หัวเว่ย ลงนามความร่วมมือกับอีอีซี เปิด Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของไทยในพื้นที่อีอีซี นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G เน้นพัฒนาคน เรียนรู้ทักษะดิจิทัล ดันไทยสู่ศูนย์กลางดิจิทัลแห่งภูมิภาค ตั้งเป้าถึงปี 2567 ผลิตบุคลากรดิจิทัลเพิ่มขึ้นถึง 30,000 คน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่อง "การสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ (Talent ecosystem) รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G" ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายหยาง ซิน (Mr.Yang Xin) อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายอาเบล เติ้ง (Mr. Abel Deng) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมงาน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและคนทั่วโลก แต่ไทยก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขและความร่วมมือระหว่างพันธมิตรทุกภาคส่วน โดยคาดการณ์ในปีนี้เศรษฐกิจจะกลับมามีอัตราการเติบโต 4%
ความร่วมมือและการเปิดตัวของ Huawei ASEAN Academy แห่งประเทศไทย สาขาอีอีซี ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรีในครั้งนี้จะยิ่งเสริมให้ไทยเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G และเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรกของภูมิภาคอาเซียนที่นำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการศึกษาด้านไอซีที และช่วยให้บุคลากรดิจิทัลของไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทั้ง Reskill, Upskill และ New Skill เพื่อให้มั่นใจว่า ไทยสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล (Digital Hub) ของภูมิภาคอาเซียน ภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
Huawei ASEAN Academy ในพื้นที่อีอีซีจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และถือเป็นหนึ่งในต้นแบบสำคัญในการสร้างความร่วมมือ 3 แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ภายใต้กรอบความร่วมมือที่สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) ภายใน Huawei ASEAN Academy จะมีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของไทย 2.สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำ 5G ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3.การฝึกอบรมเสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี และ 4.สร้างการรับรองมาตรฐาน (Certification) เอื้ออำนวยความสะดวกให้ตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายมากที่สุด
ด้าน นายคณิศ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สกพอ. และหัวเว่ย ในการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัลในครั้งนี้ จะนำการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลมาสู่ทุกอุตสาหกรรม เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ให้มุ่งสู่โลกดิจิทัลอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หัวเว่ยเป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี 5G ในขณะที่อีอีซีก็พัฒนาไปสู่การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระดับแถวหน้าของอาเซียน เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง การให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอย่าง 5G และการทำให้กระบวนการทำงานเป็นดิจิทัล (Digitization) จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ต้องยกระดับคุณภาพชีวิต ผู้คน และศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของธุรกิจต่างๆ การได้หัวเว่ยเป็นพันธมิตรสำคัญจะช่วยสร้างรากฐานแพลตฟอร์มความรู้ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอีอีซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สกพอ. ได้มอบหมายให้คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ร่วมกับหัวเว่ย ดำเนินการฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่นักศึกษาและเจ้าหน้าที่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2564 ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมบุคลากรด้านดิจิทัล จำนวน 6,000 คน และตั้งเป้าว่าจนถึงปี 2567 จะเพิ่มขึ้นถึง 30,000 คน”
ด้าน นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า หัวเว่ยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทย มุ่งมั่นทุ่มเทที่จะส่งเสริมไทยให้เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ การเปิดตัวของ Huawei ASEAN Academy ในประเทศไทย สาขาอีอีซี เป็นเครื่องยืนยันถึงการบ่มเพาะบุคลากรมากความสามารถได้อีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในสาขาการจัดการการสื่อสารและสาขาเชิงเทคนิค ช่วยให้ไทยเป็นศูนย์รวมข้อมูลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างต้นแบบใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้
ขณะที่ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ยมีความตั้งใจที่จะสร้างรากฐานความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชนไทย โดยทำงานร่วมกับอีอีซี และ มหาวิทยาลัยบูรพา ตลอดจนพันธมิตรทุกภาคส่วน หัวเว่ยพร้อมเดินหน้าทำงานภายใต้พันธกิจ Grow in Thailand, Contribute to Thailand ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยี พาร์ตเนอร์ด้าน ICT ที่ได้รับความไว้วางใจ และผู้ขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล หัวเว่ยจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกบ้าน และทุกองค์กร เพื่อสร้างประเทศไทยอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างเต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำลายรูปแบบสังคมแบบเก่าๆ และทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในอุตสาหกรรมมีความสำคัญมากขึ้นและรวดเร็วกว่าเดิม จากข้อมูลวิจัยของ Oxford Economics ระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกเติบโตมากขึ้นถึงราว 23 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในราวปี 2025
การผสมผสานเทคโนโลยี 5G, IoT และคลาวด์เข้าด้วยกัน จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่งเพื่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนถึง 30% ของ GDP ของประเทศในราวปี 2030 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ยังต้องมีบุคลากรด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งด้วย หัวเว่ยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัล (Digital Hub) แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอีอีซีเป็นโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลจำนวนมาก
ในปี 2018 หัวเว่ยได้เปิดตัวดาต้า เซ็นเตอร์ ในอีอีซี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มคลาวด์สาธารณะแห่งแรกที่ให้บริการเต็มรูปแบบทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2019 หัวเว่ยได้ทำศูนย์ทดสอบ 5G หรือ 5G Testbed ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งถือเป็นการทดสอบ 5G ครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงโควิด-19 ทีมงานหัวเว่ยร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมติดตั้งสถานีฐาน 5G จำนวนมากในเขตอีอีซี ครอบคลุมพื้นที่อีอีซีกว่า 80% ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศ 5G ชั้นนำของอาเซียน รวมทั้งหัวเว่ยยังส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน 5G เพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลให้แก่โรงงาน 10,000 แห่ง และโรงแรม 300 แห่งโดยเชื่อว่ากุญแจหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านดิจิทัลต้องอาศัยบุคลากรที่ได้รับการอัปสกิลจึงเป็นที่มาของ MOU เรื่องการพัฒนากำลังคนในครั้งนี้
“การลงนาม MOU ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G ในอีอีซี โดยประเทศไทยได้เปิด Huawei ASEAN Academy ต่อจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่ของไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการคู่ไปกับการเพิ่มทักษะ 5G ในอีอีซี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในอนาคตจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ โดยใช้ Huawei ASEAN Academy เป็นต้นแบบ”