ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยคลิปความสำเร็จสูงสุดของการอนุรักษ์ปะการัง เกาะยูง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ฟื้นตัวดี แตกต่างชัดเจนกับเมื่อปี 2558 จนถึง 2564 ประทับใจพบปะการังเพิ่มใหม่ท่วมทะเล สุดลูกหูลูกตา
วันนี้ (28 มี.ค.) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ว่า “วันอาทิตย์ ผมจะใช้ 1 ภาพ 1 คลิป เล่าความสำเร็จสูงสุดของการอนุรักษ์ปะการังไทยให้เพื่อนธรณ์ฟัง ตำนานที่เกาะยูง ความสำเร็จสูงสุด วัดกันตรงไหน สำหรับผม วัดที่ผลลัพธ์ ทอดตาไปทั่วทะเลไทย ไม่มีสถานที่แห่งไหนที่เราออกมาตรการแล้วมีปะการังเพิ่มขึ้นถึงเพียงนี้
ทุกเรื่องราวมีที่มา
จึงขอพาเพื่อนธรณ์ย้อนเวลาไปสู่ปี 2558 ภาพแห่งความยับเยินที่เห็น ผมถ่ายภาพนั้นเอง หลังจากว่ายวนอยู่แนวปะการังด้านตะวันออกของเกาะยูงนานค่อนชั่วโมง ว่ายเพื่อหาปะการังที่เคยมีอยู่ ปะการังน้ำตื้นแสนงดงามที่จำได้ ผมเคยมาเกาะยูงก่อนหน้านั้นหลายหน แค่เว้นไป 7-8 ปี ปะการังหายไปไหนหมด คำตอบคือเรือท่องเที่ยวที่โยนสมออยู่ใกล้ๆ คือ ขนมปังที่ลอยในน้ำ เรียกปลาบางชนิดมากิน แต่เจ้าบางชนิดนั่นแหละไล่ปลาอื่นไปหมด พีพีโมเดล เริ่มต้นในวันนั้น วันที่ผมน้ำตาซึมใต้น้ำ ตั้งคำถามกับตัวเองว่ามาเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเพื่ออะไร ปี 2559 หัวหน้าอ้อมกับผมเสนอกรมอุทยานปิดเกาะยูง
เปลี่ยนเป็นเขตสงวนแนวปะการังแห่งแรกของพีพี ของกระบี่ และของกรมอุทยานยุคใหม่ ผู้บริหารทุกท่านเห็นด้วย เราปิดเกาะยูง ท่านอดีต รมต.พลเอก สุรศักดิ์ เคยมาที่นี่ ท่านอธิบดีธัญญา ก็เคยดำน้ำกับผม 2 หนเป็นอย่างน้อย ผมเอ่ยชื่อทุกท่าน เพราะพวกท่านล้วนเป็นจิ๊กซอสำคัญ ทำให้เกิดวันนี้ได้วันนี้คือวันไหน เพื่อนธรณ์ลองชมภาพต่อไป คลิปที่ทีมสำรวจอุทยานพีพีและศูนย์ปฏิบัติการ ตรัง เพิ่งถ่ายมาเมื่อ 3 วันก่อน
ผมเห็นปะการังเรียงรายเป็นดง เห็นปลาสลิดหิน ปลาผีเสื้อแปดขีด ฯลฯ ผมน้ำตาไหล รู้แล้วว่า การตัดสินใจในวันหนึ่ง ส่งผลถึงอีกวันหนึ่ง มันมีความหมายเช่นไร บอกไม่ได้ อธิบายเป็นคำพูดก็คงไม่เข้าใจ
น้ำตาไหลนั่นแหละคือคำตอบ ย้อนกลับมาสู่คำถาม ความสำเร็จสูงสุด ผมลองใช้เทคนิควิเคราะห์แนวปะการังน้ำตื้นจากดาวเทียมที่เคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังหลายหน ผมพบว่าพื้นที่เหมาะสมสำหรับดงปะการังเกาะยูง มีอย่างน้อย 14,000 ตารางเมตร
ตอนนี้ขยายไปได้ค่อนหนึ่ง และด้วยเรตนี้ อีกไม่เกิน 3-4 ปี เราจะเห็นปะการังแบบในคลิปเต็มพื้นที่ และอาจมากกว่านั้น ไม่มีสถานที่ไหนในทะเลไทย ที่ออกมาตรการครั้งเดียว ได้ปะการังเพิ่มมากมายขนาดนี้
หากให้ประเมินเป็นมูลค่า ในอัตราเดียวกับการฟื้นฟูปะการังที่เสียหาย บอกได้ว่าหลายร้อยล้าน แต่ไม่บอกเป๊ะๆ เพราะผมไม่คิดจะตีราคาแนวปะการังเกาะยูง ปะการังท่วมทะเล สุดลูกหูลูกตา เหมือนที่เคยเห็นมาสมัยเด็กๆ ปะการังแบบนั้นควรมีมูลค่าแค่ไหน หัวหน้าประยูร อุทยานพีพี บอกชัดเจนว่าจะติดตามแนวปะการังเกาะยูงไปเรื่อยๆ และบอกชัดยิ่งกว่าชัดว่า ไม่อนุญาตให้เข้าไปท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด ฝ่าฝืนมีโทษหนัก เพราะมาตรการที่เกาะยูง ไม่ใช่มาตรการปิดเพื่อฟื้นฟูเหมือนอ่าวมาหยาแต่เป็น “เขตสงวน” เก็บทะเลไว้ให้ปลา เก็บสมบัติไว้ให้ลูกหลาน ผมยังเชื่อว่า มีสถานที่บางแห่ง เราไม่จำเป็นต้องไปเห็นด้วยสายตา แค่รับรู้ว่ามีอยู่
ในทะเลกระบี่ มีเกาะแห่งหนึ่งที่ปะการังกำลังงอก ปลาน้อยกำลังว่ายไปมา เริงร่าฮ้าไฮ้ เป็นทะเลที่ไม่มีคน มีแต่ปะการัง มีแต่ปลา เราแย่งชิงจากธรรมชาติมามากแล้ว เราเหลือที่เล็กๆ ไว้ให้เธอบ้าง จะได้ไหมสถานที่ซึ่งเราไม่ต้องไป แต่มีความสุขมากมายเมื่อรับรู้ว่ามีเธออยู่ เก็บเกาะยูงให้เป็นตำนานแห่งทะเลไทย เกาะของปะการัง เกาะของปลา เกาะที่ประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์มากที่สุดในยุคปัจจุบัน ขอบคุณ-คลิปจากอุทยานพีพี และทุกท่านที่ร่วมกันมาจนมีวันนี้ โดยเฉพาะพี่น้องผู้ประกอบการพีพีที่กรุณาสนับสนุน”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ