ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ทำไมใครๆ ก็ปรารถนา ลุ้นเป็น “7 อรหันต์ กสทช.” อดีตบิ๊กทหาร-ข้าราชการ-คนดัง “ศรีวราห์-ไก่อู” ลงสมัครกันตรึม
หลังเปิดรับสมัครการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ครบ 7 วัน ปรากฏมีผู้สนใจยื่นแข่งขันกันกว่า 78 ราย
กวาดสายตาดูรายชื่อทั้งหลายทั้งปวง ก็จะเห็นว่า นอกจากบรรดาหน้าเก่าที่วนเวียนสมัครมาหลายรอบ และที่เคยเข้ารอบ 14 คนก่อนนี้แล้ว ถูกคว่ำหัวคะมำก่อนจะถึงฝั่งฝันก็มากันครบ เพิ่มเติมขึ้นมาก็มีบรรดาตัวเก็ง “บิ๊กเนม” ทั้งหลายทั้งอดีตข้าราชการทหาร-ตำรวจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ คนมีชื่อในวงการ แห่แหนกันลงชิงชัย
หยิบมาให้ดูเป็นตัวอย่างก็เช่น “พลอากาศเอก มานัต วงษ์วาทย์” อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ “พลเอก กิตติ เกตุศรี” ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการกองทัพไทย “พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์” อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด “พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์” อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด “พลเอก ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์” เจ้ากรมพระธรรมนูญ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “เสธ.ไก่อู”
เรียกว่า ตบเท้ามาทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ
ขณะที่ตำรวจก็มี “พลตำรวจเอก ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร” ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนดังเป็นตัวชูโรง
ส่วนรายชื่ออื่นๆ ก็ไล่ไปตั้งแต่อดีตผู้บริหารระดับสูงขององค์กรรัฐ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา อัยการ สื่อมวลชน ต้องบอกว่า จำนวนไม่น้อยกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา
คำถามสุดฮิตว่า ทำไมใครๆ ก็ปรารถนาอยากจะสมัครเข้ารับเลือกให้นั่งเป็น “7 อรหันต์ กสทช.” เรื่องที่บอกเล่ากันได้ก็คงเป็นเพราะเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ในตำแหน่งนั้น เป็นตัวเลขที่สูงกว่าองค์กรไหนๆ
ว่ากันว่า เงินเดือน กสทช. นั้นสูงกว่า “ลุงตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แน่ๆ โดยเงินเดือนของประธาน กสทช. จะอยู่ที่ 335,520 บาท, ส่วนเงินเดือนของเหล่ากรรมการ จะอยู่ที่ 269,000 บาท ในขณะที่เงินเดือนของนายกฯ อยู่ที่ 125,590 บาท
นอกจากเงินเดือนแล้วยังมีงบรับรองแขก 200,000 บาท ต่อเดือน ใช้ไม่พอขอเบิกเพิ่มได้ และหากไม่ติดโควิด สามารถบินไปดูงานต่างประเทศได้ ก็ตั้งงบกันปีละหลายล้าน ซึ่งเคยมี กสทช.รุ่นก่อนๆ ที่มีสิทธิประโยชน์ได้นั่ง “เฟริส์คลาส” กันชิลล์ๆ
แถมด้วยสามารถแต่งตั้งที่ปรึกษา, คณะทำงานได้เอง เงินเดือนก็ว่ากันหลักแสน และยังได้เบี้ยประชุมสูงสุดครั้งละ 10,000 บาท เป็นค่าเหนือยอีกต่างหาก
ต้องบอกว่า อยู่ในวาระ 6 ปี ชีวิตดี๊ดีย์กันเลยทีเดียว
นี่ยังไม่นับ เกียรติยศ ชื่อเสียง “อำนาจ และ บารมี” ที่มาพร้อมกับความเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ ในประเทศด้านกิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมต่างๆ อาทิ การจัดประมูลคลื่นความถี่ ควบคุมผู้ให้บริการ ที่ทำให้องค์กรแห่งนี้ได้ชื่อว่า นั่งทับผลประโยชน์หลายแสนล้านของประเทศ
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจไปว่า ทำไมจึงมีคนมาสมัครอยากเป็นกรรมการ กสทช.กันเป็นทิวแถว
หลังจากนี้ ตาม Time line กระบวนการสรรหาก็จะเข้าสู่การตรวจคุณสมบัติ ผู้สมัครราวๆ กันยายน จะถึงรอบการสัมภาษณ์ผู้สมัคร และ โหวต รับรองผล เพื่อส่งรายชื่อเสนอ ส.ว. พิจารณาต่อไป
งานนี้ก็ต้องเกาะติดกันให้ดีๆ ทั้งตัวเก็ง และ ตัวเกร็ง ทั้งหลาย ถ้าเลือกกันอย่างโปร่งใส คัดคนดีๆ มีฝีมือเข้าไปทำงานก็ดีต่อประเทศ และ กิจการโทรคมนาคม แต่จากทุกครั้งของการสรรหาที่ผ่านๆ มาจะมาพร้อมกับ “ข้อครหา” เล่นพรรคเล่นพวก โดยมี “เจ้ามือ” ขาใหญ่ผู้มีบารมีเหนือกรรมการสรรหา คอยชักใย อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็แว่วว่า สรรหา 7 กสทช.คราวนี้ คนกลุ่มนี้เริ่มขยับไม้ขยับมือ จัดตัววางคนกันทำงานแล้ว
เอาไว้เรามา “ฉีกหน้ากาก” กลุ่มคนเหล่านี้ในตอนต่อๆ ไปกัน.
** 4 พันแล้วจ้า! ยอดป่วยโควิดรายวัน แต่ยังดันจะเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เมื่อไหร่จะยอมรับความจริงเสียที ทีมวิชาเกินรอบตัว “ลุงตู่” ถึงเวลาต้องรื้อหรือยัง พลันที่แฟนเพจ “ศูนย์ข้อมูลโควิด-19” รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในรอบวัน เมื่อเช้าวาน (22 มิ.ย.) ออกมาที่ 4,059 คน “รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์” แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก็รีบโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” ทันที ว่า “สี่พันแล้วนะครับ ยอมรับความจริงเสียที จำเป็นต้องรื้อวงเดิม ทั้งที่ปรึกษา วิชาเกิน และนโยบาย ก่อนจะเกินเยียวยา”
สะท้อนถึงความอึดอัดจนสุดจะทนของคุณหมอท่านนี้ นั่นเพราะในตัวเลข 4 พันกว่าคนที่รายงานออกมาเมื่อวาน ถ้าแยกแยะออกมาก็จะพบว่า เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำเพียง 75 ราย ส่วนอีก 3,963 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวัง-บริการ และจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน และอีก 21 คน เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ ตัวเลขมันจึงฟ้องอยู่ทนโท่ว่า การควบคุมการแพร่ระบาดยังไม่ได้ผล
ยิ่งถ้าย้อนไปดูตัวเลขตั้งแต่การเริ่มระบาดระลอก 3 เมื่อตอนต้นเดือน เม.ย. ก็จะเห็นว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันมันมีแต่ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จาก 1 พันกว่า เป็น 2 พัน 3 พัน และล่าสุด ก็ขึ้นไปถึง 4 พัน ทั้งที่ ศบค.ได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมาแล้ว 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 18 เม.ย., 1 พ.ค. และ 17 พ.ค. จนล่าสุดเหมือนว่าจะยอมแพ้ ต้องประกาศผ่อนคลายมาตรการเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงเพิ่มขึ้น
ส่วน “ท่านผู้นำตู่” ก็ได้ออกแถลงการณ์ทางทีวีพูลไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประกาศจะต้องเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศใหเกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว โดยจะเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้อย่างน้อยเข็มแรก 50 ล้านคน ภายในสิ้นเดือน ต.ค.เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้อย่างสบายใจ โดยมีพื้นที่นำร่องคือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” กำหนดวันดีเดย์ 1 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งที่ประชุม ครม.ก็เห็นชอบไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวานที่ผ่านมา
ขณะที่ “หมอธีระ” ได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมอีกว่า “เสียใจที่ไม่สามารถยับยั้งคลื่นสองและสามได้ ที่เคยคาดการณ์ไว้ และบอกล่วงหน้าแล้ว ว่าจะเจออะไร จะหนักเพียงใด ที่เคยบอกแล้วว่าอาวุธป้องกันนั้นมีปัญหา และควรต้องทำอย่างไร ที่เห็นต้นไม้ที่เหี่ยวแห้ง ทั้งชั่วคราวและถาวร รวมถึงใบไม้ที่ร่วงหล่นใบแล้วใบเล่า จะชนะศึกได้ ต้องปรับทัพใหม่ทั้งหมด ทั้งกุนซือ แม่ทัพนายกอง และยุทโธปกรณ์ ธรรมาภิบาลจะเป็นสิ่งที่นำไปสู่ชัยชนะ”
รวมทั้งยังได้แสดงความห่วงใยว่า อาจจะเกิดระบาดระลอก 4 ในไตรมาสสุดท้ายของปี การระบาดอาจทำให้ไทยขึ้น Top 5 เอเชีย หรือ Top 10 โลก อาจกลายเป็นเสือพิการ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เข้าสู่โหมดฟื้นฟูประเทศ พร้อมกับทิ้งท้ายให้ขบคิดอีกว่า “ศึกนี้ยาวมากครับ หากไม่ช่วยกันเรียกร้องให้สังคายนากลไกการบริหารจัดการนโยบายและมาตรการด้านสุขภาพท่องเที่ยวเดินทาง”
เมื่อ “หมอธีระ” พูดถึงการ “สังคายนากลไกการบริหารจัดการนโยบาย” คำถามก็ต้องพุ่งไปที่ “นายกฯ ลุงตู่” ซึ่งมีอำนาจสูงสุดทั้งในฐานะผู้บริหารประเทศ และในฐานะ ผอ.ศบค.ว่า ท่านจะเอาอย่างไรกันแน่ และแน่นอน คนที่เป็นทหารมาทั้งชีวิต ไม่ได้มีความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างลึกซึ้งถึงแก่นมาก่อน การจะตัดสินใจว่าจะเปิดประเทศหรือไม่เปิด จะคลายล็อกหรือจะล็อกต่อ ในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ ท่านนายกฯ ก็ต้องฟังที่ปรึกษาที่เป็นหมอๆ ทั้งหลาย
แล้วถ้าจะไล่รายชื่อหมอๆ ผู้อาวุโส ระดับอาจารย์แพทย์ ที่ “นายกฯ ลุงตู่” เคยใช้บริการคำปรึกษามาตั้งแต่โควิดระบาดรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ก็มี 1. "ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร" อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีต รมว.สาธารณสุข และล่าสุด ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการในการจัดหาวัคซีนทางเลือก 2. “ศ.นพ.อุดม คชินทร” อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อดีต รมช.ศึกษาธิการ 3. “ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4. “ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี” อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และ 5. “ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์” นายกแพทยสภา
ส่วน “ที่ปรึกษา วิชาเกิน” ที่ “หมอธีระ” เห็นว่า “จำเป็นต้องรื้อ ก่อนจะเกินเยียวยา” นั้น จะหมายถึงหมอๆ ที่อยู่รอบตัวท่านนายกฯ เหล่านี้หรือไม่ ก็ไม่อาจทราบได้