xs
xsm
sm
md
lg

คณะทำงานการศึกษา พรรคกล้า ยกกรณีฝาท่อญี่ปุ่น ผุดไอเดียพลังสร้างสรรค์ ยกระดับเสาไฟไทยสร้างรายได้ผ่านการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชาร์ต-สืบศิษฏ์” คณะทำงานการศึกษา พรรคกล้า ยกกรณีศึกษาฝาท่อญี่ปุ่น ผุดไอเดีย หวังยกระดับเสาไฟไทยผลักดันเป็นพลังสร้างสรรค์ Soft Power เสนอสื่อกลางขายความเป็นไทยให้โลกรู้จัก พร้อมเพิ่มรายได้เข้าสู่ประเทศผ่านการท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. เพจเฟซบุ๊ก “สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ - Suebsit Sarntisart” หรือ ชาร์ต สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ คณะทำงานการศึกษา พรรคกล้า ได้โพสต์เรื่องราวยกกรณีฝาท่อญี่ปุ่นกับเสาไฟฟ้าประติมากรรมต่างๆ ในประเทศไทย ที่กำลังเป็นกระแสในเรื่องงบประมาณที่แพงเกินไป ทั้งได้ประโยชน์อะไรคุ้มค่ากว่าเสาไฟฟ้าธรรมดา แต่ฝาท่อญี่ปุ่นเกิดจากพลังสร้างสรรค์ Soft Power สอดแทรกวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น จนกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และสร้างรายได้การท่องเที่ยวมากขึ้น โดยทางเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุข้อความว่า

เสาไฟกินรีไทยกับกรณีศึกษาฝาท่อในประเทศญี่ปุ่น]...เปลี่ยนคำครหาเป็น Soft Power สื่อกลางขายความเป็นไทยให้โลกรู้จักพร้อมเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจจะได้เห็นภาพเสาไฟราคาแพงตามโลกโซเชียลอยู่มากมาย เริ่มจากเสาไฟกินรี ต่อไปที่เสาไฟเครื่องบิน และกำลังมีอีกหลายเสาไฟที่พร้อมที่จะถูกขุดขึ้นมาเป็นข้อครหาได้ทุกเมื่อด้วยราคาที่แพงหูฉี่กับคำถามที่ว่าจำเป็นไหมและประชาชนอย่างพวกเราได้ประโยชน์อะไรคุ้มค่ากว่าเสาไฟธรรมดานอกจากการให้แสงสว่างบ้าง?

เสาไฟแพงเกินควรไหม? วันนี้ผมขอไม่พูดในส่วนนี้ละกันเนื่องจากตัวผมเองไม่มีความรู้เพียงพอที่จะตอบ แต่ผมอยากนำเรื่องนี้มาเสนอให้เห็นมุมมองใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน สร้างรายได้ในวิถีใหม่ๆ ให้กับประเทศของเราโดยผมขอบยกกรณีตัวอย่างฝาท่อของประเทศญี่ปุ่นมาเล่าให้ฟังครับ

ผมเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ชอบเที่ยวญี่ปุ่นมากๆครับ (ผมเชื่อว่าหลายคนคงชอบไม่ต่างจากผม) และอาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าผมมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นยาวๆ ถึงสามครั้ง ทำให้ผมได้มีเวลามาสนใจถึงรายละเอียดต่างๆ ที่มีอยู่มากมายเหลือเกินในประเทศนี้

หนึ่งรายละเอียดที่มักจะเตะตาผมอยูบ่อยครั้งที่ออกไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ ก็คือ เจ้าฝาท่อนี่แหละครับ เพราะฝาท่อที่นี่มันไม่ธรรมดางัยครับ...แต่มันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อถึงศิลปะที่สอดแทรกไปด้วยวัฒนธรรมชนบทของญี่ปุ่น จากสีสันที่เตะตาและลวดลายต่างๆที่มีเอกลักษณ์ มีสตอรี่ เชื่อไหมครับ...ผมได้ยินมาว่าปัจจุบันทำออกมาแล้วอยู่หลายพันลวดลายวางอยู่ตามจุดต่างๆจนกลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวหลายคนจะต้องเก็บภาพไปให้ได้เมื่อได้มีโอกาสเยือนสถานที่นั้นๆ ครับ

ผมจะเล่าความพิเศษของมันให้ฟังครับ...ในฝาท่อที่เราเห็นๆกันอยู่ ไปถ่ายรูปกันอยู่ทุกๆชิ้นต่างถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถันโดยเชื่อมโยงความเป็นเอกลักษณ์หรือสตอรี่ของสถานที่นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ตราประจำเมือง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เทศกาลประจำท้องถิ่น รวมไปถึงนกหรือดอกไม้ประจำพื้นที่ อย่างทากาซากิ (Takasaki) ที่เป็นเมืองในพื้นที่ภูเขาของจังหวัดกุนหมะ (Gunma) ก็จะนำเทศกาลดอกไม้ไฟฤดูร้อนของเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักดีมาทำเป็นลวดลายลงบนฝาท่อ หรืออย่างเขตทามะ (Tama) ของโตเกียวก็จะใช้มีการใส่ตัวคาแรกเตอร์คิตตี้น่ารักๆลงไปเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสวนสนุก Sanrio Puroland หรือแม้แต่ในวงการกีฬาเองอย่างจังหวัดโยโกฮาม่าก็มีการนำโลโก้ประจำทีมเบสบอลของจังหวัดมาทำเป็นลวดลายบนฝาท่อในพื้นที่ใกล้เคียงสนามกีฬาดึงดูดแฟนกีฬา เห็นหรือยังครับว่าฝาท่อญี่ปุ่นนั้นหลากหลายขนาดไหน

หากจะมองถึงตัวเลขของความหลากหลายที่เกิดขึ้นนี้ ปัจจุบันพบว่ากว่า 95% ของ 1,718 เขต ใน 47 จังหวัดของญี่ปุ่นต่างพร้อมใจกันสร้างสรรค์ฝาท่อที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยพบว่ามีต้นทุนอยู่ที่ราวๆสองหมื่นถึงสามหมื่นบาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับความพิถีพิถันของลวดลายและสีสันที่ใส่ลงไป อย่างว่าแหละครับ…งานฝีมือคงต้องมีราคากันหน่อย

แต่ที่น่าประทับใจไปกว่าการพร้อมใจสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมาโดยใช้สื่อกลางเดียวกันอย่างฝาท่อแล้ว ความจริงจังของคนญี่ปุ่นที่นำสตอรี่ของฝาท่อนี้มาสานต่อให้เกิด Soft Power เบาๆ นี่น่าทึ่งยิ่งกว่าครับ! เพราะทุกวันนี้มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็น Japan Ground Manhole Association หรือ Japanese Society of Manhole Covers ที่มีการทำเว็บไซต์รวบรวมลวดลายต่างๆกว่าหกพันลวดลาย!!!แถมยังมีแพลตฟอร์มเปิดให้แฟนๆจากทั่วโลกได้ส่งรูปถ่ายสวยๆมาแลกเปลี่ยนกัน และที่ยิ่งไปกว่านั้น เชื่อไหมครับ ญี่ปุ่นมีการจัดงานเทศกาลแสดงฝาท่อกลางกรุงโตเกียวอย่าง Manhole Festival (บ้าไปแล้ว!! เทศกาลโชว์ฝาท่อ) เรียกได้ว่าเป็นการปั้นของธรรมดาๆอย่างฝาท่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสามารถขายวัฒนธรรมของชาติตัวเองไปได้ทั่วโลกเกิดการซึมซับของแฟนๆไปโดยปริยายอย่างไม่รู้ตัว และผลที่ได้ก็คือการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวญี่ปุ่นโดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็จะตามถ่ายรูปฝาท่อของสถานที่ต่างๆที่ตัวเองไปเยือนแชร์ออกไปตามสื่อต่างๆตามโลกโซเชียล หรือเกิดแฟนคลับกลุ่มย่อมๆที่ต้องคอยหาตราประทับลายฝาท่อของสถานที่ต่างๆที่ตัวเองไปโดยมีวางอยุ่ตามสถานีรถไฟ หรือแม้แต่การจับจ่ายซื้อของชำร่วยที่เป็นฝาท่อขนาดจำลองสะสมเป็นคอลเลคชั่นโดยหาซื้อได้ไม่ยากตามร้านในห้างสรรพสินค้าอย่าง Tokyu Hands ครับ

กลับมามองที่เมืองไทยของเรา...หากจะหาสื่อกลางสักอย่างนำมาสร้าง Soft Power ให้ได้อย่างญี่ปุ่นเสาไฟฟ้าเหล่านั้นอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่แย่ครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการได้รับแรงผลักจากรัฐส่งเสริมให้พัฒนาและช่วยผลักดันไปในทิศทางเดียวกันเพราะผมมั่นใจว่าหากพูดถึงการมีความคิดสร้างสรรค์หรือความใส่ใจในรายละเอียดแล้ว ศิลปะของไทยเราไม่แพ้ชาติได้แน่นอนครับ....ลอกนึกภาพไปพร้อมๆ กัน เล่นๆ นะครับว่า ในอีกห้าปีข้างหน้า เราจะมีเสาไฟที่มีลวดลายสื่อถึงความเป็นไทยแตกต่างไปตามสตอรี่ของแต่ละพื้นที่ หากวันนั้นเกิดขึ้นจริง เราอาจจะได้เห็นนักท่องเที่ยวยืนถ่ายรูปกับเสาไฟไปทั่วทุกพื้นที่และอัพรูปแชร์กันสนั่นลงโซเชียลก็ได้ครับ หรือเกิดแฟนคลับกลุ่มเล็กๆ ที่คลั่งไคล้เก็บของสะสมเป็นคอลเลคชั่นและรักเมืองไทยมากขึ้น มาเที่ยวเมืองไทยบ่อยกว่าเดิมครับ นี่แหละครับพลังของ Soft Power ที่คนมักมองข้ามแต่ทรงพลังที่สุด

ป.ล. ขอบคุณภาพเสาไฟสวยๆ จากไทยรัฐครับ

[เสาไฟกินรีไทยกับกรณีศึกษาฝาท่อในประเทศญี่ปุ่น]...เปลี่ยนคำครหาเป็น Soft Power...โพสต์โดย สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ - Suebsit Sarntisart เมื่อ วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2021





กำลังโหลดความคิดเห็น