xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยงหอยแครงบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ” เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนนำเข้า ไร้กังวลเรื่องอากาศแปรปรวน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อพูดถึงอาหารทะเล “หอยแครง” ก็คงจะเป็นเมนูอันดับต้นๆ ที่หลายๆ คนนึกถึง และหลายคนคงจะมีความเข้าใจว่า หอยแครงที่กินอยู่เป็นหอยที่เกิดขึ้นในธรรมชาติของประเทศไทย แต่ในความเป็นจริงหอยแครงที่มีขายตามท้องตลาดในประเทศไทยนั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย 

แต่เป็นหอยแครงที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ในช่วงที่ยังเป็นลูกหอยและมาเพาะเลี้ยงและมาเพราะเลี้ยงในประเทศไทย ทำให้การทำอาชีพเลี้ยงหอยแครงต้องมีต้นทุนสูง อีกทั้งปัจจุบันสภาพอากาศที่แปรปรวนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงทำให้ปริมาณหอยแครงที่นำมาเพาะเลี้ยงมีจำนวนลดลง บางช่วงเวลาทำให้เกิดการขาดตลาดและมีราคาสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงได้มีการคิดหาวิธีการเพาะเลี้ยงหอยแครงให้ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด และได้ผลผลิตมากที่สุด

ดร.สุพรรณี ลีโทชวลิต และ บรรยากาศบ่่อเลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ
ดร.สุพรรณี ลีโทชวลิต หัวหน้าฝ่ายสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ปัจจุบันหอยแครงสายพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาตินั้นลดน้อยลงมาก เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้หอยแครงตามธรรมชาติขยายพันธุ์ได้ช้า อีกทั้งความต้องการของตลาดในการบริโภคหอยแครงยังสูง จึงทำให้ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยต้องรับลูกพันธุ์มาจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย พม่า ในราคาประมาณกระสอบละ 30,000 บาท โดยหนึ่งกระสอบมี 10 กิโลกรัม ทำให้ราคาหอยแครงตามท้องตลาดมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าลูกพันธุ์จากต่างประเทศ

บรรยากาศพื้นที่เลี้ยงหอยแครงแบบธรรมชาติ ที่บ้านคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม
“ในความเป็นจริงหอยแครงพันธุ์ไทยตามธรรมชาตินั้นยังมีอยู่ แต่ก็มีน้อยมากๆ และอยู่ในเขตอุทยาน ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปเก็บได้ และบ้านเราก็ยังไม่มีการพัฒนาการเพาะเลี้ยงลูกพันธุ์หอยแครงเพื่อจำหน่าย จึงทำให้ชาวบ้านต้องไปรับจากต่างประเทศ ซึ่งหอยแครงที่ได้มานั้นก็มีความเสี่ยงในเรื่องการนำมาเพาะเลี้ยงต่อ เนื่องจากสภาพน้ำและดินนั้นแตกต่างกัน อีกทั้งสภาพแวดล้อมบ้านเรายังเปลี่ยนไปมากไม่เอื้อต่อการเพาะเลี้ยง ทำให้ผู้ที่ทำอาชีพเลี้ยงหอยแครงมีต้นทุนที่สูง และมีความเสียงในเรื่องขาดทุนเป็นอย่างมาก"ดร.สุพรรณี กล่าวอธิบาย



ด้วยการอยากช่วยลดต้นทุนของผู้ทำอาชีพเลี้ยงหอยแครง จึงได้ร่วมมือกับ ชาวบ้านคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการเลี้ยงหอยแครงจำหน่ายในประเทศไทย คิดค้นวิธีการ “เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ” เนื่องจากวิธีนี้ สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพอากาศแบบเลี้ยงในธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตหอยแครงในปริมาณที่มาก ช่วยเพิ่มกำไรและลดต้นให้กับผู้ทำอาชีพเลี้ยงหอยแครง


การเลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ เป็นการเลี้ยงในบ่อกุ้งเดิมในเขตพื้นที่คลองโคน ที่มีมาอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยทำการปรับสภาพดินและน้ำให้เหมาะกับการเลี้ยง ซึ่งวิธีการนั้นในแต่ละเดือนจะปล่อยน้ำเข้า - ออก 2 ครั้ง เพื่อปรับคุณภาพของน้ำภายในบ่อให้มีความสมดุล โดยการปล่อยน้ำเข้า-ออกบ่อนั้นจะอาศัยช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นและลง เลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ โดยมีระยะในการเลี้ยงประมาณ 8 เดือน - 1 ปี จึงสามารถจับขายได้ และวิธีนี้หรือสามารถขายพันธุ์เพื่อจำหน่ายลูกหอย เหมือนกับการเลี้ยงตามธรรมชาติ ซึ่งราคาหอยแครงในท้องตลาดปัจจุบัน มีราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 160 - 190 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาที่ค่อนข้างสูงสำหรับผู้บริโภค


การเลี้ยงหอยแครงในบ่อปิดกึ่งธรรมชาติ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดต้นทุนในการนำเข้าลูกหอยแครงจากต่างประเทศ และลดความเสี่ยงเรื่องปัจจัยทางธรรมชาติต่างๆ ช่วยทำให้ปริมาณการรอดของหอยแครงมากขึ้น และช่วยทำให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หากวิธีนี้ประสบผลสำเร็จแล้ว ในอนาคตราคาหอยแครงกาจจะลดลงกว่านี้ ทำให้ผู้ที่บริโภคสามารถกินหอยแครงในราคาที่ย่อมเยา และช่วยให้ผู้ที่มีงบน้อยเข้าถึงได้ง่ายขึ้นอีกด้วย


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *

SMEs manager


กำลังโหลดความคิดเห็น