xs
xsm
sm
md
lg

ดังไปทั่วโลก..จลาจลเผาโรงงานแทนทาลัมที่กำลังจะเปิด! ผู้นำเผาได้เป็น ส.ส. ๓ สมัย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ ประเทศไทยเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อมีการจลาจลบุกเข้าเผาโรงงานแทนทาลัมแห่งแรกของประเทศ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและกำลังจะเปิดดำเนินกิจการ ต้องวอดวายไปในเปลวเพลิง ทำให้ประวัติศาสตร์ของภูเก็ตที่เป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกออกสู่ตลาดโลกมาเป็นเวลาร้อยๆปี ต้องเปลี่ยนโฉมหน้าจากการเป็นเมืองแหล่งแร่ดีบุก กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว

“แทนทาลัม” เป็นโลหะหายาก ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์สวีเดนในปี ๒๓๔๕ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๑ ตั้งชื่อตามชื่อตัวละครในเทพนิยายกรีก ตอนนั้นรู้แต่ว่าเป็นธาตุทนไฟ ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง ต่อมาอีก ๑๐๐ ปี ในปี ๒๔๔๕ เยอรมันจึงเอาไปผลิตเป็นเส้นลวดไส้หลอดไฟฟ้า ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ทังสแตนในปี ๒๔๘๓

ต่อมาได้มีการค้นพบปะโยชน์ของแทนทาลัมมากมาย มีจุดหลอมเหลวถึง ๓,๐๑๗ องศาเซนติเกรด ใช้ผสมเป็นโลหะทนความร้อนสูง เป็นตัวที่เพิ่มเข้าไปในการผลิตเหล็กกล้า ส่วนใหญ่เกินครึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า เครื่องตัดโลหะ อวัยวะเทียม อุปกรณ์ผ่าตัด จนถึงเครื่องยนต์ไอพ่น และยานอวกาศ

แทนทาลัมในธรรมชาติจะไม่เกิดอยู่อย่างอิสระ แต่จะแทรกอยู่ในแร่อื่นๆ และมีแทรกอยู่ในดีบุกสูงที่สุด แต่เมื่อถลุงดีบุกแล้วแทนทาลัมไม่อาจหลอมละลายด้วยอุณหภูมิเดียวกับดีบุกได้ จึงเหลืออยู่ในตะกรันดีบุกซึ่งเป็นของเสียที่นำไปทิ้ง สมัยนั้นมีกองตะกรันดีบุกกองอยู่เกลื่อนกราดในภูเก็ต บ้างก็ส่งดีบุกไปถลุงในมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะเสียค่าถลุงแล้ว ยังต้องเสียค่ากำจัดตะกรันดีบุกซึ่งเป็นของเสียด้วย

สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์เป็นเจ้าเมืองภูเก็ต ได้เกณฑ์ให้เจ้าของเหมืองทำถนนแลกเปลี่ยนกับการได้สัมปทานขุดแร่ นายเหมืองต่างๆได้ขนตะกรันแร่ดีบุกที่กองทิ้งไว้เกะกะมาถมถนน บ้างก็เอาไปถมที่ปลูกบ้านเรือน ถนนแทบทุกสายในเมืองภูเก็ตจึงสร้างด้วยตะกรันดีบุก โดยไม่รู้ว่าเป็นถนนที่ถมด้วยทอง

เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่อง “กากน้ำตาล” ที่เป็นของเสียจากโรงงานน้ำตาล สมัยก่อนไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรก็เอาไปราดบนถนนที่มีฝุ่น ทำให้ไม่มีฝุ่นคลุ้งขึ้นมา ต่อมารู้ว่าเป็นของมีประโยชน์ในทางเกษตร ตอนนี้เลยมีร้านขายกากน้ำตาลอยู่เกลื่อน

ในราวปี ๒๕๒๑ จึงรู้กันว่า ในตะกรันดีบุกยังมีแร่แทนทาลัมที่มีราคาสูงผสมอยู่มาก บรรดานายทุนหัวใสจึงต่างแย่งกันยื่นประมูลขอพัฒนาถนนสายเก่าๆในเมืองภูเก็ต โดยจะรื้อถนนเก่าออกแล้วสร้างถนนใหม่ให้ ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนเตาถลุงดีบุกเก่า ต่างก็รื้อบ้านหรือทุบพื้นเพื่อขุดเอาตะกรันดีบุก ตอนนั้นคนภูเก็ตจึงร่ำรวยจากการขุดตะกรันดีบุกขายกันมาก

ในปี ๒๕๒๒ จึงมีการจดทะเบียนบริษัท ไทยแลนด์แทนทาลัม อินดัสตรี จำกัด ด้วยเงินลุงทุนเริ่มต้น ๑๐๐ ล้านบาท จากกลุ่มนักธุรกิจของภูเก็ต และมีนายพงส์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเข้าร่วมถือหุ้นด้วย โดยจะสร้างโรงงานในที่ดิน ๑๒๐ ไร่ขึ้นที่อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ในปี ๒๕๒๔ บริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มการลงทุนเป็น ๑,๐๐๐ ล้านบาท จึงทำสัญญาก่อสร้างจากบริษัทอังกฤษ ซื้อเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทเยอรมัน และได้รับการอนุญาตให้สร้างโรงงานในปี ๒๕๒๖
 
แต่เมื่อสร้างโรงงานเสร็จ พร้อมที่จะเดินเครื่องแล้ว มีกำหนดเปิดในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ ก็มีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประกอบด้วย NGO และนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลกับประชาชนว่าการถลุงแร่แทนทาลัมซึ่งต้องใช้สารเคมีอาจจะเกิดมลพิษ ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ได้กำหนดให้ปี ๒๕๓๐ เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว ททท.และกลุ่มธุรกิจโรงแรมจึงปลุกเร้าให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ และขยายการประชาสัมพันธ์ไปถึงต่างประเทศ

กลุ่มชมรมอนุรักษ์ ๑๕ สถาบันและกลุ่มนักศึกษา ๒๔ สถาบันได้ออกมาเป็นแกนนำประชาชน เดินขบวนคัดค้านโรงงานแทนทาลัมทั่วเมืองภูเก็ต การเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านจุดติด มีประชาชนมาร่วมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนพันกลายเป็นจำนวนหมื่น นายกรัฐมนตรีได้ส่งนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมต.อุตสาหกรรม บินด่วนลงไปเพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เมื่อ รมต.อุสาหกรรมเดินทางไปถึงสนามบินภูเก็ตในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ ก็มีกลุ่มคัดค้านแบกโรงศพจำลองมาเผามาต้อนรับถึงสนามบิน โดยมีนายเรวุฒิ จินดาพล ผู้สมัคร ส.ส.ของจังหวัดภูเก็ต สังกัดพรรคพลังใหม่ เป็นแกนนำ เรียกร้องให้ รมต.อุสาหกรรมสั่งไม่ให้เปิดโรงงานแทนทาลัม

และเมื่อนายจิรายุไปสักการะอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ก็มีผู้ชุมนุมไปดักรอรับ ระหว่างทางยังถูกทุบรถ บ้างก็นอนขวางถนน จนนายสนอง รอดโพธิ์ทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมาขอร้อง รถ รมต.จึงผ่านไปได้

ความวุ่นวายของกลุ่มผู้ต่อต้าน ทำให้ทางจังหวัดตัดสินใจไม่ให้ รมต.จิรายุไปพบกับผู้ชุมนุมราว ๖ หมื่นคนที่ศาลาประชาคมเพื่อฟังความเห็น เพราะเกรงจะเป็นอันตราย จึงทำให้อารมณ์ของผู้ชุมนุมที่รอพบอยู่ร้อนระอุยิ่งขึ้น ขว้างปาสิ่งของเข้าใส่ศาลาประชาคม แล้วตามไปหา รมต.ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลินซึ่งคิดว่าทางการจะไปประชุมกันที่นั่น แต่คณะของ รมต.ไปประชุมที่สถานีตำรวจท่าฉัตรไชย เมื่อบุกเข้าเผารถของโรงแรมแล้ว ตอนบ่ายก็บุกไปที่โรงงานแทนทาลัมใช้น้ำมันเผา และขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดับไฟ กระทั่งค่ำ ตำรวจและทหารจึงเข้าเคลียร์พื้นที่โดยใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนจนต้องสลายตัว ตร.ได้รวบตัวนายเรวุฒิ จินดาพลและน้องชาย พร้อมผู้ชุมนุมนับร้อยในหลายข้อหา ในช่วงค่ำ แม่ทัพภาคที่ ๔ จึงมีประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดภูเก็ต ห้ามประชาชนออกนอกบ้านตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐-๐๖.๐๐ น.

ผลจากการจลาจลในครั้งนี้ทำให้โรงงานแทนทาลัมของบริษัทไทยแลนด์แทนทารัมต้องจบบทบาทในจังหวัดภูเก็ต ย้ายไปเปิดโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ยอมให้กระทรวงการคลัง ธนาคารไทยพาณิชย์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้ามาเป็นผู้ร่วมถือหุ้น ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ในความผิดที่ปล่อยให้เกิดจลาจลในครั้งนี้

สำหรับนายเรวุฒิ จินดาพลได้รับเลือกเป็น ส.ส.ครั้งนั้นแล้ว ยังได้รับเลือกต่อมาอีก ๒ สมัย แต่เขาได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๖ ในขณะอายุได้ ๔๖ ปี

เรื่องนี้จึงเป็นผลจากความขัดแย้งผลประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรของประเทศ จากวันนั้นภูเก็ตก็ต้องละทิ้งบทบาทที่เป็นผู้ผลิตดีบุกมายาวนาน เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก










กำลังโหลดความคิดเห็น