จากการลงทุนโครงข่าย 5G ของ 2 โอเปอเรเตอร์หลักในเมืองไทย รวมถึงการที่องค์กรธุรกิจต่างปรับตัวสู่การทำ ‘ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชัน’ ได้อย่างรวดเร็วในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะโครงข่าย 5G พร้อมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในมุมของ ‘หัวเว่ย’ (Huawei) ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทย จากการเข้ามาทำธุรกิจต่อเนื่องกว่า 22 ปี ประกอบกับความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน จึงทำให้ ‘ประเทศไทย’ กลายเป็นเป้าหมายหลักในการลงทุนของหัวเว่ยในภูมิภาคนี้ ภายใต้ความมุ่งมั่นใจการร่วมผลักดันประเทศไทยสู่ดิจิทัลกับทุกภาคส่วน
อาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจในประเทศไทยของหัวเว่ย คือ มุ่งมั่นที่จะสร้างการเชื่อมต่อ และนำเทคโนโลยีดิจิทัลให้ประชาชนไทย รวมถึงทุกองค์กรธุรกิจได้ใช้งาน เพื่อสร้างการเติบโตในเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการนำทุกเทคโนโลยีที่หัวเว่ยมีเข้ามาสนับสนุน
‘ทุกคนทราบดีว่าเทคโนโลยีอย่าง 5G AI IoT จะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจเติบโตขึ้นในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า หัวเว่ย ในฐานะองค์กรที่มีความพร้อมทุกเทคโนโลยี จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตในประเทศไทยในทุกๆ ธุรกิจ พร้อมส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจในไทยนำเทคโนโลยีไปใช้งาน’
โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ที่ทุกประเทศเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในแง่ของการลงทุนทางด้านดิจิทัล จากเดิมที่หลายๆ องค์กรธุรกิจเริ่มเตรียมการไว้ลงทุนในอนาคต ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อเร่งลงทุนให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
‘จะเห็นได้ว่าจากเดิมที่คาดการณ์ว่าต้องใช้เวลา 5-7 ปี ในการที่องค์กรจะเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แต่กลายเป็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาอันสั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของทั้งประชาชน และองค์กรธุรกิจในไทยที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วย’
เมื่อเห็นถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้หัวเว่ย ตัดสินใจที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้พันธกิจสำคัญคือการสร้างการเติบโตทางดิจิทัลให้ประเทศไทย พร้อมๆ ไปกับการเสริมสร้างให้คนไทยทุกคนเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งจะกลายเป็นภารกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ทุกภาคส่วนในประเทศไทย
ในขณะเดียวกัน ‘อาเบล’ ยังมองว่า การที่เกิดสถานการณ์ดังกล่าวจะกลายเป็นบทพิสูจน์สำคัญของการทำธุรกิจ เพราะชาวจีนจะมองว่า เมื่อเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นมา จะมีทั้งความท้าทายในการเผชิญปัญหาเหล่านั้น พร้อมไปกับโอกาสที่จะก้าวผ่านวิกฤต และทำให้ธุรกิจมีความแข็งแรงรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
***หนุนไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ปีที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด ‘หัวเว่ย’ ได้เข้าไปสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ในการนำเทคโนโลยีไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต จนถึงการเข้าไปร่วมมือกับโรงพยาบาลทั้งรามาธิบดี ศิริราช ในการนำคลาวด์ และ AI ไปใช้ในการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 เบื้องต้น จนถึงการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง Unmaned Vehicle หรือรถควบคุมระยะไกล หุ่นยนต์สื่อสารต่างๆ เข้าไปใช้งานในโรงพยาบาล เพื่อให้คนไข้สามารถสื่อสารกับแพทย์ได้
ขณะเดียวกัน เมื่อการลงทุนโครงข่าย 5G ของทั้ง AIS และ TrueMove H ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำ 5G ในภูมิภาค ทางหัวเว่ยก็ได้เข้าไปร่วมสนับสนุนในการพัฒนา 5G ด้วยการทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในการสร้างศูนย์พัฒนา 5G แห่งแรกในอาเซียน (5G Ecosystem Innovation Center : EIC) ในประเทศไทย
‘เป้าหมายของ EIC คือการผลักดันให้ผู้ประกอบการ และนักพัฒนาไทยสามารถเข้าถึงการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้การเชื่อมต่อ 5G ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต’
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังพร้อมที่จะลงทุน และร่วมพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากร และคนไทยทุกคน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นดิจิทัลฮับ (Digital Hub) ในภูมิภาคนี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงการที่หัวเว่ยจะมุ่งมั่นลงทุนระยะยาวในประเทศไทย โดยทางหัวเว่ย จะเข้าไปร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในการส่งเสริมอีโคซิสเต็มในการสร้างบุคลากร และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีภายใน EEC พร้อมกับเปิดตัว Huawei ASEAN Academy (Thailand) EEC โดยเฉพาะ
สำหรับสถานการณ์ของ 5G ในประเทศไทย ‘อาเบล’ มองว่าภายในสิ้นปีนี้มีโอกาสที่สัดส่วนผู้ใช้งานเครือข่าย 5G จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10% จาก 2-3% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีฐาน 5G แล้วมากกว่า 10,000 สถานี ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานภาครัฐมีแผนในการนำ 5G มาใช้อย่างชัดเจน รวมถึงการที่มีคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ยิ่งทำให้การขับเคลื่อน 5G ทั้งระบบเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วย
***ทำงานใกล้ชิดคนไทยมากขึ้น
นอกเหนือจากการลงทุน และเข้าไปส่งเสริมการเข้าถึงดิจิทัลให้แก่คนไทยแล้ว ‘หัวเว่ย’ ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ที่เป็นผู้บริหารคนไทยคนแรกของหัวเว่ย มาเพื่อดูแลการขยายธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะ
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวถึงการที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยว่า เกิดจากการที่เล็งเห็นว่า หัวเว่ย มีความมุ่งมั่นกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการที่หัวเว่ยมองไทยเป็นประเทศหลักสำหรับการลงทุน ในขณะเดียวกัน ก็มองว่าด้วยเทคโนโลยีที่หัวเว่ยมีจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศได้
‘เทคโนโลยีของหัวเว่ยแทบจะเป็นบริษัทเดียวถ้าไม่อยู่ในเบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม ก็จะอยู่ในกลุ่มผู้นำ จึงมองเห็นถึงความท้าทายที่จะสามารถเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีที่มีเข้ามาผสมผสานไปกับความต้องการของลูกค้าในไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลในไทย’
จุดที่ ‘ดร.ชวพล’ เห็นโอกาสสำคัญคือ ถ้าสามารถนำความแข็งแกร่งทางเทคโนโลยีของหัวเว่ย เข้ามาผนวกกับความเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก จะช่วยตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยในการเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงบุคคล ครอบครัว องค์กรธุรกิจ ไปจนถึงระดับชาติได้
นอกจากนี้ ด้วยประสบการณ์ในการทำงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และไอทีกว่า 27 ปี รวมถึงการเข้าไปบริหารองค์กรธุรกิจระดับโลกที่มาตั้งสำนักงานในไทยอย่าง อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ยิ่งทำให้เข้าใจในอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยที่ต้องการนำดิจิทัลเข้าไปทรานฟอร์มธุรกิจ
‘โควิด-19 ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ทุกธุรกิจเข้าใจแล้วว่าสถานการณ์นี้จะไม่ได้เกิดผลกระทบในระยะสั้น แต่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมตลอดไป มุมมองของหัวเว่ย จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของลูกค้าที่จะตัดสินใจลงทุนดิจิทัลได้เร็วขึ้น’
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้แล้วว่าการตัดสินใจบางอย่างต้องเกิดขึ้นก่อนที่จะถูกบังคับให้ตัดสินใจ เหมือนกับการที่หลายองค์กรธุรกิจสามารถเติบโตในช่วงโควิด-19 ได้ เพราะมีการตัดสินใจลงทุนดิจิทัลไปก่อนหน้านี้ ทำให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ไม่ใช่ว่าการลงทุนดิจิทัลในเวลานี้จะช้าเกินไป
‘ความต้องการของลูกค้าธุรกิจในปัจจุบันไม่ได้มองถึงความช่วยเหลือเฉพาะทางใดทางหนึ่ง แต่มองถึงการเข้าไปช่วยเหลือทางด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ สอดคล้องกับพันธกิจของหัวเว่ยที่มีโซลูชันในการให้บริการครบถ้วนและสามารถนำกลับไปตอบโจทย์การทำงานของลูกค้าได้ จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด’
ปัจจุบันในฝั่งของหัวเว่ย เทคโนโลยี่ มีพนักงานในไทยกว่า 3,700 คน และกว่า 88% เป็นคนไทย ได้ให้บริการโซลูชันที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำใน 4 ส่วนธุรกิจหลัก ประกอบไปด้วย 1.การให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม ด้วยการเข้าไปร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ในการขยายโครงข่ายภายในประเทศไทย 2.ธุรกิจไอทีที่ทำงานร่วมกับพันธมิตรในการขยายขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้แก่องค์กรธุรกิจ 3.ธุรกิจ IoT ในการนำสมาร์ทดีไวซ์ต่างๆ เข้าไปเชื่อมโยงกับโครงข่าย และโซลูชันต่างๆ ในการเก็บข้อมูล เพื่อนำไปใช้งานร่วมกับธุรกิจและ 4.ในการให้บริการคลาวด์ พร้อมกับ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูล
‘เมื่อดูจาก 4 กลุ่มธุรกิจนี้แล้วจะพบว่าการให้บริการทางด้านไอซีทีของหัวเว่ยนั้นครอบคลุมในการเชื่อมโยงดิจิทัลให้ประชาชนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้’