xs
xsm
sm
md
lg

เร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 2 เดือนนี้ ตั้งเป้าฉีดใน กทม.วันละ 8 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งเร่งฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 2 เดือนนี้ ตั้งเป้าฉีดใน กทม. วันละ 8 หมื่นคน เสริมช่องทางการจองให้สะดวกขึ้น ผ่านระบบการจองที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และ บริษัท IBM พัฒนาขึ้น เตรียมแถลงรายละเอียดต้นสัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2564 โดย พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงศ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)

ที่ประชุมหารือถึงการให้บริการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร (ข้อมูล จากระบบ MOPH IC ณ วันที่ 19 พ.ค. 64 เวลา 08.00 น.) ปัจจุบันได้ให้บริการฉีดวัคซีนโคววิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วทั้งสิ้น จำนวน 519,822 โดส แยกเป็น บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 163,834 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 54,739 คน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 109,095 คน ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 23,210 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 22,833 คน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 377 คน บุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 16,644 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 10,751 คน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 5,893 คน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (บุคลากรด่านหน้า) จำนวน 28,328 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 18,712 คน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 9,616 คน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง(คลัสเตอร์) เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด จำนวน 137,716 คน ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 112,607 คน ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 25,109 คน รวมประชาชนในกรุงเทพฯ ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วทั้งสิ้น จำนวน 369,732 คน โดยมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีไข้ ท้องเสีย เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีเป้าหมายเร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ครอบคลุมประชาชนร้อยละ 70 ของประชากรในกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ภายในระยะเวลา 2 เดือน โดยมีแผนปฏิบัติการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้ ให้บริการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน 126 แห่ง ประมาณ 30,000 คน/วัน ให้บริการฉีดวัคซีนในหน่วยบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหอการค้าไทย 25 แห่ง มหาวิทยาลัย 4 แห่ง ประมาณ 30,000-50,000 คน/วัน นอกจากนี้ ยังมีหน่วยบริการเชิงรุกสำหรับผู้ประกันตนกับโรงพยาบาลคู่สัญญา และ หน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile unit) ของสำนักอนามัย กทม.กับกรมควบคุมโรค สำหรับบริการกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสด้วย

สำหรับการนัดหมายรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อม หรือไลน์ OA หมอพร้อม หรือนัดหมายผ่านโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุขของสำนักอนามัยแล้ว กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับหอการค้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และ บริษัท IBM จัดทำแอปพลิเคชันจองเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งจะสามารถจองผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง หรือร้านสะดวกซื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ด้วย ทั้งนี้ รายละเอียดกรุงเทพมหานครจะแถลงให้ประชาชนทราบภายในสัปดาห์หน้านี้

ในส่วนของการขอรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กร คณะอนุกรรมการได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการจัดทำแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พิจารณาหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการให้บริการวัคซีนเป็นหมู่คณะต่อไป




















กำลังโหลดความคิดเห็น