xs
xsm
sm
md
lg

“พระยาราชกปิตันเหล็ก” ถวายปืนนกสับ ร.๑ พันสี่ร้อยกระบอก! คือคนที่บุกยึดปีนังไปจากไทย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ไทยเสียดินแดนครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็คือเสียเกาะหมากหรือเกาะปีนังให้แก่อังกฤษใน พ.ศ.๒๓๒๙ สาเหตุมาจากที่พระยาไทรบุรีที่อยู่ในการปกครองของไทย หวั่นเกรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ กำลังนำทัพลงไปจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ เกรงว่าตนจะได้รับผลร้าย จึงไปขอความคุ้มครองจากอังกฤษ ขณะนั้นอังกฤษกำลังเล็งภูเก็ตและปีนังอยู่แล้ว อยากได้เป็นสถานีการค้าในย่านนี้ จึงยื่นเงื่อนไขขอทำสัญญาเช่าเกาะปีนัง พระยาไทรบุรีซึ่งไม่มีอำนาจกระทำโดยพละการ ก็แอบเซ็นสัญญาให้อังกฤษ อังกฤษจึงได้โอกาสส่งทหารเข้าครอบครองปีนัง
คนที่นำทหารเข้ายึดปีนังในครั้งนี้ ก็คือ กัปตันฟรานซิส ไลท์ ฝรั่งชาติอังกฤษที่เข้ามาค้าขายอยู่ในย่านนี้หลายปีแล้ว เคยเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เป็นที่รู้จักของคนไทยอย่างกว้างขวาง เรียกกันว่า “กะปิตันเหล็ก” คำว่า “เหล็ก” สันนิษฐานว่าคงมาจากการกระดกลิ้นคำว่า “ไลท์” ไม่ถนัดนั่นเอง

ฟรานซิส ไลท์ เป็นอดีตทหารเรืออังกฤษ ได้ลาออกจากราชการเมื่อเป็นเรือโท มาเป็นนายเรือสินค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก ซึ่งเป็นบริษัทการค้าที่ทรงอิทธิพลของอังกฤษ และตั้งสำนักงานอยู่ที่ภูเก็ตถึง ๑๕ ปีจนมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับพระยาพิมล (ขัน) เจ้าเมืองภูเก็ต และท่านผู้หญิงจัน หรือท้าวเทพกระษัตรี ภรรยาของพระยาพิมล ได้ภรรยาเป็นชาวภูเก็ตเชื้อสายไทย-โปรตุเกส ชื่อ มาร์ตินา โรเซล มีบุตรด้วยกัน ๕ คน

ในสมัยกรุงธนบุรี ฟรานซิส ไลท์มีความดีความชอบจัดหาซื้อปืนมาได้ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าตากสิน จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาราชกปิตัน”
 
พระยาราชกปิตันได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งสำนักงานซื้อขายแร่ดีบุกขึ้นที่เมืองภูเก็ต ก็ได้รับพระบรมราชานุญาต เพราะพระเจ้าตากสินมีพระราชประสงค์จะฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมืองหลังกู้ชาติ พร้อมทั้งให้พระยาพิมล (ขัน) มากำกับดูแลการค้าแร่ จนได้รับโปรดเกล้าฯขึ้นเป็นพระยาสุรินทรราชา เจ้าเมืองภูเก็ต พร้อมกับคุณหญิงจันภรรยาได้เลื่อนขึ้นเป็นท่านผู้หญิงจันด้วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีบันทึกใน “พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา” ว่า

“...อนึ่งในเดือนสิบนั้น กะปิตันเหล็กอังกฤษเจ้าเมืองเกาะหมาก ส่งปืนนกสับเข้ามาถวายพันสี่ร้อยกระบอก กับสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ...”

ส่วนความสัมพันธ์ของพระยาราชกปิตันกับครอบครัวของเจ้าเมืองภูเก็ตนั้นดูจะลึกซึ้งมาก แม้ไปอยู่ปีนังแล้วก็ยังไปมาหากัน ส่งข่าวคราวสารทุกข์สุกดิบและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กล่าวกันว่าที่ฟรานซิส ไลท์ได้เมียจากภูเก็ตไปก็ด้วยการแนะนำของคุณหญิงจัน และที่อังกฤษเบนเข็มไปยึดเกาะปีนังแทนที่จะยึดเกาะภูเก็ต ก็เพราะฟรานซิส ไลท์มีส่วนสำคัญ

นายอ้วน สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้ไปค้นพบจดหมายที่พระยาถลางและคุณหญิงจันมีไปถึงฟรานซิส ไลท์ ระหว่างปี ๒๓๒๘-๒๓๓๓ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ๖ ฉบับ และขอถ่ายสำเนามาเก็บไว้ที่หอสมุดจังหวัดภูเก็ต ปรากฏข้อความว่า ก่อนที่พม่าจะยก ๙ กองทัพมาบุกไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น เมื่อท่านผู้หญิงจันส่งลูกชายไปเยี่ยมที่ปีนัง ฟรานซิส ไลท์ได้ฝากคำเตือนมายังท่านผู้หญิงจันให้เตรียมตัวไว้ เพราะภูเก็ตจะอยู่ในเป้าหมายด้วย ซึ่งท่านผู้หญิงมีหนังสือตอบไปว่า ถ้ามีศึกพม่ามาก็หวังจะพึ่งฟรานซิส ไลท์

เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว ท่านผู้หญิงจันได้มีหนังสือไปถึงฟรานซิส ไลท์ แจ้งว่าถูกพม่าเผายุ้งข้าวไปมาก ทำให้พลเมืองอดอยาก ขอให้ช่วยส่งเรือสินค้านำข้าวมาจำหน่ายให้ทันเดือน ๑๑ ก่อนที่ประชาชนจะทำนาได้ และต่อมามีจดหมายของบุตรชายท่านผู้หญิงจันที่มีไปขอบคุณฟรานซิส ไลท์ที่ช่วยเรื่องนี้ได้ทันการ

นอกจากนั้น เมื่อลูกชายท่านผู้หญิงจันได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นพระยาถลางแล้ว ได้มีหนังสือไปขอบคุณพระยาราชกปิตันที่ได้ให้คนมาบอกว่า พระยาไทรบุรีได้คบอ่านกับแขกโจรร้าย ยกออกจากปีนังมาแล้ว อย่าได้ไว้ใจให้เตรียมการรับไว้ด้วย

แต่แล้วในเดือนกรกฎาคม ๒๓๒๙ ระหว่างมีการเจรจาที่เจ้าเมืองไทรบุรีขอความคุ้มครองจากอังกฤษ ฟรานซิส ไลท์ก็นำทหารลงเรือเตรียมพร้อมที่เมืองไทรบุรี จากนั้นในวันที่ ๑๔ กรกฎาคมจึงออกเรือมุ่งไปที่เกาะปีนัง ทอดสมอรอดูสถานการณ์อยู่สามวันจึงยกพลขึ้นเกาะ สร้างที่พักและป้อมค่าย พอวันที่ ๑๑ สิงหาคมอันเป็นประสูติของปรินซ์ออฟเวลส์ มกุฎราชกุมารแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ ก็ชักธงอังกฤษขึ้นเสา ประกาศว่าเกาะปีนังเป็นของอังกฤษ และได้ชื่อใหม่ว่า “ปรินซ์ออฟเวส์”
จากนั้น ฟรานซิส ไลท์ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองปีนังคนแรก หลังจากนั้นเมื่อได้ข่าวไทยต้องทำศึกกับพม่า ฟรานซิส ไลท์ เจ้าเมืองปรินซ์ออฟเวลล์ยังได้ส่งปืนนกสับพันสี่ร้อยกระบอกเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ฟรานซิส ไลท์อยู่ในตำแห่งเจ้าเมืองปีนังได้ ๔ ปีก็ถึงแก่กรรมด้วยไข้มาเลเรียเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๓๓๗ และในวันนี้ของทุกปีก็จะมีการชักธงอังกฤษขึ้นที่ยอดเสาของสุสานโปรแตสแตนท์ ถนนนอร์แทม เพื่อรำลึกถึงฟรานซิส ไลท์ ผู้ยึดเกาะปีนังของไทยไปเป็นของอังกฤษ

นี่ก็เป็นบทบาทของฝรั่งอีกคนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย แม้เขาจะมีความรักใคร่สนิทสนมกับคนไทยลึกซึ้งอย่างไร แต่เขาก็ต้องทำเพื่อชาติของเขา โดยมีรัฐบาลเป็นผู้กำหนดหน้าที่


กำลังโหลดความคิดเห็น