ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 เมษายน 2564 เผยแพร่และบังคับใช้กฎหมายสำคัญสองฉบับที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ SME และประชาชนทั่วไป
ฉบับแรก พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลน
กฎหมายฉบับนี้ เป็นการ “ปลดล็อก” กฎหมายซอฟต์โลนที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว หลังโควิดระบาดใหม่ๆ ในเรื่องที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ให้กับ SME
ข้อจำกัดเหล่านี้เช่น ต้องเป็นลูกค้าเก่าของธนาคารเท่านั้น กำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ธนาคารจะคิดจากลูกหนี้ไม่เกิน 2% ระยะเวลาให้กู้แค่ 2 ปี ธนาคารที่ให้กู้ต้องคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้แบงก์ชาติภายใน 2 ปี และหากปล่อยกู้ไปแล้วเป็นหนี้เสีย รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายไม่เกินร้อยละ 70% สำหรับหนี้วงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท และไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยไปสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงิน 50-500 ล้านบาท
ซอฟต์โลนที่แบงก์ชาติตั้งวงเงินไว้ 5 แสนล้านบาท ถูกใช้ไปแค่ 1.2 แสนล้านบาทเท่านั้น เพราะข้อจำกัดเหล่านี้ จึงมีการแก้เงื่อนไขใหม่ให้ SME เข้าถึงง่ายขึ้น และจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เช่น ผู้ขอใช้ซอฟต์โลนไม่ต้องเป็นลูกค้าเดิมของธนาคาร ปรับเพดานดอกเบี้ยสูงขึ้นจาก 2% เป็น 5% ขยายระยะเวลาสินเชื่อเป็น 5 ปี และเพิ่มการชดเชยจากรัฐเป็นร้อยละ 80
พ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังมีบทบัญญัติเรื่องมาตรการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือที่เรียกกันว่า โกดังพักหนี้ หรือ Asset Warehousing คือ ให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ โอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้ธนาคารเจ้าหนี้ โดยมีข้อตกลงว่าจะซื้อคืนภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี และลูกหนี้ สามารถขอเช่าใช้ทรัพย์สินที่โอนไปแล้ว ในการประกอบกิจการได้
วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ เพราะผลกระทบจากโควิดต้องขายทรัพย์สินออกไปในราคาถูกๆ หรือถูกเจ้าหนี้ยึดหลักประกันไป เพราะเมื่อ สถานการณ์การระบาดดีขึ้น ลูกหนี้มีโอกาสที่จะพลิกฟื้นกิจการได้
กฎหมายฉบับที่ 2 คือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2565 มาตรา 7 และมาตรา 224 เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัด
กฎหมาย 2 มาตรานี้ใช้บังคับมา 96 ปีแล้ว เป็นกฎหมายที่ทำให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้เสียเปรียบเจ้าหนี้ในกรณีผ่อนชำระหนี้เป็นงวด หากผิดนัดชำระเพียง 1 หรือ 2 งวด จะถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นเต็มจำนวน ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยผิดนัดเฉพาะงวดที่ผิดนัดเท่านั้น
กฎหมายใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะเงินต้นงวดที่ผิดนัดเท่านั้น จะคิดจากเงินต้นทั้งก่อนไม่ได้แล้ว ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้ลดภาระเรื่องดอกเบี้ยผิดนัดไปได้มาก ผิดนัดงวดไหน ก็โดนปรับเฉพาะงวดนั้น
ข้อบัญญัตินี้สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ให้สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากลูกหนี้ จากยอดเงินต้นงวดที่ผิดนัดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่มีผลย้อนหลังดอกเบี้ยผิดนัดที่คิดไปแล้วก่อนวันที่ กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือ ก่อนวันที่ 11 เมษายน ยังมีผลเหมือนเดิม แต่ถ้าสัญญาใดมีข้อความให้คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระเกินฐานเงินต้นที่ผิดนัดชำระแล้ว จะถือเป็นโมฆะทันทีตามมาตรา 5 (มาตรา 224/1 วรรคสอง)
“ถ้าลูกหนี้มีหน้าที่ผ่อนชำระหนี้เงินเป็นงวด และลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น”
“ข้อตกลงใดขัดกับความในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”
อีกข้อหนึ่ง ใน พ.ร.ก.นี้คือ ลดดอกเบี้ยผิดนัดจากเดิมร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 5
ในกรณีที่มีเหตุจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กัน และมิได้มีบทกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยชัดเจน ให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี จากเดิมร้อยละ 7.5 ต่อปี
การแก้ไขวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัด และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดนี้ เป็นการผลักดันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และหนี้สินที่ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนมานาน เดิมเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 9 มีนาคม ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่การออกเป็น พระราชบัญญัติใช้เวลานาน เพราะต้องเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุม ครม. ครั้งต่อมา จึงเปลี่ยนแปลงเป็นการออกพระราชกำหนดแทน เพราะมีผลบังคับใช้ทันที
กฎหมาย 2 ฉบับ โดยเฉพาะการแก้ไขวิธีคิดดอกเบี้ยผิดนัด ไม่ให้เจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้ต่อไป เป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอก 3 ก่อนวันสงกรานต์