กรุงเทพมหานครของเรา ดูจะมีความพร้อมสมบูรณ์ไปทุกอย่าง มีศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสบายๆ มีความสงบสุขที่หลายประเทศอิจฉา และใครว่ากรุงเทพฯอยู่ในพื้นที่ราบไม่ติดทะเล แต่เราก็มีภูเขาทอง มีชายทะเลบางขุนเทียน เพียงแต่หาดของเราเป็นหาดโคลน มีเกาะอยู่ทั้งในแม่น้ำและลำคลอง เรามีสลัมเหมือนมหานครทั่วโลกเขามี แต่เชื่อหรือไม่ว่า เรามีถิ่นทุรกันดารอยู่ในเมืองหลวงด้วย
ถิ่นทุรกันดารนี้ ไม่ใช่คำบ่นหรือเสียดสีนะครับ แต่เป็นคำในราชการ และมีระเบียบปฏิบัติจ่าย “เบี้ยกันดาร” คือเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ เนื่องจากปฏิบัติราชการประจำในท้องที่กันดาร เพื่อชดเชยที่ต้องสูญเสียโอกาสไปหลายด้านจากการต้องทำงานในพื้นที่นั้น
เมื่อปี ๒๕๓๖ ผู้เขียนในขณะเป็น บ.ก.นิตยสาร “มติครู”ได้ไปเยี่ยมโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ การเดินทางไปในตอนนั้นแยกจากถนนพระราม ๒ ที่บางขุนเทียนโขยกไปตามถนนสู่ชายทะเล กลางทางจะมีเรือหางยาวกลุ่มหนึ่งมารอรับผู้โดยสารอยู่ข้างถนน ลัดเลาะไปออกคลองพิทยาลงกรณ์จนถึงโรงเรียนที่ยังไม่มีถนนเข้าไปถึง แม้จะเป็นโรงเรียนใหญ่ แต่สนามของโรงเรียนก็ไม่มีหญ้า เพราะน้ำทะเลขึ้นถึง น้ำจืดสำหรับดื่มและใช้ มีเรือบรรทุกน้ำใส่โอ่งไปขาย ครูอาจารย์ที่นี่ไม่มีใครเช้ามาเย็นกลับ บ้างก็กลับบ้านสัปดาห์ละครั้ง และได้รับ “เบี้ยกันดาร” ตามระเบียบของทางราชการ ทั้งไม่ใช่แค่โรงเรียนนี้เพียงแห่งเดียว ยังมีอีก ๒ โรงเรียนในย่านนี้ก็ได้รับเบี้ยกันดารเช่นกัน
จึงได้ทราบด้วยความแปลกใจว่า มหานครของเราก็มีถิ่นทุรกันดารด้วย แต่ตอนนี้บ้านเมืองเขาพัฒนาแล้ว มีถนนและน้ำประเข้าไปถึง จึงเลิกเป็นถิ่นทุรกันดารไปนานแล้ว
ส่วนที่ว่ากรุงเทพฯมีเกาะ ภาพเกาะน้อยในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ว่าอยู่หน้าวัดอรุณราชวรารามนั้น คงเคยเห็นกันมาแล้ว มีภาพเดียวที่ถ่ายไว้โดย หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) ช่างภาพระดับอินเตอร์คนแรกของไทย ที่รู้จักกันในนาม ฟรานซิสจิตร เป็นภาพอัดกระจกอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ในภาพเป็นเกาะมีศาลาหลังเล็กๆ มีอินทผาลมและต้นไม้ปลูกอยู่อย่างละ ๒ ต้น มีเด็กนั่งอยู่ในเรือ และในน้ำมีผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ แสดงว่าน้ำไม่ลึกนัก และอยู่ใกล้ฝั่งเพราะร่มไม้จากฝั่งยังแผ่ไปถึง ด้านหลังอีกฝั่งแม่น้ำคือพระปรางค์วัดอรุณฯ
เกาะนี้คงมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์อยู่ในช่วงปี พ.ศ.๒๐๗๗-๒๐๘๙ เพราะขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้ในรัชสมัยของพระองค์ แต่ที่หายไปนั้นกล่าวกันว่าถูกขุดออกเพราะกีดขวางการเดินเรือ โดยเฉพาะการกลับเรือรบในสมัยที่สร้างอู่เรือที่ข้างวัดอรุณฯ
ในปี ๒๔๒๒ สมัยรัชกาลที่ ๕ ก.ศ.ร.กุหลาบ นักเขียนคนดังของยุคนั้น ได้ล่องเรือผ่านขณะไปไหว้พระที่วัดเขายี่สาร สมุทรสงคราม ได้เขียนถึงเกาะน้อยนี้ไว้ใน “นิราศยี่สาร” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามไสมยของหมอสมิธ ในปี ๒๔๒๗ บรรยายว่ามีรูปปั้นจระเข้หิน ๒ ตัวอยู่ริมท่าร่องน้ำ รอบเกาะมีเขื่อน และปลูกอินทผาลัมที่ใบคล้ายกับใบตาล รสหวานแหลม และมีศาลาไว้นั่งรับลม
ส่วนอีกเกาะหนึ่งอยู่ในคลอง อเนก นาวิกมูล ค้นพบภาพหนึ่งในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ อยู่ในชุดภาพถ่ายจากภูเขาทอง เห็นเกาะหนึ่งอยู่ในคลองมหานาค ซึ่งขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ แยกจากคลองรอบกรุงที่ป้อมมหากาฬ เกาะนี้ก็คงอยู่ตรงเลยพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯไปหน่อย แต่ไม่มีรายละเอียดว่าเหลือเกาะไว้เพื่ออะไร และไม่ใช่มีเกาะเดียวในบริเวณนี้ แต่มีถึง ๓ เกาะ
ในหนังสือ “นิราศบรมบรรพต” แต่งโดย พระพินิจหัตถการ (ชื่น สาริกบุตร) พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๗ บรรยายถึงเกาะในคลองแถวภูเขาทองไว้ว่า
“มีเกาะอยู่กลางน้ำถึงสามเกาะ
ดูก็เหมาะความสนุกเปนสุขขา
ยังมิได้จัดทำปรัมปรา
เดี๋ยวนี้มาจัดระเบียบจึงเรียบดี”
นอกจากนี้ “พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้ทรงอธิบาย “จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” ตอนที่รัชกาลที่ ๑ รับสั่งให้ขุดคลองมหานาค มีความว่า
“ขุดคลองมหานาค, มีคำว่ารอบเกาะมาอีก เกาะในที่นี้จะเปนอย่างไร บางทีก็จะเหมือนกันกับชั้นหลัง คือมีเกาะในรหว่างโรงเรือกับวัดด้านหนึ่ง เกาะด้านตวันออกที่เรียกว่าเกาะยายชี ด้านหนึ่ง แต่ในที่นี้เห็นจะหมายความว่า เกาะข้างเหนือวัดอยู่ตรงน่าบ้านชายเสรฐวงษ์ คลองหลังเกาะตื้นกลายเป็นฝั่งไปเสียแล้ว”
ทรงระบุว่าเกาะหนึ่งมีชื่อว่า “เกาะยายชี”
ความจริงกรุงรัตนโกสินทร์ของเราก็เป็นเกาะ เพราะมีน้ำล้อมรอบ ทั้งยังเป็นเกาะ ๓ ชั้น คือชั้นใน ชั้นนอก และยังมีนอกออกไปอีกชั้น
เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน อยู่ในเขตคลองคูเมืองเดิมซึ่งขุดมาแต่สมัยกรุงธนบุรี จากใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าในตอนนี้ ไปออกปากคลองตลาด เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือเป็นเพชรหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์
ส่วนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือบริเวณจากคลองคูเมืองเดิมออกไปถึงคลองรอบกรุงที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ จากปากคลองบางลำพู ไปออกปากคลองโอ่อ่างที่เหนือวัดสามปลื้ม
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้ขุดคลองผดุงกรุงเกษม ขนานกับคลองรอบกรุงออกไปอีกชั้น จากเทเวศม์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่สี่พระยา ขยายเกาะรัตนโกสินทร์ออกไปอีกชั้นหนึ่ง
นี่ก็เป็นเรื่องราวความเป็นมาของบ้านเมืองเราในวันนี้ และที่เคยมีมาในอดีต