xs
xsm
sm
md
lg

“มนุษย์ควัน” ยกผลวิจัย อย.สหรัฐฯ โต้หมอรามาฯ ยัน “ยาสูบแบบไม่เผาไหม้” ปล่อยสารอันตรายน้อยกว่าควันบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจมนุษย์ควันเผย อย.สหรัฐฯ อนุญาตให้สื่อสารได้ว่ายาสูบแบบไม่เผาไหม้ลดความเสี่ยงได้เมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่เพราะจะช่วยคุ้มครองสุขภาพประชาชน ผิดหวังแนวคิดแบบปิดกั้นของเครือข่ายรณรงค์เลิกบุหรี่

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ “มนุษย์ควัน” ออกมาตอบโต้กรณีเครือข่ายรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อ้างถึงรายงานขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับยาสูบแบบไม่เผาไหม้ว่า “ยูเอสเอฟดีเอ หรือ อย.สหรัฐอเมริกา พิจารณาหลักฐานงานวิจัยของผลิตภัณฑ์นี้และอนุญาตให้ยาสูบแบบไม่เผาไหม้เป็นยาสูบที่ปรับลดความเสี่ยง หรือ Modified Risk Tobacco Product โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพของทั้งผู้สูบบุหรี่และคนที่อยู่รอบข้าง เพราะจะทำให้ผู้สูบบุหรี่มีข้อมูลและตัดสินใจได้ว่าจะสูบบุหรี่ต่อไปหรือเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ความเสี่ยงน้อยกว่า แต่การที่คุณหมอกลุ่มนี้หยิบเอารายงานของ WHO ออกมานำเสนอเพียงฝั่งเดียว แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่ปิดกั้น ไม่เห็นความสำคัญของนวัตกรรมที่ช่วยลดอันตรายได้ ซึ่งยิ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ต้องเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากควันบุหรี่ต่อไป เท่ากับเป็นการฆ่าผู้สูบบุหรี่ทางอ้อม”

เจ้าของเพจมนุษย์ควัน ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 2 หมื่นคนกล่าวต่อว่า “ยาสูบแบบไม่เผาไหม้ยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่ถ้าเทียบกับบุหรี่แล้วถือว่ามีความเสี่ยงที่ต่ำกว่ามาก อย.สหรัฐฯ จึงให้สื่อสารได้เลยว่ามันไม่มีการเผาไหม้ การเกิดสารเคมีอันตรายก็ลดน้อยลง และหากคนสูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารอันตรายลดลงด้วย ซึ่งตอนนี้ประเทศที่ขายผลิตภัณฑ์นี้ก็มี 66 ประเทศแล้ว มีคนใช้กว่า 14 ล้านคนทั่วโลก และก็น่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศเหล่านั้นก็คงจะต้องพิจารณาแล้วว่ายาสูบแบบไม่เผาไหม้ไม่ได้อันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดาและช่วยให้ผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์นี้ได้รับอันตรายที่น้อยลงได้ เช่นกรณีประเทศอุรุกวัยที่เพิ่งปลดล็อกการแบนยาสูบแบบไม่เผาไหม้เมื่อเร็วๆ นี้”

“กลุ่มคุณหมอยังอ้างถึงรายงานอื่นๆ ที่ระบุว่ามีผู้ที่เปลี่ยนมาใช้ยาสูบแบบไม่เผาไหม้และยังคงสูบบุหรี่ร่วมไปด้วยอีกถึงกว่า 69% ถึงทำให้อันตรายไม่ลดลง เพราะคนกลุ่มนี้ก็ยังคงสูบบุหรี่อยู่ ซึ่งคุณหมอเองก็ยอมรับว่าถ้าใช้ยาสูบแบบนี้อย่างเดียวก็จะดีกว่า ดังนั้นหน้าที่ของเครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่หรือ WHO คือการนำเสนอนโยบายที่ลดอันตรายให้กับผู้สูบบุหรี่ สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ยาสูบแบบไม่เผาไหม้อย่างเดียว จะได้ลดอันตรายต่อสุขภาพได้อย่างจริงจัง แทนที่จะพยายามสร้างความสับสนให้กับสังคมอย่างที่เป็นอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้คือการที่กลุ่มคุณหมอยังคงให้ข้อมูลชี้นำในทางที่ไม่ถูกต้อง และสนับสนุนให้แบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ทำให้พวกเราไม่มีทางเลือกนอกจากสูบบุหรี่ต่อไป”








กำลังโหลดความคิดเห็น