xs
xsm
sm
md
lg

"ตัน ภาสกรนที" เชื่อ "โน้ส อุดม" ปิดร้านไอศกรีมไม่เลิกหรอก สักวันเขาจะกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักธุรกิจชาเขียวดัง "ตัน ภาสกรนที" เผยความทรงจำยอมขอเงินเมียลงทุนพลิกฟื้นสี่แยกรินคำ เชียงใหม่ ดึงนักท่องเที่ยว แต่โควิดทำนักท่องเที่ยวซบราว 2 ปี เผยความฝันยังไม่จบ อยากทำมุมแสดงผลงานสร้างสรรค์ของ "โน้ส อุดม" เชื่อปิดร้านไอศกรีมไม่เลิก สักวันเขาจะกลับมาและยิ่งใหญ่กว่าเดิม

วันนี้ (11 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "ตัน ภาสกรนที" หรือ "ตัน อิชิตัน" ของนายตัน ภาสกรนที นักธุรกิจชาเขียวชื่อดัง โพสต์ข้อความระบุว่า "ถ้าไม่นับสมัยวัยรุ่น ความทรงจำครั้งแรกของผมเกี่ยวกับเชียงใหม่ส่วนหนึ่งมาจากอุดม แต้พานิช จำได้ว่าตอนนั้นเขากำลังเตรียมทำ เดี่ยว 8 ผมมีโอกาสไปนอนบ้านของเขาซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านนันทวัน ย่านถนนนิมมานเหมินท์ ตื่นเช้ามาก็เดินไปกินก๋วยเตี๋ยวตำลึง บ่ายๆ ก็แวะเข้าไปกิน “มนต์นมสด” กลางวันอาจจะร้อน แต่ตอนเช้ากับตอนเย็นอากาศดีมาก บรรยากาศไม่เร่งรีบ นักท่องเที่ยวยังน้อยนิด คนเชียงใหม่อัธยาศัยดีมีความเป็นอาร์ติสท์ (ศิลปิน) เป็นมิตร เมืองดูน่ารักไปหมด ... ชอบเลย

แต่ความหลงรักเชียงใหม่เกิดขึ้นจริงจังเมื่อผมไปเที่ยวงาน NAP งานแสดงศิลปะ ของใช้ ของที่ระลึกทำมือ งานคราฟต์ ที่ศิลปินร่วมสมัยท้องถิ่นรวมตัวกันเปิดร้าน เป็นงานประจำปีที่นิมมานเหมินท์ ซอย 1 ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ผมก็ไปต่อเนื่องมา 10 กว่าปี ในขณะที่ผมชอบเดินเที่ยวงานอาร์ตปีละครั้ง อุดมกลับหลงใหลตั้งใจจะย้ายถิ่นฐานไปอยู่

พอรู้จักเชียงใหม่มากขึ้น ผมได้สังเกตว่าถนนนิมมานเหมินท์มีลักษณะหัว-ท้ายร้าง ตรงกลางเจริญ ศูนย์กลางความเจริญของถนนนิมมานเหมินท์รวมตัวกันในชื่อ “วอร์มอัพ” กับ “มังกี้ผับ” ในขณะที่ร้านอาร์ตเล็กๆ ร้านอาหารอร่อยๆ กระจายอยู่ตามแนวถนนและเก็บตัวอยู่ภายในซอย 1-17 เกือบทุกร้านมีงานศิลปะเป็นเอกลักษณ์ประจำหน้าร้านที่จังหวัดอื่นไม่ค่อยมี การซ่อนตัวตามซอยเล็กๆ เป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ต้องใช้การเดินเข้าไปสังเกตแล้วสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเองเท่านั้น

ไปเที่ยวบ่อยๆ ทำให้ผมฝันว่าถ้ามีโอกาส ผมอยากมีส่วนร่วมสร้างถนนเส้นนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเล็กๆ อีกแห่งของเชียงใหม่ ในหัวผมเริ่มเชื่อมโยงภาพสี่แยกถนนนิมมานเหมินท์เข้ากับอีกเมืองที่ผมชอบเดินทางไป ... ชิบูยา โตเกียว

ถ้าใครเคยไปพักโรงแรมอีสติน ตัน ตรงหัวมุมถนนนิมมานเหมินท์ แล้วเห็นต้นไทรขนาดใหญ่เกือบ 10 คนโอบ ต้นไม้ใหญ่นั้นคือจุดเริ่มต้นของผมกับการทำงานบนที่ดินผืนนี้ ครั้งแรกที่เห็น ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าเจ้าของขายต้นไทรนี้ ผมจะขอซื้อที่ด้วย มีฝรั่งคนหนึ่งเข้ามาถามอย่างตกใจว่า ถ้าผมซื้อที่ผืนนี้ เขาขอร้องว่าอย่าตัดต้นไม้นะ ไม้ใหญ่สวยแบบนี้หาไม่ได้อีกแล้ว ผมตอบเขาไปว่า ถ้าไม่มีต้นไม้ต้นนี้ ผมก็คงไม่มีโอกาสมาป้วนเปี้ยนตรงที่ดินแปลงนี้

จากนั้นผมก็ขวนขวายจนได้ไปพบคุณอนันต์ อัศวโภคิน (ประธานกรรมการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH) เจ้าของที่จนได้ ท่านซื้อที่ตรงนี้มาหลายสิบปีแต่ยังไม่มีโครงการจะสร้างอะไร ผมจึงเสนอตัวขออนุญาตทำตามความฝันที่คิดเอาไว้ คุณอนันต์คงเห็นความตั้งใจจริง จึงขายต้นไม้แถมที่ดินผืนนี้ให้

จุดเริ่มต้นความฝันเกิดขึ้นตรงนี้

จากที่เคยไปเชียงใหม่ปีละครั้ง กลายเป็นเดือนละครั้ง ในที่สุดผมได้เจอที่ผืนใหม่ตรงจุดที่เป็น “เมญ่า” ในปัจจุบัน ตอนนั้นเขาติดป้ายประกาศเปิดประมูลซื้อที่ดิน เหลือเวลายื่นประมูลอีกไม่กี่วันสุดท้าย

ผมโทร.ขออนุมัติวงเงินกับเมียทันที ไม่น่าเชื่อ ... ยื่นทันก่อนจะหมดนาทีสุดท้าย ทราบภายหลังว่าที่ผืนนั้นมีคนส่งราคาประมูล 1 คนถ้วน ... ผมเองครับ

ในตอนแรกยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะทำอะไร ในที่สุดผมตัดสินใจขายให้กับคุณสุวัฒน์ (แสงร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SF) ในราคาถูกกว่าผู้ซื้ออีกราย ที่ต้องการนำที่ไปสร้างคอนโดฯ ถึง 18 ล้านบาท ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ ต้องการสร้างคอมมูนิตีมอลล์ การขายขาดทุนกำไร 18 ล้านบาท ก็เพื่อแลกกับอนาคตความเจริญของสี่แยกแห่งนี้ สำหรับผมแค่นี้ก็คุ้มแล้ว

หัวมุมถนนอีกด้านของนิมมานเหมินท์ มีสุดยอดแลนด์มาร์กอีกแห่งที่เคยรุ่งเรืองสุดๆ เป็นที่ตั้งของบ้านไม้สักทองหลังใหญ่ที่เป็นทรัพย์สินของโรงแรมรินคำ โรงแรม 5 ดาวแห่งแรกของเชียงใหม่ นักธุรกิจไทยและต่างประเทศ คนในแวดวงสังคม หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เมื่อ 50 ปีที่แล้วต้องเคยไปพักหรือรับประทานข้าวที่นี่ เด็กเชียงใหม่ยุคนั้นคงยังจำภาพทรงจำของการมาว่ายน้ำที่สระน้ำของโรงแรมได้

ตรงนี้คือ Icon Siam ของเชียงใหม่ในอดีต

เจ้าของพื้นที่คือตระกูลนิมมานเหมินท์ ต่อมาได้ร่วมทุนกับกลุ่มโรงแรมอมารี ที่ตรงนี้ติดประเด็นข้อกฎหมายใหม่ ไม่สามารถสร้างอาคารใหม่ได้ ถ้าจะใช้พื้นที่มีทางเดียว คือ ซ่อมอาคารหลังเก่าอายุ 50 กว่าปี เพื่อให้สามารถใช้งานต่อไปได้อีก 50 ปี เมื่อสร้างอาคารใหม่ไม่ได้ การซ่อมก็ไม่คุ้มทุน โรงแรมอมารี รินคำ จึงปิดตัวลงทันทีที่หมดสัญญา

บ้านไม้สักประวัติศาสตร์โบราณที่คนรุ่นเก่าผูกพันหลังนั้น เป็นแรงดึงดูดให้ผมพยายามหาโอกาสไปพบกับเจ้าของที่ดินจนได้ หลังพูดคุยถึงความตั้งใจของผม เจ้าของท่านหนึ่งพูดขึ้นว่า

“ถ้าคุณตันสนใจก็ช่วยรักษาธุรกิจในพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้หน่อย”

...คำนี้เอาใจผมไปเลย

ถ้าจะพัฒนาต้องปรับจากอาคารเก่าเท่านั้น ใครคิดในมุมธุรกิจจะรู้ว่าไม่คุ้มเอาเสียเลย แต่ผมก็ไม่ได้คิดในมุมธุรกิจ ผมแค่ทำตามภาพในฝันที่ต้องการมีส่วนทำให้สี่แยกนิมมานเหมินท์เป็นจุด check in ของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ เพื่อเก็บความทรงจำของเชียงใหม่กลับบ้านไป

ที่ตรงนั้นกลายเป็น One Nimman ในวันนี้

600 ล้านบาท คืองบประมาณแรกที่ตั้งไว้ แต่กว่าจะสวยอย่างที่ฝันในที่สุดงบก่อสร้างจบลงที่ 1,500 ล้านบาท พร้อมหน้าเมียที่ลอยมาและภาพผมนั่งคุกเข่า ผมนับถือน้ำใจเมียจริงๆ ที่ไม่ต่อว่าสักคำ ... ทำเสร็จความบ้าของผมหายเป็นปลิดทิ้งทันที

หลังจากทำ “Eastin Tan Hotel” “U Nimman” “One Nimman” เสร็จ นักท่องเที่ยวเริ่มมามากขึ้น ศิลปินคนในท้องที่เริ่มเข้ามากันครึกครื้น ทุกพื้นที่ของผมกันส่วนกลางขนาดใหญ่ให้คนท้องถิ่นมาร่วมใช้งานฟรี ชีวิตชีวาเกิดขึ้น เศรษฐกิจก็เหมือนจะคล่องตัวขึ้น ดูได้จากราคาค่าเช่าห้องแถวรอบถนนสูงขึ้น 3 เท่า หน้าท่องเที่ยวภาพนักท่องเทียวล้นทะลักบนถนนนิมมานฯ กลายเป็นภาพชินตา

ฝันของผมที่อยากจะมีส่วนทำให้พื้นที่ตรงนี้ของเชียงใหม่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเริ่มต้นเป็นจริงขึ้นมาแล้ว

แล้วในที่สุดโควิดก็มาเที่ยวด้วย

ไม่ได้มาเปล่า สร้างความทรงจำไว้ไม่มีวันลืม

จากนักท่องเที่ยวเดินชอปปิ้งใน One Nimman วันละ 5,000-8,000 คน วันนี้นับแล้วนับอีกไม่เคยถึง 1,000 คนสักวัน เผลอๆ อาจจะนับพนักงานที่เดินเข้าออกไปด้วยแล้ว โรงแรมทั้งหมดไม่ต้องพูดถึง หนักหน่วงกันทั้งประเทศ

เกือบ 2 ปีแล้วที่ถนนนิมานเหมินท์ทั้ง 4 ด้านเงียบจนขนลุก

ไม่สงสัยเลยทำไม iberry ของอุดมถึงปิดตัวลงไป

แต่ความฝันของผมก็ยังไม่จบ ผมเคยคุยกับอุดมไปว่า มุมสุดท้ายที่เหลืออยู่ ถ้ามีโอกาสซื้อและผมยังพอมีกำลัง มุมนี้จะเป็นผลงานสร้างสรรค์ของอุดม แต้พานิช เราคุยกันเสมอว่า เวลาเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยว อย่างอิตาลี หรือเมืองเก่าๆ ในยุโรป จะเห็นงานสถาปัตยกรรมที่สวยเอามากๆ

ถ้าศิลปินสมัยก่อนมัวแต่คิดเรื่องความคุ้มทุน สิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลย

ผมเชื่อว่าอุดมรักเชียงใหม่มาก ร้าน iberry นิมมานเหมินท์ ซอย 17 ที่ปิดไป ... เขาไม่เลิกหรอก

สักวันเขาจะกลับมาและยิ่งใหญ่กว่าเดิม

ถ้าเชียงรายมี 3 ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ อย่าง อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่าน ว.วชิรเมธี

เชียงใหม่ก็ควรจะมีศิลปินน่ารักๆ อย่าง อุดม แต้พานิช ประดับเมือง

ผมว่าอุดมจะนำจิตวิญญาณงานศิลปะร่วมสมัยของเขามาช่วยพลิกฟื้นเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้งหลังโควิดจบลง ส่วนผมยังเชื่อว่าอีกไม่นานผู้คนจะกลับมาอีกครั้ง นักท่องเที่ยวจะเดินทางเหมือนเดิม คราวนี้จะมีคุณภาพขึ้น
ผมยังสู้ต่อ และความฝันของผมยังดำเนินต่อไป ถ้าที่ผมยังมีลมหายใจอยู่"


ก่อนหน้านี้ นายอุดม แต้พานิช ศิลปินชื่อดัง ประกาศปิดปิดกิจการร้านไอศกรีม "Iberry garden" ซึ่งเป็นธุรกิจส่วนตัวและร้านชื่อดังย่านนิมมานเหมินท์ เปิดกิจการมานานถึง 13 ปี เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและค่าจ้างพนักงานหลายสิบคนต่อไปไม่ไหว จากสถานการณ์โควิด-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหายไป และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ที่ทำให้ต้องปิดร้านมาตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา

อ่านประกอบ : สู้ไม่ไหว ก็ต้องปิด! “โน้ส อุดม” ย้อนวันวาน 13 ปีร้าน “iberry garden” สู้กับเจ้าที่กว่าจะมีวันนี้ได้

"โน้ส อุดม" เศร้า! จำใจประกาศปิดถาวร "Iberry" ร้านไอศกรีมดังเชียงใหม่เซ่นพิษโควิด-19 เหตุสุดยื้อแบกภาระใช้จ่าย 


กำลังโหลดความคิดเห็น