xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” เผยเบื้องหลังแก้กฎหมายแพ่ง พบคนติดกับดักหนี้ เพราะดอกเบี้ยผิดนัดไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย “วิรไท สันติประภพ” เผยเบื้องหลังการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ชี้ที่ผ่านมาคนเป็นหนี้ถูกคิดดอกเบี้ยไม่เป็นธรรม คิดจากเงินต้นคงเหลือทั้งหมด หนึ่งในสาเหตุทำให้คนติดอยู่ในกับดักหนี้ นำไปสู่การออกประกาศ ธปท. ก่อนยกระดับเป็น พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีผลใช้กับเงินกู้ยืมเป็นการทั่วไป

วันนี้ (12 เม.ย.) เฟซบุ๊ก Veerathai Santiprabhob ของนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความระบุว่า “การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ไม่เป็นธรรมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดอยู่ในกับดักหนี้ครับ

ที่ผ่านมา เวลาที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง สถาบันการเงินจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดบนฐานของเงินต้นคงเหลือทั้งหมด ไม่ใช่แค่เงินต้นที่ครบกำหนดชำระในงวดนั้นๆ ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก และลูกหนี้ส่วนใหญ่ก็อาจะไม่ทราบ หรือไม่ตระหนักว่าตนเองมีภาระดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มสูงขึ้น ยังผ่อนชำระทุกงวดเท่าเดิม เงินที่ผ่อนเท่าเดิมก็อาจจะไม่พอ หรือพอแค่ดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินต้นลดลงช้ามาก

ทีมคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติเริ่มแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการออกหนังสือเวียนขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้แก้ไขวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัด (ทั้งเรื่องนี้และวิธีคิดเรื่องอื่นที่ไม่เป็นธรรม)

จากหนังสือเวียนขอความร่วมมือ ได้ถูกยกระดับเป็นประกาศ ธปท. มีผลทางกฎหมายกับผู้ให้บริการทางการเงินหลากหลายประเภท และศาลท่านได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติเวลาพิพากษา

มาถึงวันนี้ ได้ถูกยกระดับเป็นส่วนหนึ่งของ พรก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 224/1) มีผลใช้กับเงินกู้ยืมเป็นการทั่วไป ไม่ว่าสัญญาเดิมจะเขียนไว้อย่างไร

ขอขอบคุณทีมคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของแบงก์ชาติ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และทีมเลขาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ช่วยกันผลักดันเรื่องนี้จนออกมาเป็นกฎหมายได้สำเร็จครับ”



ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 สาระสำคัญคือ ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี (มาตรา 3) ส่วนหนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด (มาตรา 4) นอกจากนี้ ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ (มาตรา 5)

กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยให้เป็นธรรม ไม่ให้ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบ และสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้การคิดดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน จากเดิม 7.5% ต่อปี เหลือ 3% ต่อปี โดยให้กระทรวงการคลังทบทวนทุก 3 ปี ส่วนดอกเบี้ยเมื่อลูกหนี้ผิดนัด จากเดิม 7.5% ต่อปี เหลือ 5% ต่อปี ส่วนวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัดเวลาผ่อนส่งเป็นงวด จากเดิมคัดจากเงินต้นที่ค้างทั้งหมด กลายเป็นคิดจากเงินต้น เฉพาะงวดที่ผิดนัด จะตกลงแตกต่างจากนี้ไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น