xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการกังขาไทยพีบีเอส กลั่นกรองเนื้อหาหรือไม่ หลังผู้ประกาศแปลผิด-มั่วตัวเลข ขอพักจอ 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต" ที่ออกมาร้องเรียนการนำเสนอข่าวประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 กับเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ชมผู้ประกาศข่าวยอมพักจอ 2 สัปดาห์ แต่กังขากระบวนการทำข่าว อุบัติเหตุหรือไม่มีใครกลั่นกรองเนื้อหา แนะ หน.ฝ่ายข่าว-บก.ข่าวควรชี้แจง ยืนยันไม่ได้จงใจจับผิด แต่ทำทุกสื่อที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

วันนี้ (10 พ.ค.) จากกรณีที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาระบุว่า สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำเสนอรายงานข่าวประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พบว่า รายงานตัวเลขในตารางประสิทธิภาพวัคซีนป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ผิดพลาดหลายจุด และนำข้อมูลที่มีทั้งข้อมูลจริงจากผลการวิจัยในประเทศที่มีการแพร่ระบาด และตัวเลขคาดการณ์ โดยใช้อัตราส่วนการติดเชื้อของสายพันธุ์อื่นมาเทียบเคียง ทำให้ผู้ชมเกิดความสับสน อีกทั้งยังแปลคำว่า Preventing Disease โดยระบุว่าเป็น “ป้องกันป่วยหนัก” ทั้งที่แท้จริงแล้วในตารางนี้หมายถึงการป้องกันการเกิดอาการ ตั้งแต่น้อยจนถึงปานกลาง (symptomatic disease) แต่หากอาการป่วยหนัก จะใช้คำว่า severe disease เรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แสดงความรับผิดชอบถึงความหละหลวมในการตรวจสอบข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญระดับชาติ มีผลต่อความเข้าใจผิดและสับสนของคนหลายสิบล้านคนในประเทศ

ต่อมานายวราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ชี้แจงว่า ข้อมูลที่นำเสนอนั้นอ้างอิงจากเว็บไซต์ healthdata จุดที่ผิดพลาด คือ ข้อมูลเรื่องการป้องกันการป่วยหนัก ที่ต้นฉบับแปลว่าการติดเชื้อแบบมีอาการ แต่ตารางที่นำเสนอบอกว่า ป้องกันการป่วยหนัก จึงขออภัยในความหมายที่แปลผิดพลาด ทำให้เข้าใจผิด ส่วนที่มาของตัวเลขที่มานำเสนอว่าเป็นตัวเลขที่ใช้จริง บางตัวเลขเป็นเพียงแค่ตัวเลขจากการคาดการณ์ของ healthdata เท่านั้น จึงได้ทำตารางขี้นมาใหม่ โดยพบว่าส่วนหนึ่ง เป็นการอนุมานประสิทธิภาพของวัคซีนด้วยการใช้ข้อมูลจริงของวัคซีนโนวาแวค กับจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แล้วไปทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พร้อมกันนี้ยังน้อมรับความผิดพลาด ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จะใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอมากขึ้น พร้อมขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการพักการทำหน้าที่หน้าจอของไทยพีบีเอสเป็นเวลา 2 สัปดาห์

อ่านประกอบ : คำต่อคำ : ผู้ประกาศไทยพีบีเอสน้อมรับ “แปลผิด” ปมตัวเลขประสิทธิภาพวัคซีน ขอพักจอ 2 สัปดาห์ 

สับ “ไทยพีบีเอส” มั่วข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” กันป่วยหนักจาก 100% เหลือแค่ 10%

ล่าสุด เฟซบุ๊ก Warat Karuchit ของ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต โพสต์ข้อความระบุว่า "คุณวราวิทย์ออกมาขอโทษข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งรับผิดชอบตัวเองด้วยการพักงานหน้าจอ 14 วัน ผมก็ขอชื่นชม ที่คุณวราวิทย์มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการยอมขอโทษและยอมรับความผิด และผมขอรับคำขอโทษนั้น เพราะผมก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ที่ต้องออกมาแก้ไขข้อมูลเช่นกัน (ซึ่งก็ใช้เวลาค้นหาข้อเท็จจริงและเขียนอยู่หลายชั่วโมงเหมือนกัน) อย่างไรก็ตาม ผมขอแสดงความคิดเห็น 2 ข้อดังนี้ครับ

1. คุณวราวิทย์ ชี้แจงแค่คำที่แปลผิด (จากป้องกันป่วยหนัก เป็น ป้องกันติดเชื้อมีอาการ) แต่ยังไม่ได้ชี้แจงข้อมูลที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ตัวเลขของการป้องกันการป่วยหนัก ซึ่งสำหรับแอสตราเซเนกา คือ 100% เพราะไม่มีผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตหลังโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้หลังฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเลย ดังนั้นหากคุณวราวิทย์ มีเจตนาที่จะรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยเข้ารับการฉีดวัคซีนกันให้มากที่สุดจริง ก็ต้องพูดเรื่องนี้ และเน้นความสำคัญตรงนี้ด้วย

2. การขออภัยครั้งนี้ ก็ยังเหมือนครั้งก่อนๆ ก็คือไม่ได้บอกว่า แล้วต่อไปจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก ซึ่งก็คงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีกจริงๆ (เพราะไม่มีมาตรการ) ข่าวนี้คุณวราวิทย์หามาเอง รายงานเองใช่ไหม แล้วมีรีไรเตอร์ มีบรรณาธิการ หรือมีใครช่วยตรวจสอบ ทักท้วง ผ่านตาดูให้อีกรอบหรือหลายรอบไหม หรือว่าหามาแล้วก็ออกได้เลย ระบบการทำข่าวของไทยพีบีเอสคืออะไร ครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุ หรือว่าจริงๆ แล้วไม่มีใครกรองเนื้อหา ผู้ประกาศคนไหนเขียนอะไรได้ก็ออกเลย? แล้วแบบนี้ประชาชนจะมั่นใจกับคุณภาพของเนื้อหาได้อย่างไรว่าถูกต้อง? อันนี้ไม่ใช่แค่คุณวราวิทย์ที่จะต้องชี้แจง แต่หัวหน้าฝ่ายข่าว บรรณาธิการข่าว ควรจะต้องชี้แจงด้วย เพราะไทยพีบีเอส เป็นสมบัติของสาธารณะ ที่ประชาชนมีสิทธิที่จะตั้งคำถามถึงประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับจากไทยพีบีเอส

อันที่จริง คุณวราวิทย์ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติงานก็ได้ แต่ผมอยากเห็นมากกว่า ว่าผลจากเรื่องนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง "ระบบ" ในการทำข่าวของไทยพีบีเอสได้อย่างไรบ้างมากกว่า ซึ่งอย่างที่บอกว่า ถ้ามันไม่มีระบบที่ดีกว่านี้ ก็ stick to what you do best นั่นคือสารคดี และรายการเด็ก ดีกว่าครับ

ป.ล. ขอใช้โอกาสนี้ ขอบคุณและให้กำลังใจบุคลากรของไทยพีบีเอส ที่ตั้งใจและทุ่มเททำงานอย่างดีนะครับ ผมไม่ได้เป็นปรปักษ์หรือจงใจจะจับผิดไทยพีบีเอส แต่ผมทำอย่างนี้กับทุกๆ สื่อที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสม ในฐานะอาจารย์ด้านสื่อสาร บางคนอาจจะไม่พอใจผม ก็คงห้ามไม่ได้ แต่ยิ่งเป็นไทยพีบีเอสผมยิ่งต้องพูด เพราะไทยพีบีเอสยังมีคุณค่าและทำประโยชน์ได้อีกมาก ... แต่ยังทำไม่ได้เท่าที่มีศักยภาพ ส่วนเพราะสาเหตุใด ผมว่าคนในองค์กรน่าจะรู้ดีที่สุดครับ"

กำลังโหลดความคิดเห็น