ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษา ศบค. โพสต์ข้อความอัปเดตความคืบหน้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฝีมือคนไทย 2 ยี่ห้อ จากคณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชฯ จุฬาฯ ปีหน้าลุ้นได้ใช้
วันนี้ (31 พ.ค.) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค.โพสต์เฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” ระบุถึงความก้าวหน้า “วัคซีน” ฝีมือคนไทย โดยมีใจความว่า
“1️. วัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ChulaCOV 19 เทคโนโลยี mRNA ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ ระยะที่ 1 เอกสารรับรองคุณภาพวัคซีนต้นแบบเพิ่งได้รับการรับรองจาก อย. สัปดาห์ที่ผ่านมาการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่โรงงานประเทศไทย Bionet Asia พร้อมเกือบครบ 100% ปลายสัปดาห์หน้าวัคซีนต้นแบบจะนำเข้ามาถึงประเทศไทย และเริ่มการทดลองระยะที่ 1 ในสัปดาห์ถัดไป คาดการณ์การทดลองระยะที่ 1 และ 2 จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 ถ้ามีผลการทดลองระดับภูมิคุ้มกันของวัคซีนของ WHO ออกมาทันเวลาอาจไม่จำเป็นต้องทำการทดลองระยะที่ 3 แต่แค่ทำการทดลองระยะที่ 2B เพิ่มเติม วัคซีนจะผลิตออกสู่ตลาดได้ภายใน Q2 ของปี 2565 (ถ้าต้องผ่านการทดลองระยะที่ 3 จะใช้เวลาเพิ่มอีกประมาณ 6 เดือน) กำลังการผลิต 10-20 ล้านโดสต่อเดือน ในขณะดำเนินการวัคซีน Version แรก ตามกระบวนการ ทางคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการวัคซีน Version 2 ที่ป้องกันเชื้อครบทุกสายพันธุ์ควบคู่ไปด้วย โดยอยู่ในขั้นตอนกำลังจะเริ่มต้นทดลองในสัตว์ทดลอง โดยเทคโนโลยี mRNA การเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของวัคซีนเป็น Version 2 หรือ Version อื่นๆ ในอนาคตจะทำได้เร็วเป็นอย่างมาก
2️. วัคซีนคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบริษัท ใบยา ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบที่จะใช้ในการทดลอง คาดการณ์ว่าโรงงานจะแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2564 หลังจากปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบเรียบร้อยจะผลิตวัคซีนต้นแบบนำเข้าสู่การรับรองมาตรฐานวัคซีนต้นแบบเพื่อการทดลองจาก อย. คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2564 หลังจากนั้นจะเริ่มทำการทดลองในระยะที่ 1, 2 และ 3 หรือ 2B ต่อไปตามลำดับ โดยระยะที่ 1 คาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 และจะเริ่มการทดลองระยะที่ 2 ในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 กำลังการผลิต 1-5 ล้านโดสต่อเดือน”