xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังหนุนประกันสังคมเลือกบำเหน็จได้เอง ทุบกระปุกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อน-ค้ำเงินกู้ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจดังสนับสนุนกระทรวงแรงงาน แก้ไขกฎหมายประกันสังคม เลือกได้ว่าจะเอาบำเหน็จหรือบำนาญ สามารถทุบกระปุกเงินสะสมบำเหน็จบำนาญชราภาพมาใช้ก่อนได้ แถมขอกู้ธนาคาร โดยใช้เงินสะสมบำหน็จบำนาญชราภาพค้ำประกันได้ด้วย บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงโควิด-19

วันนี้ (12 พ.ค.) จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เห็นชอบให้มีการปรับแก้กฎหมายประกันสังคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวม 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. “ขอเลือก” รับเงินจากกองทุนบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ จากเดิมที่กฎหมายระบุว่า หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาเกินกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ประกันตนบางส่วนต้องการเลือกใช้บำเหน็จ

2. “ขอคืน” เงินบางส่วนนำมาใช้ดำรงชีพ หรือนำไปลงทุนทำงานอื่นๆ ในช่วงที่ไม่มีงานทำ หรือเกิดวิกฤตหรือเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ถูกเลิกจ้างงาน เช่น กรณีการระบาดของโควิด-19 โดยผู้ประกันตนสามารถเรียกขอใช้เงินบางส่วนก่อน แต่ต้องไม่มากกว่า 30% ของเงินสะสมบำหน็จบำนาญชราภาพ หรือไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน

และ 3. “ขอกู้” โดยใช้วงเงินสะสมของผู้ประกันตนในส่วนของเงินสะสมบำเหน็จบำนาญชราภาพมาค้ำประกันเงินกู้ ให้ผู้ประกันตนที่เดือดร้อน ซึ่งส่วนนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาของสถาบันการเงิน

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ มองว่าขอตัดสินใจเอง เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกันตนต้องการสภาพคล่องชั่วคราว แต่ไม่ต้องการเป็นหนี้ ผู้ประกันตนควรมีสิทธิในการเลือกใช้เงินกองทุนของตัวเอง ส่วนผู้ที่ไม่สนับสนุน มองว่า การให้ผู้ประกันตนนำเงินสมทบบำเหน็จบำนาญชราภาพมาใช้ก่อนได้ ถ้ากลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้ไม่สูงมาก นำเงินอนาคตมาใช้จะมีความเสี่ยงอย่างมาก

เฟซบุ๊กเพจ “เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน” โพสต์ข้อความระบุว่า ข้อเสนอแบ่งเป็นสามทางเลือก 1. ขอเลือกบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ เดิมผู้ประกันตนสามารถเลือกบำเหน็จหรือบำนาญได้แต่ถูกแก้ไขไปเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน โดยส่วนตัวคิดว่าผู้ประกันตนควรมีสิทธิ์เลือกดีแล้ว

2. ขอคืน โดยผู้ประกันตนสามารถเรียกขอใช้เงินบางส่วนก่อน แต่ต้องไม่มากกว่า 30% ของเงินสะสม เผื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้ เช่นมีเงินสะสม 120,000 บาท ขอเบิกเงินสำรองได้ 36,000 บาท เป็นต้น เงินสำรองเผื่อใช้ ช่วยลดการกู้ยืม เงินต้นหายบ้าง เพื่อให้ไปต่อได้

3. ขอกู้ โดยใช้วงเงินสะสมของผู้ประกันตนในส่วนของเงินสะสมบำเหน็จบำนาญชราภาพมาค้ำประกันเงินกู้ ข้อนี้ดี ถ้าสามารถนำยอด เงินสะสม มาใช้ในการค้ำประกันเงินกู้ได้ก็อยากให้เพิ่มในการค้ำประกัน อย่างอื่นเช่น ค้ำประกันสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงการประกันตัวในคดีไม่ร้ายแรงแบบสลากออมสินได้

“เราขอตัดสินใจเอง เร็วกว่านี้ได้ก็ดีค่ะ ขอคืนเพื่อไปเริ่มใหม่กับใครสักคนที่ไม่ใจร้าย” เฟซบุ๊กเพจ “เจ้าหญิงน้อยแห่งอันดามัน” ระบุ

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

อนึ่ง สำหรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กรณีบำเหน็จชราภาพ จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ กรณีจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน หากเป็นกรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

ส่วนกรณีบำนาญชราภาพ คือ กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ไม่ว่าระยะเวลา 180 เดือนจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ถ้ากรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราบำนาญชราภาพตามข้อ 1 ขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกินกว่า 180 เดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น