ธนาคารทหารไทยธนชาต เผยโฉมตราสัญลักษณ์ใหม่ “ttb” บนโซเชียลมีเดีย สื่อถึงการรวมพลังของสองธนาคาร พร้อมทยอยเปลี่ยนโลโก้ผ่านสาขา ตู้เอทีเอ็ม และสื่อการตลาดต่างๆ ทั่วประเทศ และเปลี่ยนหมายเลขคอนแทกต์เซ็นเตอร์ 1428
วันนี้ (7 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี (TMB) ได้เปิดเผยเครื่องหมายการค้าใหม่ “ttb” (ทีทีบี) ซึ่งเป็นชื่อย่อของชื่อธนาคารใหม่ว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และใช้ชื่อทางการค้า ว่า “ทีเอ็มบีธนชาต” หรือ “TMBThanachart” โดยอักษร t สีน้ำเงินตัวแรกคือ TMB (ทหารไทย) และ t สีส้มตัวที่สองคือ Thanachart (ธนชาต) ส่วนอักษร b สีกรมท่ามาจาก Bank (ธนาคาร) ซึ่งสื่อความหมายถึงการรวมพลังของสองธนาคารเป็นหนึ่งเดียว
โดยช่องทางโซเชียลมีเดียของธนาคาร ได้เปลี่ยนตราสัญลักษณ์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อช่องทางโซเชียลมีเดียใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ttbbankofficial ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทูป ส่วนไลน์ใช้ TTB Bank และเว็บไซต์ทางการใช้ชื่อว่า ttbbank.com นอกจากนี้ยังเปลี่ยนหมายเลขคอนแทกต์เซ็นเตอร์ (Contact Center) จากหมายเลข 1558 และ 1770 เป็นหมายเลข 1428 อีกด้วย ส่วนเลขทะเบียนนิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐาน 0-2299-1111 และที่อยู่สำนักงานใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง
จากนี้จะทยอยเห็นโลโก้ “ttb” ผ่านช่องทางทั้งสาขา ตู้เอทีเอ็ม และสื่อการตลาดต่างๆ ทั่วประเทศ สำหรับลูกค้าทีเอ็มบีเดิมยังสามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้เช่นเดิม ภายใต้แบรนด์ใหม่ โดยเลขที่บัญชีและรหัสสาขายังคงเดิม ส่วนลูกค้าของธนาคารธนชาต จะแจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า รวมทั้งขั้นตอนที่แนะนำให้ลูกค้าปฏิบัติเพื่อความต่อเนื่องในการใช้บริการของทีเอ็มบีธนชาตต่อไป ส่วนการเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์จดทะเบียนจาก TMB เป็น TTB อยู่ในระหว่างดำเนินการ
สำหรับธนาคารทหารไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ สำนักงานใหญ่แห่งแรกตั้งอยู่ที่ถนนราชดำเนิน มุ่งให้บริการทางการเงินแก่หน่วยงานทหารและข้าราชการทหารเป็นหลัก กระทั่งเปิดสาขาแห่งแรกที่สี่แยกราชประสงค์ในปี 2506 ขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินสู่ภาคธุรกิจและเอกชนเพิ่มขึ้น กระทั่งปี 2516 ยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ และขยายฐานการให้บริการสู่ลูกค้าประชาชนโดยทั่วไป และใช้คำขวัญว่า “ธนาคารทหารไทย รับใช้ประชาชน”
ปี 2521 ธนาคารทหารไทย ย้ายสำนักงานใหญ่บริเวณมุมถนนพญาไทตัดกับถนนศรีอยุธยา จากนั้นในปี 2536 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ถนนพหลโยธินถึงปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 1 ก.ย. 2547 รวมกิจการกับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในปี 2548 ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของธนาคารเป็นทีเอ็มบี (TMB) และโลโก้ใหม่ กระทั่งปี 2550 ได้ขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 25,000 ล้านหุ้น แก่ธนาคารไอเอ็นจี สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ทำให้ไอเอ็นจีกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการธนาคาร เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 ทีเอ็มบีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต เพื่อยกระดับการให้บริการทางการเงิน มุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำ สอดคล้องแนวคิดของภาครัฐที่ส่งเสริมการรวมกิจการเพื่อเพิ่มขนาดกิจการและศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากทั้งสองธนาคารมีจุดแข็งที่ต่างกัน ได้แก่ ทีเอ็มบีโดดเด่นผลิตภัณฑ์เงินฝากและนวัตกรรมทางการเงิน ส่วนธนาคารธนชาตเป็นผู้นำด้านสินเชื่อลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์
โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 เป็นต้นมา ทีเอ็มบีและธนาคารธนชาตทยอยรวมการดำเนินงาน (Business Integration) ทีละส่วนงาน ภายใต้คณะกรรมการและผู้บริหารชุดเดียวกัน กระทั่งวันที่ 17 เม.ย. 2563 ได้เปิดบริการสาขารูปแบบใหม่ เรียกว่า “สาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร” หรือ Co-Location Branch โดยการควบรวมสาขาของทีเอ็มบี และธนาคารธนชาต บนทำเลที่ซ้ำซ้อนกันออกไปให้เหลือเพียงสาขาเดียว รวม 133 สาขาทั่วประเทศ กระทั่งวันนี้ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อใหม่ในที่สุด
สำหรับธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบีหลังการควบรวมกิจการจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ทีเอ็มบีธนชาต มีสินทรัพย์รวม 1.80 ล้านล้านบาท เงินให้สินเชื่อ 1.39 ล้านล้านบาท เงินฝาก 1.37 ล้านล้านบาท ฐานลูกค้าประมาณ 10 ล้านราย