xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! 7 อรหันต์ กสทช.ไม่ตรงปกอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากเส้นทางการสรรหา และแต่งตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ “กสทช.” ต้องล้มลุกคลุกคลานไปครั้งแล้วครั้งเล่า จนทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคมไปนับทศวรรษ

ขณะที่ กสทช.ชุดปัจจุบันที่ต้องอยู่ทำหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจนรากงอกนั้นนับทศวรรษนั้น ส่งผลดี ผลเสียต่อการพัฒนาประเทศอย่างไร การพัฒนากิจการกระจายเสียง ทีวีดิจิทัล และสื่อสารโทรคมนาคม คืบหน้ากันไปถึงไหนอย่างไรนั้น ทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจดี

การจัดระเบียบสถานีวิทยุ และวิทยุชุมชนที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในช่วงระยะ 6-7 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการจัดระเบียบทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีที่ตั้งขึ้นตาประกาศ กสทช.ฉบับชั่วคราว แต่กลับต้องอยู่โยงกันยาวพอๆ กับ “รัฐบาล คสช.” ที่ขอเวลาอกไม่นานก่อนหน้า ได้ทำให้บรรดา วิทยุชุมชนและทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีที่พากันโฆษณาขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอึ่ม เสริมอก หัวหลง ยาปลุกเซ็กซ์ เครื่องรางของขลังกันท่วมบ้านท่วมเมืองในวันนี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี

ทั้งหมด ล้วนเป็นผลงาน “ชิ้นโบแดง” ที่มาจากความล้มเหลวของกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.ชุดใหม่ที่ต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาโดยแท้

โดยเฉพาะในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ที่รับไม้ต่อมาจากรัฐบาลปฏิรูป คสช.แล้ว ไม่น่าเชื่อว่า กระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.ก็ยังคงเต็มไปด้วยความโกลาหล เต็มไปด้วยใบสั่งปลิวว่อนอยู่เช่นเดิม จนทำให้มีการล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ไปถึง 2 ครั้ง 2 คราวทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

โดยครั้งแรกเมื่อกลางปี 2562 ที่ประชุมวุฒิสมาชิกได้โหวตคว่ำรายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ทั้ง 14 คน ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและ “คณะกรรมการสรรหา” เสนอขึ้นมา เนื่องจากรายชื่อว่าที่ กสทช.ที่ส่งมาล้วนมีปัญหาด้านคุณสมบัติที่ “ไม่ตรงปก ก่อนที่หัวหน้า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลานั้น จะงัด ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 8/2562 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 62 ระงับกระบวนการสรรหาและให้ กสทช.ที่ทำหน้าที่อยู่ในเวลานั้นทำหน้าที่ต่อไปแทน

ครั้งล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2564 ที่ประชุมวุฒิสภาก็ “ล้มกระดาน” กระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่อีกคำรบด้วยการชิงทำคลอด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2564 ตัดหน้าหลังจากได้เห็นโฉมหน้า 14 ว่าที่ กสทช.ที่ล้วนแล้วแต่ “ไม่ตรงปก” ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มกระบวนการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ไปโดยปริยาย ทำให้ต้องริเริ่มกระบวนการสรรหา กสทช.ใหม่กันยกชุด กันอีกคำรบวันนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ที่ประชุมวุฒิสภาสั่งล้มกระบวนการสรรหา กสทช .ไปถึง 2 คำรบก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ารายชื่อ “ว่าที่กสทช.” ที่ส่งเข้าประกวด “ไม่ตรงปก” ไม่สอดคล้องคุณสมบัติตามที่กฎหมาย กสทช.กำหนด สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการสรรหา กสทช.ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและโดยเฉพาะ “คณะกรรมการสรรหา กสทช.” นั้น “มีปัญหา” หรือทำหน้าที่ได้อย่างบกพร่องล้มเหลวโดยสิ้นเชิง!

ก็น่าจะเป็นจริงตามนั้น เพราะหากย้อนรอยไปดูกระบวนการสรรหา กสทช.ทั้ง 2 รอบจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการสรรหา กสทช.มีการดำเนินการอย่างหละหลวม ไม่รัดกุมมาตั้งแต่แรก ทั้งการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่เต็มไปด้วยความหละหลวม ทั้งที่ประกาศหลักเกณฑ์สรรหา และ พ.ร.บ.กสทช.นั้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่จะเป็น กสทช.อย่างเข้มงวดทุกกระเบียดนิ้ว

แต่ที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหานั้น ไม่เคยได้ล้วงลูกลงไปตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติ หรือประสานขอข้อมูลต่างๆ ในเชิงลึกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ อาทิ การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือการตรวจสอบการถือครองหุ้นว่าขัดกฎหมายหรือไม่ที่สามารถร้องขอข้อมูลไปยัง ก.ล.ต. ได้ เช่นเดียวกับการตรวจสอบข้อมูลด้านการเงิน มีความผิดปกติ มีประวัติการฟอกเงินหรือไม่อย่างไร ก็สามารถขอข้อมูลไปยัง ปปง. หรือแม้กระทั่งเรื่องของประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ในกิจการวิทยุ กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมก็สามารถประสานขอข้อมูลไปยังสำนักงาน กสทช. ได้

แต่ที่ผ่านมา ในกระบวนการสรรหา กสทช.ทั้งสองครั้ง กลับไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้ มิหนำซ้ำ คณะกรรมการสรรหายัง “ปล่อยผี” ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ทั้งยังไฟเขียวให้ผู้สมัครทุกรายเข้ารับการสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ราวกับมหกรรมการ “ประกวดนักร้องไมค์ทองคำ” เข้าไปเสียอีก จึงไม่แปลกที่เมื่อรายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” เหล่านี้ถูกส่งไปถึงมือที่ประชุมวุฒิสภา จึงถูก “ถลกหนังหัว” ถูกประจานความฉาวโฉ่ กระทำกันแบบลวกๆ จนงานเข้า

อย่าง 14 รายชื่อ “ว่าที่ กสทช.” ที่คณะกรรมการสรรหาส่งเข้าสู่ประชุมวุฒิสภาครั้งล่าสุดเมื่อ 2-3 เดือนก่อนนั้น อย่างน้อย 7-8 ว่าที่ กสทช.ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามานั้นต่างถูกผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขาอย่างหนักว่า กรรมการสรรหาพิจารณากันอีท่าไหน ถึงได้ปล่อยผ่านเข้ามาได้สุด "โหลยโท่ย"ขนาดนี้ ประเภทรับราชการเป็นนายทหารอากาศ (ขาดรัก) มาทั้งชีวิต แต่กลับได้รับการคัดเลือกในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง

หรือบางคนที่มีประวัติด่างพร้อย ถูกสังคมตี้งข้อกังขาว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้งต่อการปฏิบัติหน้าที่ หากปล่อยให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น กสทช.ก็อาจทำให้หน่วยงนถูกลากไปเสียค่าโง่ให้กับบริษัทเอกชนที่ปูเสื่อรอกันอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ การสรรหา กสทช.ระลอกใหม่ ที่เพ่ิงปิดรับสมัครกันไปวันวานโดยมีบรรดาเซเลบระดับนายพล นักวิชาการ และอดีตผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ตบเท่าเข้ารับการสรรหาถึง 78 คนนั้น แม้ว่าคณะกรรมการสรรหา 4 ใน 7 คนจะเป็น “คนหน้าเดิม” ที่เคยทำพลาดมาแล้วมา 2 ครั้ง 2 คราว แต่ทุกฝ่ายก็ได้แต่หวังว่าบทเรียนจากการที่ถูกผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขาในกระบวนการสรรหาตลอดช่วงที่ผ่านมานั้น น่าจะทำให้คณะกรรมการสรรหา ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีจุดยืนในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยยึดตัวบทกฎหมาย กสทช.เป็นหลัก
เพราะหากทุกฝ่ายจะย้อนรอยไปดูเหคุผลในการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2564 ล่าสุดนั้น จะเห็นได้ว่าท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ระบุเหตุผลที่ต้องแก้ไขเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ...โดยที่มีการตราพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2560 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตลอดจนหลักเกณฑ์คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งวิธีการสรรหาและคัดเลือกบุคคล เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

แต่ปรากฏว่า ได้เกิดสภาพปัญหาในทางปฏิบัติบางประการ ทำให้การสรรหาและคัดเลือกบุคคล ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับได้มีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับคัดเลือก จึงสมควรแก้ไขกฏหมายฉบับนี้เพื่อขจัดข้อขัดข้องทั้งปวงที่เกิดขึ้น

ดังนั้น การทำหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจากนี้ไปจะพิจารณากันอย่าลวกๆ ขอไปทีอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะอาจเจอข้อหา 157 ได้ทันที

หรือหากคณะกรรมการสรรหายังคงดำเนินการสรรหาไปตาม “ครรลองเดิม” โดยปราศจากความรู้ ความเข้าใจในตัวบทกฎหมายและเจตนารมณ์ของการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้อีก ก็คงหนีไม่พ้นที่เราจะได้ว่าที่ กสทช.“ไม่ตรงปก” คือ ได้บุคคลที่เต็มไปด้วยบาดแผล ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญที่แท้จริง เผลอๆ อาจได้บุคคลที่กลุ่มทุนการเมือง ผู้มีอำนาจหรือ Invisible Hand ที่ไหนก็ไม่รู้ คอยชักใยอยู่เบื้องหลังเข้ามาอีก

ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อสถานะของ กสทช.และเส้นทางการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างรุนแรง!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น