ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เตรียมแถลงแนวทางจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” พรุ่งนี้ (28 พ.ค.) หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศให้สามารถสั่งซื้อยา เวชภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการขึ้นทะเบียนยาและวัคซีนเพื่อใช้ควบคุมโควิด-19
วันนี้ (27 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะแถลงข่าว “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” โดยมีรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ร่วมกับ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) เวลา 13.30-14.30 น. ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถ.แจ้งวัฒนะ ซอย 7 เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 นั้น
เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เป็นไปอย่างทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยคำแนะนำและคำปรึกษาจากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา 23/1 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จึงออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ไว้ ดังนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้ “พระราชบัญญัติ” หมายความว่า พระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 “การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง การป้องกัน หรือบำบัดโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือนำเข้า หรือขออนุญาตและออกใบอนุญาตการขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศ และในต่างประเทศ
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ และมีอำนาจในการออกข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติและประกาศฉบับนี้ หน้า 37 เล่ม 138 ตอนพิเศษ 112 ง ราชกิจจานุเบกษา 25 พฤษภาคม 2564
ข้อ 4 ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อาจมอบหมายหรือมอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล นิติบุคคล ทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือได้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนได้
ข้อ 5 การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ของสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามประกาศฉบับนี้ ให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายงานการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
ข้อ 6 ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ที่จำเป็น ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ
ข้อ 7 ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอรับคำปรึกษาในกิจการทั้งปวงจากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการดำเนินการให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ข้อ 8 การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ที่ดำเนินการตามประกาศฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ลงชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์