนั้นต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุด (best practice) และมีประสิทธิภาพสูง (high performance) จึงจะถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อันสมควรที่จะได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และไว้วางใจ จึงขอฝากบทเรียนในปัญหาด้านจริยธรรมวิชาชีพ ให้ท่านได้โปรดพิจารณาในการออกคำสั่งครั้งต่อไปด้วย”



กำลังโหลดความคิดเห็น